xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอ SPCG โชว์วิสัยทัศน์เส้นทางสู่ความสำเร็จอาณาจักรโซลาร์ฟาร์ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซีอีโอ SPCG ขึ้นเวที “The Future Energy Show Thailand 2019” โชว์วิสัยทัศน์ผู้คิดค้น Business Model สร้างอาณาจักรโซลาร์ฟาร์มประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ด้าน IFC แนะประชาคมอาเซียนให้ความสำคัญการจัดเก็บพลังงานอย่างยั่งยืน

นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวอภิปรายในงาน The Future Energy Show Thailand 2019 ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้หัวข้ออภิปรายเรื่อง “Financing renewable energy in Thailand & Asia” ว่าเมื่อช่วงปี พ.ศ.2553 รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนได้เข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท ตนจึงได้คิดค้น Business Model ขึ้น โดยในช่วงเริ่มต้นของการบุกเบิกและการพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคยประสบปัญหาในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและสถาบันการเงิน เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน ทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลด้านความเสี่ยง จนกระทั่ง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นสถาบันการเงินที่ช่วยสนับสนุนทางด้านการเงินอัตราหนี้สินต่อทุนที่ 60:40 โดยเริ่มการลงทุนจากโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกที่โคราช คือ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (โคราช 1) จำกัด (KR1) เริ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งเข้าระบบจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้ใช้ระยะเวลาในประเมิน 6 เดือนก่อนเริ่มพัฒนาโครงการที่ 2 อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 เดือนแรก การผลิตไฟฟ้าดีกว่าเป้าหมายกว่า 30% ทำให้ธนาคารเห็นโอกาสที่จะช่วยบริษัทพัฒนาโครงการที่เหลือที่ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 24,000 ล้านบาท จนท้ายที่สุด บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก International Finance Corporation : IFC เป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก (World Bank Group) มาร่วมทุนในโครงการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มที่เหลือ และร่วมให้การสนับสนุนด้านการเงิน รวมทั้งนำเงินกู้ Climate Technology Fund มาร่วมให้กู้กับสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 6 แห่ง มีธนาคารกสิกรไทยเป็นคนช่วยจัดการ ทำให้สามารถพัฒนาโครงการต่อเนื่องได้ครบ 36 โครงการ จนประสบความสำเร็จในปี 2557

“การจัดหาเงินทุน หรือการให้การสนับสนุนด้านการเงิน เป็นส่วนสำคัญของการประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่รวมไปถึงธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท”

ด้าน นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน B.Grimm กล่าวว่า B.Grimm มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่เป็นธุรกิจพลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาดเสมอ โดยได้ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตที่ 5,000 เมกะวัตต์ ภายใน 2 ปีนับจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งตอนนี้ B.Grimm ได้ขยายการลงทุนไปสู่ประเทศใกล้เคียงที่รัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจพลังงานหมุนเวียน อย่างเช่น ประเทศเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งการจัดหาเงินทุนและนโยบายภาครัฐของแต่ละประเทศเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจเช่นกัน โดยเฉพาะการสนับสนุนเงินทุนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเขียว หรือธุรกิจด้าน ESG

Mr.Michael Boardman, Group CFO, Sindicatum Sustainable Resources กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายๆ สายการบินพูดถึงเรื่องคาร์บอนเครดิต แสดงให้เห็นว่าผู้คนให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศมากแค่ไหน แต่ปัจจุบัน ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) หรือตราสารหนี้ที่ออกเพื่อระดมทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คิดเป็นเพียง 1% ของตลาดโลกปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งในอนาคตยังต้องการระบบหรือกระบวนการบางอย่างที่จะเข้ามาช่วยเหลือในส่วนดังกล่าว

Mr.Sujay Shah, Managing Director - Investment Banking, Head - Cleantech Coverage, Standard Chartered Bank กล่าวว่า ธนาคารเองกำลังมองหาวิธีในการสนับสนุนด้านการเงินในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน ขนาดเฉลี่ยของโครงการที่เราเคยดูแลมีขนาดประมาณ 20-25 เมกะวัตต์ ซึ่งเรามองว่าความยากง่ายของการหาเงินทุนขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ อีกทั้งเศรษฐกิจต้องมีความโปร่งใส และให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการต่อต้านการทุจริต

Mr.Vikram Kumar, New Business Manager, Infrastructure & Natural Resources - Asia Pacific, International Finance Corporation - World Bank กล่าวว่า หากลองมองเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดว่ามีความท้าทายไม่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับทวีปอื่นๆ ในโลก ซึ่งที่ผ่านมา IFC ได้สนับสนุนไทย พม่า ลาว กัมพูชา และประเทศอื่นๆ ซึ่งมีพลังงานแสงอาทิตย์มากมายในประเทศเหล่านี้เช่นกัน โดยเรามองว่านโยบายจากรัฐบาลก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เราเผชิญ สิ่งหนึ่งที่ IFC อยากให้ความสำคัญในช่วง 5 ปีข้างหน้า คือ การจัดเก็บพลังงาน หรือ “Energy Storage” ในประชาคมอาเซียน

Mr.Jerome Ferreria, Senior Investment Specialist, Credit Guarantee and Investment Facility กล่าวว่า CGIF รับประกันความสำเร็จของงานก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) หากขั้นตอนการก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ CGIF จะคืนเงินให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมดที่เป็นเจ้าของ บริษัท โครงการ นักลงทุน จึงมั่นใจได้ว่าความเสี่ยงด้านการก่อสร้างนั้นได้รับการประเมินและครอบคลุมอย่างดี ซึ่ง CGIF มีความพร้อมเป็นอย่างมากในส่วนของการเป็นแหล่งเงินทุนใหม่




กำลังโหลดความคิดเห็น