xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นวิธีใหม่ใช้สเต็มเซลล์ไขมันสร้างเนื้อเยื่อเสริมอึ๋ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เดลิเมล์ - นักวิจัยทดลองวิธีใหม่ ใช้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์ปลูกถ่ายเพื่อเสริมทรวงอกสตรี ชี้ดูเป็นธรรมชาติมากกว่าวิธีที่ใช้ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ แถมไม่มีผลข้างเคียง เชื่อภายใน 5 ปีถูกบรรจุเข้าสู่บริการศัลยกรรมความงามเชิงพาณิชย์

ดร.โคทาโร โยชิมูระ (Kotaro Yoshimura) จากมหาวิทยาลัยโตเกียว (Tokyo University) และนักวิจัยในทีมนำสเต็มเซลล์ (stem cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิดจากไขมันของคนไข้ มาเพาะเลี้ยงและฉีดกลับเข้าไปในทรวงอกของคนไข้ โดยคาดหวังว่า เซลล์ต้นกำเนิดจะทำให้เกิดการก่อตัวของเซลล์ไขมันใหม่ และกระตุ้นให้หลอดเลือดเติบโตและหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อทรวงอกที่เกิดขึ้นใหม่นี้

มีการทดลองเทคนิคนี้ครั้งแรกในปี 2004 และนับจากนั้น มีผู้หญิง 38 คนได้รับการบำบัดด้วยวิธีนี้โดยปราศจากผลข้างเคียงใดๆ กระนั้น นักทดลองยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในระยะยาว และจำเป็นต้องทดสอบต่อไป

จนถึงปัจจุบัน เทคนิคนี้ช่วยเสริมทรวงอกสตรีให้ใหญ่ขึ้นเพียงครึ่งเดียวของวิธีการปลูกถ่ายด้วยสารสังเคราะห์ ดังนั้น คนไข้ผอมบางจึงอาจมีไขมันไม่พอที่จะนำมาใช้เพื่อเสริมทรวงอกให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม ดร.โยชิมูระเชื่อว่า ผลลัพธ์ที่ได้ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า และสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ อาทิ การรั่วซึมที่เคยเกิดขึ้นกับการใช้ซิลิโคนเสริมทรวงอกในอดีต

ทีมนักวิจัยจากแดนซากุระเชื่อว่า เทคนิคนี้จะเข้าสู่กระบวนการศัลยกรรมความงามได้ภายใน 5 ปี และจะเป็นที่นิยมอย่างมาก

การวิจัยในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในสหรัฐฯ โดย ดร.เจเรมี เหมา รายงานต่อที่ประชุมสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐฯ เมื่อปี 2005 ว่าการใช้เซลล์ต้นกำเนิดสามารถลดความจำเป็นในการผ่าตัดใหญ่ และทำให้เกิดการปลูกถ่ายในรูปทรงต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพยาวนาน

ดร.เหมาทดลองร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ โดยเปลี่ยนเซลล์ต้นกำเนิดเป็นเซลล์เอดิโพสที่ทำหน้าที่ผลิตไขมัน และนำไปใส่ในแม่พิมพ์พลาสติกเพื่อสร้างเซลล์เนื้อเยื่อรูปทรงและขนาดต่างๆ สำหรับนำไปปลูกถ่าย ก่อนนำไปเพาะเลี้ยงในห้องทดลองและฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูทดลอง

4 สัปดาห์ต่อมา นักวิจัยผ่าตัดนำเนื้อเยื่อเหล่านั้นออก และพบว่าเนื้อเยื่อยังอยู่ในรูปทรงและขนาดเท่าเดิม

เวนคัต รามกฤษนัน (Venkat Ramakrishnan) ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงามของอังกฤษ แสดงความสนใจที่จะนำเทคนิคนี้ไปใช้ ขณะที่อีวา เวลเลอร์-มิตฮอฟฟ์ (Eva Weiler-Mithoff) แพทย์ในไอร์แลนด์เหนือ มองว่าเทคนิคใหม่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด เนื่องจากเคมีบำบัดมักทำให้เส้นเลือดหดตัว

“เซลล์ต้นกำเนิดสามารถแตกออกเป็นหลอดเลือด ทำให้เซลล์ไขมันมีโอกาสอยู่รอดมากขึ้น” รามกฤษนันอธิบายทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น