เอเอฟพี-ผู้เชี่ยวชาญระบุ เรือประมงยักษ์รุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นของไต้หวัน กำลังเป็นภัยคุกคามที่อาจทำให้ปลาทูน่าซึ่งมีอยู่อย่างอุดมที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิก ถึงขั้นร่อยหรอสูญพันธุ์ได้ในอนาคตระยะยาว
เดิมพันในเรื่องนี้มีมูลค่าสูงทีเดียว ประมาณว่ามีการจับปลาทูน่าจากแปซิฟิกขึ้นมาปีละ 2 ล้านตัน ซึ่งมูลค่าน่าจะสูงถึงราว 2,000 ล้านดอลลาร์
ปลาเหล่านี้ส่วนใหญ่จับกันด้วยเรืออวนล้อม ซึ่งจะตีวนลากเอาฝูงปลาทูนาเป็นฝูงๆ เข้ามาอยู่ในอวน ทั้งนี้เรืออวนล้อมระดับ "ซุปเปอร์" รุ่นใหม่ จะออกปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีไฮเทคในการค้นหาฝูงปลา, อวนที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม, ส่วนตัวเรือก็บรรทุกปลาได้ยิ่งกว่าเก่า
ญี่ปุ่นให้ตัวเลขว่า เรือประมงยักษ์รุ่นใหม่เหล่านี้สามารถจับปลาทูน่าได้ถึงปีละ 11,000 ตัน สูงเป็น 2 เท่าตัวของเรือรุ่นเก่า พร้อมกันนั้นก็กล่าวหาว่าเรืออวนล้อมระดับซุปเปอร์ของไต้หวันลำหนึ่ง สามารถจับได้ถึง 20,000 ตันต่อปีทีเดียว
ในการประชุมสัมมนาที่บาหลี, อินโดนีเซียเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเตือนว่าเรือประมงรุ่นใหม่เหล่านี้อาจจะทำให้ทรัพยากรปลาทูน่าในแปซิฟิกถึงขึ้นเสียศูนย์ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ แทนที่จะมีปลาใหม่ๆ เติบโตขึ้นทันให้จับกันได้เหมือนก่อน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไต้หวันโต้แย้งว่าแดนอาทิตย์อุทัยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอ้าง เพราะแข่งขันสู้ตนไม่ได้มากกว่า
กระนั้นก็มีหลายประเทศเห็นด้วยว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นภัยคุกคาม เช่น สหรัฐฯแสดงความเป็นห่วงที่กำลังมีการต่อเรืออวนลากระดับซุปเปอร์เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่เกาหลีใต้เรียกร้องให้ระงับการต่อเรือประเภทนี้ ส่วนฟิจิไปไกลถึงขั้นเสนอให้สั่งห้ามเรือประเภทนี้กันเลย
การประชุมที่บาหลี เป็นหนึ่งในกระบวนการหารือเพื่อจัดตั้ง คณะกรรมการการประมงแปซิฟิกตะวันตกและแปซิฟิกกลาง โดยที่คณะกรรมการชุดนี้กำหนดจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันเสาร์นี้(19) และจะเป็นศูนย์เชื่อมโยงบรรดาชาติทำประมงที่อยู่ห่างไกลออกไปอย่างเช่น จีน, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้ กับประเทศทำประมงในแปซิฟิกที่ต่างเป็นหมู่เกาะเล็กๆ
ประเทศในแปซิฟิกเหล่านี้มอบหมายให้องค์การเวทีประชุมเรื่องการประมง (เอฟเอฟเอ) เป็นผู้วางกฎเกณฑ์ควบคุมการจับปลาทูน่าและปลาชนิดอื่นๆ ทั้งนี้เอฟเอฟเอกำหนดแล้วว่าเรือจับทูน่าจะต้องมีขนาดไม่เกิน 205 ตัน นอกจากนั้นยังประกาศจำกัดจำนวนวันที่เรือประมงจะสามารถหาปลาในน่านน้ำแปซิฟิกได้อีกด้วย