xs
xsm
sm
md
lg

ฉลาก “clone-free” เกิด หลังเอฟดีเอรับรองเนื้อ-นมวัวโคลนนิงกินได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้มเมื่อ 7 ปีก่อน ลูกวัวทีได้จากการโคลนนิงตัวหนึ่งในแคนาดา ที่พัฒนาขึ้นเพื่อหวังเป็นพ่อพันธุ์สร้างลูกวัวเนื้อคุณภาพดี และขณะนี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ก็ออกมาชี้แล้วว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์โคลนนิงกินได้ไม่แตกต่างจากสัตว์ที่สืบพันธุ์ตามธรรมชาติ
เอเจนซี/เอพี – แม้ผลิตภัณฑ์เนื้อและนมที่ได้จากสัตว์โคลนนิงจะยังไม่ปรากฏบนชั้นตามซูปเปอร์มาร์เก็ตเร็วๆ นี้ แต่คำประกาศของเอฟดีเอที่ระบุว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ทำสำเนาเหล่านี้สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ทำให้ชาวอเมริกันเริ่มจะหวาดกลัวว่าอาจจะได้กินสเต็กโคลนนิงโดยไม่รู้ตัว เพราะเชื่อกันว่าในอนาคตเอฟดีเอน่าจะปล่อยให้เนื้อจากพ่อวัวโคลนนิงวางขายเคียงคู่กับเนื้อพ่อพันธุ์ธรรมชาติโดยไม่ต้องติดฉลากแสดงแต่อย่างใด ส่งผลให้หลายผลิตภัณฑ์เตรียมติดฉลาก “ปลอดโคลน” เพื่อเพิ่มยอดขาย

ก่อนสิ้นปี 2549 ไม่กี่วัน องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ เอฟดีเอ (FDA : Food and Drug Administration) ได้ออกประกาศรับรองในเบื้องต้นว่า นักวิทยาศาสตร์ขององค์การพบว่า เนื้อหรือนม รวมถึงลูกสัตว์ที่เกิดจากวัว หมู และแพะที่ได้จากโคลนนิงนั้นต่างนำไปบริโภคได้ปลอดภัยไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ที่เติบโตโดยธรรมชาติแต่อย่างใด ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากการโคลนนิงสามารถวางขายได้เหมือนสินค้าปกติทั่วไปโดยไม่ต้องติดฉลากระบุรายละเอียดแต่อย่างใด

ระหว่างนี้ เอฟดีเอ กำลังเปิดให้ประชาชนชาวสหรัฐฯ ได้แสดงความเห็นต่อคำประกาศดังกล่าว เป็นเวลา 90 วัน โดยสามารถหาข้อมูลเหตุผลมาคัดค้านได้ และในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ทางเอฟดีเอจะพิจารณาว่าจะยืนยันตามคำที่ประกาศไว้หรือไม่

คำประกาศดังกล่าวทำให้ทางศูนย์ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหารของสหรัฐฯ ออกมาวิพากษ์ทันควันก่อนสิ้นปีเช่นกันว่า เอฟดีเอกำลังมอบของขวัญวันคริสต์มาสให้แก่บริษัทไบโอเทคยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ที่กำลังดำเนินการผลิตอาหารที่ได้จากสัตว์โคลนนิง อีกทั้งเชื่อแน่ว่า ไม่ว่าการคัดค้านจะเป็นอย่างไร ทางเอฟดีเอจะต้องประกาศยืนยันระเบียบดังกล่าวแน่นอน

ทั้งนี้ เอฟดีเอหวังว่า การออกมารับรองเช่นนี้จะทำให้ชาวอเมริกันได้มีโอกาสรับประทานอาหารอย่างเนื้อและนมที่มีคุณค่าสูง

แต่ผู้บริโภคชาวอเมริกันก็หาได้ตอบรับกับคำรับรอง โดยผลสำรวจพบว่า ผู้คนมากกว่าครึ่งยืนยันที่จะไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ผ่านการโคลนนิงแน่นอน ไม่ว่าทางรัฐบาลจะมีหลักฐานหรือผลวิจัยที่รับรองถึงความปลอดภัยขนาดใดก็ตาม อีกทั้งผลสำรวจในภาคธุรกิจก็แสดงออกมาว่ายอดขายผลิตภัณฑ์ทางด้านปศุสัตว์จะลดลงทันทีหากเอฟดีเอไฟเขียวให้ขายสินค้าจากการโคลนนิงได้จริง

แม้ว่าสินค้าโคลนนิงจะยังไม่ได้รับอนุญาต (อย่างเป็นทางการ) ให้วางขายตามท้องตลาด แต่การออกมารับรองดังกล่าว ทำให้ตลาดอาหารในสหรัฐอเมริกาเริ่มตื่นตัวในการระบุส่วนผสมของสินค้าที่มาจากสัตว์ว่า ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาปลอดการโคลนนิงแน่นอน อย่าง “เบนแอนด์เจอร์รีส์” (Ben & Jerry's) ไอศครีมโฮมเมดชื่อดังก็ต้องการให้ลูกค้าของพวกเขารู้ว่าไอศกรีมที่พวกเขาผลิตขึ้นนั้นมาจากนมวัวที่เติบโตปกติทั่วๆ ไป หาใช่วัวโคลนนิงไม่ โดยพวกเขาได้ติดฉลากระบุลงไปในผลิตภัณฑ์แล้ว อีกทั้งยังห้ามไม่ให้เกษตรกรใช้ฮอร์โมนเร่งโตกับวัวที่ส่งวัตถุดิบให้แก่เบนแอนด์เจอร์รีส์อีกด้วย

ขณะที่ภาคธุรกิจปศุสัตว์ก็ออกมาตำหนิผู้ประกอบการกลุ่มนี้ว่า เร็วเกินไปที่จะมาติดฉลาก “ปลอดโคลน” (clone-free) เพราะกว่ากระบวนการวางขายสินค้าบริโภคจากการโคลนจะเกิดขึ้นจริงนั้น ต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ที่สำคัญเอฟดีเอไม่อนุญาตให้มีการติดฉลากในทำนองที่ว่าสินค้าแบบนี้ดีกว่าสินค้าอีกแบบ หรือการโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติปลอดภัยกว่าจากการโคลน

อย่างไรก็ดี การบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์โคลนนิงนั้นหลายฝ่ายต่างวิจารณ์ว่ารวดเร็วเกินไป รวมถึงโฆษกของสมาคมอาหารฟาร์มโคนมสากล (International Dairy Foods Association) ก็ออกมาแสดงความเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการโคลนนิงไม่น่าจะแพร่หลาย ขณะเดียวกันในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ก็มีการใช้ฮอร์โมนเร่งโตซึ่งเป็นทางออกสำหรับผลิตภัณฑ์มาหลายทศวรรษแล้ว และเชื่อว่าไม่น่าจะได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างแน่นอน

”ที่ผ่านมาเราฟังจากเฉพาะฟากธุรกิจว่า เทคโนโลยีการโคลนนิงนี้ช่างยิ่งใหญ่ แต่ยังไม่เคยฟังเสียงจากผู้บริโภคเลยว่าพวกเขาต้องการบริโภคสินค้าเหล่านี้ และอยากให้ผู้ประกอบการทำขายหรือไม่” ซูซาน รูแลนด์ (Susan Ruland) โฆษกสมาคมกล่าว และขณะนี้ทั้งเกษตรกรและบริษัทโคลนนิงต่างได้รับคำสั่งให้ยุติการผลิตสินค้าชั่วคราว จนกว่าเอฟดีเอจะตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

ที่สำคัญ แรงกดดันของการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่ว่า การพิจารณาให้มีการติดฉลากระบุว่าอาหารชนิดนั้นๆ มาจากการโคลนนิงด้วย ซึ่งตรงส่วนนี้สภาครองเกรสจะนำไปพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์จากการโคลนจำเป็นต้องแสดงตัวหรือไม่

ทว่าทางเจ้าของบริษัทไบโอเทคแห่งหนึ่งก็มาออกตัวแล้วว่า การติดฉลากว่าสินค้าใดมาจากการโคลนนิงนั้นก็เหมือนกับการบอกให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขาจะเลือกกินเนื้อสเต็กเทียมทีได้เกิดจากการเพาะเชื้อหรือจะกินสเต็กจากเนื้อวัวที่ผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ เจ้าของบริษัทดังกล่าวย้ำว่าข้อมูลที่อยู่บนฉลากไม่ได้ช่วยผู้บริโภคเลย
วัวโคลนนิงทั้ง 2 ตัวกำลังกินหญ้าอยู่นฟาร์มแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ จากนี้แม้ผลิตภัณฑ์ของทั้ง 2 ตัวจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้วางขาย แต่ทางการของสหรัฐฯ รับรองความปลอดภัยแล้ว
เบนแอนด์เจอร์รีส์ ไอติมยี่ห้อดัง เดิมทีก็มีจุดขายที่ผลิตนมจากเกษตรอินทรีย์หรืออแกนิก แต่เมื่อคำว่า โคลลนิง ได้รับรองความปลอดภัย แต่กลับสร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภค ผู้ผลิตไอติมรายนี้เตรียมติดฉลากคำว่า ปลอดโคลน เพิ่ม
อนาคตเนื้อสเต็กที่มาจากลูกวัวโคลนนิงจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายหรือไม่ ต้องติดตามดูกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น