xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์กำไร 9 เดือนโต 2.39% รายได้พิเศษช่วยหนุน-สินเชื่อยังแผ่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผลการดำเนินงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์ชะลอตัว ไตรมาส 3/62 กำไรสุทธิรวม 5.78 หมื่นล้านบาท ขยับเพียง 1.80% ขณะที่งวด 9 เดือนกำไรสุทธิ 1.70 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.39% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากกำไรพิเศษจากการขายทรัพย์สินของแบงก์ ขณะที่รายได้หลักจากการปล่อยสินเชื่อยังไม่กระเตื้อง

แม้ว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งจะทยอยออกมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อนจนครบถ้วนในช่วงสัปดาห์นี้ แต่เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมของทั้งระบบจึงได้รวบรวมผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่งพร้อมบทวิเคราะห์รายละเอียดมาให้พิจารณากันอย่างรอบด้านขึ้น

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารธนชาต (TBANK), ธนาคารทหารไทย (TMB), ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT), ธนาคารทิสโก้ (TISCO), ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG) ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 มีกำไรสุทธิจำนวนรวมทั้งสิ้น 57,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,024 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 56,878 ล้านบาท โดยธนาคาร 8 แห่งมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ได้แก่ BBL, SCB, KBANK, BAY, TBANK, CIMBT, TISCO และ KKP ธนาคารที่เหลืออีก 3 แห่ง ได้แก่ KTB, TMB และ LHFG มีผลกำไรที่ลดลง

ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งมีผลกำไรสุทธิ 170,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,973 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.39% โดยมีธนาคาร 6 แห่งมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ได้แก่ BBL, SCB, BAY, TBANK, CIMBT, TISCO และธนาคาร 5 แห่งมีกำไรสุทธิลดลง ได้แก่ KTB, KBANK, TMB, KKP และ LHFG

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งจากธุรกิจแบงก์แอสชัวรันซ์ ธุรกิจกองทุน ยกเว้นรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นหลังจากที่ธนาคารได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมในการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ขณะที่รายได้ที่มาจากดอกเบี้ยยังไม่ค่อยสดใสนักจากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยยังคงเติบโตได้ดี รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียงขาเดียวของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีธนาคารพาณิชย์ในบางแห่งที่มีผลกำไรเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้รายการพิเศษ อาทิ การขายกิจการต่างๆ และในทางกลับกันก็มีธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่มีผลกำไรลดลงในอัตราสูงเนื่องจากเทียบกับฐานที่สูงจากการรับรู้รายการพิเศษในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านค่าใช้จ่ายนั้น ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงมีค่าใช้จ่ายจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละธนาคาร ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานยังเป็นไปตามแนวทางการดำเนินธุรกิจของแต่ละธนาคารที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายทางการตลาดและค่าใช้จ่ายด้านไอทีที่แตกต่างกัน

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2562 จำนวน 9,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากไตรมาส 3 ปีก่อนที่มีกำไร 9,029 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 9.6% เป็นผลจากการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อย 1.7% ตามการลดลงของสินเชื่อ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจานวน 2,001,445 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.8 จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 จากการลดลงของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง และการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แจ้งผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 29,924 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1,502 ล้านบาท หรือ 4.78% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,051 ล้านบาท หรือ 5.54% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 2,753 ล้านบาท หรือ 6.20% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง และการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วน NPL อยู่ที่ระดับ 3.53% จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3.34%

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รายงานกำไรสุทธิของไตรมาส 3 ปี 2562 จำนวน 14,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 10,484 ล้านบาท และกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตจำนวน 11,644 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาสนี้ธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมอีก 9,100 ล้านบาทจากสำรองปกติที่จำนวน 6,173 ล้านบาท รวมเป็นเงินสำรองทั้งสิ้น 15,273 ล้านบาท สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 34,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 3.01% จาก 2.77% ณ เดือนมิถุนายน 2562 การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 6.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปี 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 26.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.7% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ในการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามการขยายตัวของสินเชื่อที่ 6.4% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นการเติบโตของสินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีสินเชื่อเพื่อรายย่อยยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

ทั้งนี้ ผลประกอบการดังกล่าวสอดคล้องกับประมาณการศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดว่าภาพรวมรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 จะยังมีกรอบเติบโตที่ค่อนข้างจำกัดท่ามกลางสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ว่าภาพรวมผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2562 จะสามารถบันทึกกำไรสุทธิได้สูงขึ้น ทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จาก 3 ปัจจัยที่กดดันอยู่ ประกอบด้วย 1. สินเชื่อชะลอตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสินเชื่อของระบบ ธ.พ.ไทยในไตรมาสที่ 32 จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.0% YoY จากที่ขยายตัว 4.2% YoY ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 โดยการเบิกใช้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนและสินเชื่อเพื่อการลงทุนของภาคธุรกิจยังคงมีสัญญาณอ่อนแอ เช่นเดียวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่น่าจะมีทิศทางชะลอลง รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR เพียงขาเดียว (ดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยและ SMEs) ตามการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และภาระในการจ่ายดอกเบี้ย หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและออมทรัพย์พิเศษบางรายการในช่วงครึ่งแรกของปี แม้ว่าการออกแคมเปญผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ๆ ในไตรมาสที่ 3/2562 จะเริ่มชะลอลงแล้วก็ตาม จากทิศทางดังกล่าว ทำให้คาดว่า อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) จะชะลอลงในไตรมาสที่ 3/2562 มาอยู่ที่ระดับ 2.78-2.80% จาก 2.86% ในไตรมาสที่ 2/2562

ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะประคองทิศทางการขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน แต่การฟื้นตัวขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมยังจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และหลักๆ จะเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการรับในไตรมาส 3 ปี 2562 จะเพิ่มขึ้น 4.6% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (จากที่เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวกที่ 1.1% YoY ในไตรมาส 2 ปี 2562) โดยน่าจะยังคงเห็นธนาคารพาณิชย์พยายามผลักดันสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมจากส่วนอื่นๆ มาชดเชยรายได้ที่หายไปจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล นอกจากนี้ อาจเริ่มเห็นทิศทางที่ทยอยดีขึ้นของรายได้สุทธิจากธุรกิจประกัน และการเติบโตต่อเนื่องของค่านายหน้าในส่วนอื่นๆ

นอกจากนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงในหลายภาคส่วนทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังคงต้องดูแล และให้ความสำคัญต่อปัญหาคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เพื่อทยอยปรับโครงสร้าง หลังจากที่เห็นสัญญาณการขยับขึ้นของสัดส่วนยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (% SM Ratio) ทั้งในส่วนของสินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์มีโอกาสขยับขึ้นมาที่กรอบ 2.97-3.02% ในไตรมาส 3 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับ 2.95% ในไตรมาส 2 ปี 2562

จากสภาวะแวดล้อมดังกล่าวที่ทำให้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์โดยรวมในไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนยังคงเติบโตในอัตราที่ไม่สูง และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ไม่สูงนักในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยและข้อจำกัดต่างๆ ในการปล่อยสินเชื่อที่มากขึ้น ขณะที่ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจหลังนำระบบดิจิทัลแบงกิ้งมาใช้ยังไม่พอที่จะชดเชยรายได้ที่ลดลง



กำลังโหลดความคิดเห็น