xs
xsm
sm
md
lg

เยียวยาแท็กซี่- จยย.รับจ้าง ที่มีอายุเกิน 65 ปี ใน 29 จังหวัด จ่ายสูงสุดคนละ 1 หมื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามที่มีการนำเสนอข่าวในสื่อต่างๆ ประเด็นเรื่อง เยียวยาแท็กซี่-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่มีอายุเกิน 65 ปี ใน 29 จังหวัด จ่ายสูงสุดคนละ 1 หมื่นบาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กลุ่มอาชีพดังกล่าว ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติจากการปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการเดินทางของภาครัฐ

ทั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ขับรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และมาตรา 40 ที่ประกอบอาชีพอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 29 จังหวัด รวม 16,694 คน แบ่งเป็น กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ 12,918 คน และ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,776 คน ระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท

สำหรับเงื่อนไขของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี และมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และบัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ โดยการจ่ายเงินเยียวยานั้น ในส่วนของ 13 จังหวัดตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 และฉบับที่ 28 ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 10,000 บาทต่อคน (คนละ 5,000 บาท จำนวน 2 เดือน)

ส่วนกลุ่มที่ประกอบอาชีพดังกล่าวใน 16 จังหวัดตามข้อกำหนดฉบับที่ 30 จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 5,000 บาท ต่อคน (คนละ 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน) วิธีการจ่ายเงินจะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน หรือตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.prd.go.th/th หรือโทร. 02-618-2323