xs
xsm
sm
md
lg

"พอร์แมท" วัสดุสร้างเงินจากเถ้าแกลบหลังโรงสี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.อุมาพร เสนวิรัช และนายธีรภัทร์ ศรีเศรษฐกุล นักวิจัยหน่วยวิจัยวัสดุเพื่อสื่งแวดล้อม เอ็มเทค
นักวิจัยเอ็มเทค เพิ่มราคาเถ้าแกลบไร้ค่าด้วยเทคโนโลยีเซรามิกส์ ชุบชีวิตขยะหลังโรงสีเป็นวัสดุรูพรุนสูง-น้ำหนักเบา ใช้แทนดิน กรองของเสียตู้ปลา ลดปัญหาขยะภาคเกษตรกรรมแบบยั่งยืน

น.ส.อุมาพร เสนวิรัช นักวิจัยหน่วยวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โรงสีทั้งขนาดเล็กใหญ่จึงกระจัดกระจัดอยู่ตามเมืองต่างๆ โดยเฉพาะทางแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ไม่ว่าจะเป็นโรงสีขนาดเล็กหรือใหญ่ ผลพลอยได้อย่างแกลบและขี้เถ้าจำนวนมากก็สร้างภาระเหมือนกัน

สำหรับการกำจัดแกลบและเถ้าที่ได้จากการสีข้าว โรงสีขนาดใหญ่บางแห่งจะนำแกลบมาเข้ากระบวนการเผาเอาความร้อน เพื่อผลิตไอน้ำไปหมุนใบพัดสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ภายใน ส่วนโรงสีขนาดเล็กจะใช้วิธีการฝังกลบหรือเผา ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้เถ้าแกลบหมดไปแล้วยังก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ด้วยปัญหาดังกล่าวทีมวิจัยจึงลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างนำแกลบและเถ้ามาศึกษาคุณสมบัติเชิงโครงสร้าง ทำให้พบว่าภายในของวัสดุทั้งคู่เต็มไปด้วยรูพรุน

“เวลาสีข้าวออกมา เกือบครึ่งหนึ่งคือ แกลบ และอีก 20% ของแกลบก็คือขี้เถ้า ข้าวปริมาณมหาศาลขายได้ไม่มีปัญหา แต่แกลบมหาศาลจะทำอย่างไรกับมัน ด้วยความที่ห้องปฏิบัติการของเราเชี่ยวชาญเทคโนโลยีเกี่ยวกับเซรามิกส์และการผลิตปุ๋ยเม็ด เราจึงนำวัสดุมาเข้าเครื่องปั้นปุ๋ยตามแบบอุตสาหกรรมเซรามิกส์โดยใช้แค่แกลบและน้ำ ก่อนจะเผาในอุณหภูมิสูง จนได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาในรูปแบบเม็ดที่มีรูพรุน ตามสมบัติของแกลบและขี้เถ้า ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายทาง โดยได้ตั้งชื่อวัสดุรูพรุนสูงรูปแบบใหม่ที่ทำขึ้นว่า “พอร์แมท” (Poremat)” อุมาพร กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

นักวิจัย ระบุว่า พอร์แมทมีสมบัติความพรุนตัวสูง โดยมีขนาดรูพรุนตั้งแต่ระดับซับไมครอนจนถึงมิลลิเมตร จากการที่มีซิลิกาเป็นส่วนประกอบมากกว่า 90% มีความหนาแน่น 0.8-0.9 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร เบากว่าหินธรรมชาติประมาณ 2.5 เท่า แต่มีความทนทานเหมาะแก่การใช้ซ้ำ ผู้ใช้งานจึงนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทั้งใช้เป็นวัสดุปลูกทดแทนดินสำหรับการปลูกพืชในระบบ, ใช้เป็นวัสดุกรองของเสียแทนแผ่นกรองในตู้ปลา แม้กระทั่งวัสดุทางศิลปะก็เป็นที่นิยมใช้เพราะมีน้ำหนักเบาและยึดเกาะได้ดี

ในส่วนของการพัฒนา อุมาพร ระบุว่า ขณะนี้ผลิตภัณฑ์อยู่ในขั้นต้นแบบสำหรับการผลิต (pilot scale) โดยมีโรงงานที่มีกำลังการผลิตเม็ดอยู่ที่ 120 ลิตรต่อชั่วโมงซึ่งถือว่ามากพอสมควร แต่อย่างไรก็ดีขั้นตอนต่อไปคือ การมองหานักลงทุนที่สนใจมารับช่วงนวัตกรรมต่อ เพราะศูนย์วิจัยฯ มีหน้าที่พัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ภาคประชาชนเป็นผู้มารับช่วงไปต่อยอด ไม่มีหน้าที่ผลิตสินค้าเพื่อขายเอง โดยอุมาพร ได้มองแนวโน้มทางการตลาดไว้อีกด้วยว่า นวัตกรรมเม็ดเถ้าแกลบพอร์แมท จะเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีวัตถุดิบเถ้าแกลบเป็นของตัวเอง เช่น เจ้าของโรงสี โรงไฟฟ้า หรือ โรงงานที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงประมาณเดือนละไม่ต่ำกว่า 50 ตัน

“โรงสี มีเถ้าแกลบต่อปีอยู่เยอะมาก ปีหนึ่งนับพันนับหมื่นตัน ซึ่งขยะที่ออกมาก็คือเงินที่เขาต้องจ่ายสำหรับขั้นตอนการกำจัดให้หมดไป หากนำเงินตรงนั้นมาลงทุนกับนวัตกรรมพอร์แมท จะทำให้ขยะเหล่านั้นกลายเป็นเงิน เพราะเถ้าแกลบทุกชิ้นจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ใหม่จากเดิมที่ต้องนำไปเผาหรือฝังกลบ และส่วนตัวก็เชื่อว่านวัตกรรมนี้เมื่อเข้าสู่มือเอกชนแล้วจะไปได้สวย เพราะตลาดของกลุ่มบำบัดน้ำบ่อปลาสวยงามเพื่อใช้ทดแทนปะการัง มีความต้องการวัสดุแบบพอร์แมทขั้นต่ำ 50 ตันต่อเดือน ยังไม่นับรวมกับกลุ่มจัดสวนแนวตั้ง หรือสวนดาดฟ้าที่ต้องการประมาณ 100 ตันต่อเดือน ภาพรวมการตลาดของพอร์แมทจึงน่าสนใจและคุ้มค่าแก่การลงทุน” นักวิจัย กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ นวัตกรรมพอร์แมท ถูกนำมาจัดแสดงให้แก่นักลงทุนและผู้สนใจเข้าชมและเจรจาธุรกิจในงาน Invester day ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

ผู้สนใจสามารถขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.mtec.or.th/ecocera อีเมล์ ecocera@mtec.or.th โทร.02-564-6500 ต่อ 4226
เมื่อนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกต้นไม้แทนดิน
วัสดุปลูกที่มำจากพอร์แมทจะมีการใส่สารเสริมอาหารเพื่อให้มีลักษณะเหมือนดินธรรมชาติ
เม็ดพอร์แมทมีสีขาว น้ำหนักเบา
สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นผลงานศิลปะได้ด้วย









กำลังโหลดความคิดเห็น