xs
xsm
sm
md
lg

ความขัดแย้งระหว่าง ‘เชเชน’ กับ ‘เครมลิน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความขัดแย้งอันเก่าแก่ระหว่างคนเชเชนกับคนรัสเซีย เป็นผลพวงจากหลายสาเหตุ โดยมีต้นตอสำคัญสองประการคือ

ประการแรก ชาวเชเชนในเชชเนียเรียกร้องขอสิ่งที่รัสเซียทำใจยอมให้ไม่ได้ นั่นคือการร้องขอเอกราช ด้วยความที่เชชเนียเป็นดินแดนที่ต่อเนื่องกับแผ่นดินแกนกลางรัสเซีย ความรู้สึกของคนมอสโกต่อแผ่นดินเชชเนียจึงมีความเป็นเจ้าของอย่างรุนแรง และทำให้รัสเซียมองคนเชเชนเป็นดั่งกบฏแยกดินแดน

กระแสต่อสู้เพื่อเอกราชในหมู่คนเชเชนพุ่งสูงในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดินิยมโซเวียต (อันเป็นแหล่งที่มาของอำนาจบริหารประเทศระดับสูงสุดที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเสวยต่อเนื่องจากอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน) สหพันธ์สาธารณรัฐรัสเซียจัดการกับปัญหาเชชเนียด้วยนโยบายไร้ความยืดหยุ่นใดๆ ทั้งสิ้น ในนโยบายนี้ รัสเซียกำหนดให้อำนาจปกครองตัวเองเพียงบางส่วนแก่เชชเนีย หาไม่แล้วก็จะยึดครองเชชเนียอย่างเต็มรูปแบบด้วยกำลังทหาร ในขณะเดียวกันชาวเชเชนต้องการเอกราชสมบูรณ์เฉกเช่นรัฐประเทศอื่น อาทิ ยูเครนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสหภาพโซเวียต

ประการที่สอง เชชเนียตกอยู่ภายใต้การบีฑาของกองกำลังทหารรัสเซียที่ใช้อาวุธหนักโจมตีเนิ่นนานกว่าสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรอบทศวรรษ1990 รัสเซียส่งทหารเข้ากำหราบเชชเนียอย่างน้อยสามครั้ง

นับจากปลายปี1999 มาจนปัจจุบัน ปฏิบัติการที่ทหารรัสเซียฟาดฟันคนเชเชนในเชชเนียเป็นไปอย่างโหดร้ายทารุณ มิใยที่สภาแห่งยุโรปจะเรียกร้องให้ใช้นโยบายที่มีมนุษยธรรมบ้าง แรงกดดันจากการถูกบีฑาทำให้กลุ่มเชเชนฝ่ายนิยมความรุนแรงเฟื่องฟูขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ปฏิบัติการก่อการร้ายของเชเชนสร้างความโกรธแค้นและหวั่นกลัวในหมู่คนรัสเซียรุนแรงเช่นกัน แต่นั่นมิได้ทำให้รัฐบาลรัสเซียดำเนินการแก้ปัญหาที่ต้นตอ และยังยืนหยัดนโยบายยึดครองเชชเนียอย่างเคร่งครัด

ฐานข้อมูลของหนังสือพิมพ์การ์เดียนแห่งอังกฤษ เล่าปูมความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างผู้ยึดครองกับผู้ถูกยึดครองคู่อื้อฉาวแห่งภูมิภาคเทือกเขาคอเคซัสตอนเหนือว่า สามารถสืบสาวขึ้นไปได้เก่าแก่หลายร้อยปี โดยที่ว่าในศตวรรษที่ 19 เชชเนียตกเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลคอมมิวนิสต์รัสเซียใช้ความรุนแรงกำราบชาวเชเชนที่ใช้โอกาสสมัยที่รัสเซียติดพันทำศึกกับเยอรมนี ลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช ในยุคนั้นชาวเชเชนจำนวนมหาศาลถูกเนรเทศโยกย้ายไปผจญความลำเค็ญในเขตไซบีเรีย เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนเชเชนเสียชีวิตมากมาย และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดสามารถเล็ดรอดกลับบ้านคืนเมืองสำเร็จ

ในต้นทศวรรษ 1990 เมื่อนโยบายกลาสนอฟของอดีตประธานาธิบดี มิคาอิล กอร์บาชอฟเฟื่องฟูขึ้นมา สังคมรัสเซียเข้าสู่สถานการณ์เปิดกว้าง และนำไปสู่ความวุ่นวายและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในครั้งนั้น อดีตประธานาธิบดีเยลต์ซินประสบความสำเร็จก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐรัสเซีย ขณะที่หลายรัฐที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียตได้เป็นอิสระออกไป อาทิ ยูเครน, เบลารุส, คาซัคสถาน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเชชเนียซึ่งเป็นรัฐชายแดนขนาดเล็กของรัสเซีย ณ ด้านที่ติดเทือกเขาคอเคซัสตอนเหนือ ไม่ได้รับไฟเขียวให้เป็นเอกราช

ในช่วงแรกของยุคสหพันธ์สาธารณรัฐรัสเซีย ท่าทีของรัสเซียยังไม่รุนแรง แต่ใช้วิธีหนุนเชเชนฝ่ายสวามิภักดิ์รัสเซียให้ได้ครองอำนาจบริหารสูงสุด อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 1991 เชเชนฝ่ายเรียกร้องเอกราชสมบูรณ์แบบเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง รัสเซียคัดค้านอย่างโจ่งแจ้ง และเนื่องจากภายในเชชเนียมีความวุ่นวายจากความขัดแย้งภายใน ดังนั้นเดือนต่อมา รัสเซียประกาศภาวะฉุกเฉินในเชชเนีย พร้อมกับส่งกองกำลังเข้าไป

เนื่องจากชาวเชเชนต่อสู้อย่างเต็มที่ และรัฐสภาของรัสเซียก็ไม่หนุนนโยบายนี้ของเยลต์ซิน กองกำลังรัสเซียจึงต้องถอนตัวไปจากการโจมตีเชชเนีย

เดือนมีนาคม 1992 ประธานาธิบดีดูดาเยฟของเชชเนียไม่ยอมลงนามสนธิสัญญารับอำนาจปกครองตัวเองเพียงบางส่วน ซึ่งเท่ากับยอมรับฐานะความเป็นรัฐในปกครองของสาธารณรัฐรัสเซีย ความสัมพันธ์ของสองฝ่ายนี้จึงร้าวฉานและระอุตลอดเวลา

ในปี1994 เกิดสงครามกลางเมืองในเชชเนีย ระหว่างฝ่ายประธานาธิบดีดูดาเยฟ กับฝ่ายที่รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย ในเดือนธันวาคม รัสเซียจึงตัดสินใจใช้กองกำลังเข้ายึดเชชเนียอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการระดมถล่มกรุงกรอซนืยอย่างยับเยินและการสังหารคนเชเชนหลายหมื่นรายภายใน 20 วันของปฏิบัติการ รัสเซียก็ได้เชชเนียไว้ในอำนาจ

รัสเซียอำนวยการตั้งรัฐบาลเพื่อการฟื้นฟูชาติขึ้นเพื่อเป็นหุ่นเชิดในการยึดครองเชชเนีย แต่ความนิ่งครอบคลุมเชชเนียได้ไม่ตลอดปี พอตุลาคม 1995 กลุ่มเชเชนต่อต้านรัสเซียลุกฮือและทำสงครามแย่งชิงกรุงกรอซนืย

เหตุการณ์สู้รบยืดเยื้อตลอดปี 1996 จนรัสเซียเป็นฝ่ายริเริ่มถอนตัวออกจากความย่อยยับที่เป็นภาระทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลแห่งนี้

การเจรจาที่อำนวยการโดยนายพลอเล็กซานเดอร์ เลเบด ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของเยลต์ซิน สรุปได้ในสิงหาคม 1996 ว่าจะระงับการถกเถียงเอกราชของเชชเนียเป็นเวลาสามปี และรัสเซียเริ่มถอนทหารออกจากเชชเนียตั้งแต่เดือนมกราคม 1997

ในระหว่างนั้น รัสเซียมิได้ปล่อยให้เชชเนียสงบสันติ ขณะที่การโต้ตอบจากเชเชนฝ่ายต่อต้านรัสเซียก็ปรากฏเป็นระยะ

ด้วยความที่นายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน (ตำแหน่งขณะนั้น) เดินนโยบายกำราบความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านเชเชนด้วยความรุนแรงและเฉียบขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งทหารเข้าทำศึกและยึดครองเชชเนียตลอดตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี1999 มาจนถึงขณะนี้ ปูตินจึงได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนรัสเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่หนุนเนื่องปูตินขึ้นไปเถลิงอำนาจสูงสุดในตำแหน่งประธานาธิบดีของสหพันธ์สาธารณรัฐรัสเซีย

นับเนื่องมาถึงปัจจุบัน นโยบายปราบด้วยความเข้มงวดเฉียบขาดเป็นนโยบายหลักที่รัสเซียดำเนินการต่อเชชเนีย ในการนี้ถึงกับมีการกีดกันไม่ให้นักข่าวมีเสรีภาพที่จะรายงานเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ในเชชเนีย

รายงานข่าวที่ลักลอบทำออกมาได้ระบุถึงความเหี้ยมโหดทารุณที่ทหารรัสเซียกระทำต่อชาวเชเชน แม้แต่ลอร์ดแฟรงก์ จัดด์ ผู้แทนพิเศษแห่งสภาแห่งยุโรปก็เขียนบทความพาดพิงถึงสามปีแห่งความทารุณที่คนเชเชนได้รับ อาทิ การถูกสังหาร ข่มขืน ปล้นชิงทรัพย์ ตลอดจนการทำลายล้างบ้านเรือนประชาชนอย่างชนิดที่ใช้คำว่า เกินความเหมาะสมและขาดการไตร่ตรอง

ปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายเชเชน ขยายขอบเขตออกจากการต่อสู้ตอบโต้กับทหารรัสเซีย ไปสู่การอาละวาดเล่นงานประชาชนคนรัสเซียถึงในกรุงมอสโก และเมื่อขนาดความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายเชเชนมีแต่จะเติบใหญ่อย่างไม่หยุดยั้ง ยิ่งเมื่อปรากฏว่าวิธีปราบผู้ก่อการร้ายด้วยความรุนแรงของทางการรัสเซียกลับย้อนเข้าทำร้ายผู้คนรัสเซียเสียเอง ความเชื่อมั่นที่คนรัสเซียเทให้แก่ปูตินจึงสั่นคลอนหนักขึ้นเรื่อยๆ ภาพลักษณ์ที่เคยมองกันว่าปูตินเป็นเครื่องค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยก็เสียหาย


อดีตและปัจจุบันของเชชเนีย
การจับตัวประกันครั้งสำคัญของกบฏเชเชน

กำลังโหลดความคิดเห็น