xs
xsm
sm
md
lg

เตือนฝากเลือดกับธนาคารสเต็มเซลล์อาจไม่คุ้มค่าอย่างที่คิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ออกโรงเตือนผู้ใช้บริการฝากเลือดจากสายสะดือทารกกับบริษัทเอกชนอาจเสียเงินเปล่า เหตุสเต็มเซลล์มีอายุเพียง 20 ปี จึงอาจไม่ได้ใช้งาน ฝากให้คำนึงความคุ้มค่า หวั่นคนไทยถูกถอดรหัสพันธุกรรมหากฝากสเต็มเซลล์กับบริษัทต่างชาติ ย้ำชัดสเต็มเซลล์ยังอยู่ในการวิจัย ไม่ใช่วิธีการรักษามาตรฐาน

วันนี้ (8 ก.พ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดเสวนาเรื่อง “สเต็มเซลล์ การรักษาครอบจักรวาล” โดยมี นพ.สุรพล อิสรไกรศีล คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมเสวนา

นพ.สุรพล กล่าวว่า สเต็มเซลล์ (Stem cell) ถูกคาดหวังให้นำมาใช้รักษาโรคต่างๆ อาทิ โรคระบบประสาท เช่น โรคสมองตาย โรคหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคโลหิตวิทยา แต่ยังมีความเข้าใจผิดในการนำสเต็มเซลล์ไปรักษาบางโรค เช่น การรักษาโรคมะเร็ง สามารถนำวิทยาการสเต็มเซลล์มารักษาด้วยการนำไขกระดูกจากญาติหรือครอบครัวผู้ป่วย ควบคู่กับการฉายรังสี หรือให้การรักษาทางเคมี (คีโม) แก่ผู้ป่วย แต่จะรักษาด้วยสเต็มเซลล์อย่างเดียวไม่ได้ การรักษาโรคธาลัสซีเมีย รักษาได้ 2 วิธี คือการนำไขกระดูก หรือเลือดสายสะดือทารกจากญาติผู้ป่วยมาใช้ แต่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาด้วยเลือดของตัวเองได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การใช้สเต็มเซลล์มารักษาโรคเกิดความเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคธาลัสซีเมีย ยังอยู่ในขั้นตอนการทำวิจัย และยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน โดยการประเมินการรักษายังไม่สามารถยืนยันว่าจะสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้จริง เนื่องจากมีการทดลองกับผู้ป่วยจำนวนน้อยราย จึงไม่สามารถยืนยันความสำเร็จได้แน่ชัด นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนต่างๆ จัดตั้งเป็นธนาคารรับฝากเลือดสายสะดือทารก ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่มีความจำเป็นมากพอที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในปริมาณมาก

การเก็บเลือดจากสายสะดือทารก ควรคำนึงถึงความคุ้มค่า เนื่องจากสเต็มเซลล์ที่เก็บมีอายุ 20 ปี ซึ่งหากในระยะ 20 ปี เด็กไม่ได้เจ็บป่วย หรือไม่มีโอกาสได้ใช้เลือดของตัวเองก็จะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายการรับฝากเลือดสายสะดือทารกกับบริษัทเอกชนมีราคาที่สูงมาก โดยเริ่มฝากในราคา 60,000 บาท หลังจากนั้นต้องจ่ายปีละ 6,000 ดังนั้น ผู้ที่จะใช้บริการควรคิดอย่างรู้เท่าทัน อย่างไรก็ดี กรณีผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และมีแนวโน้มที่จะนำสเต็มเซลล์มารักษาได้ก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง ความพร้อม และความยินยอมของผู้ป่วยด้วย แต่หากทำเพื่อความสวยงามจะไม่คุ้มแน่นอน”

นพ.สุรพล ยังแสดงความเป็นห่วงว่า ปัจจุบันธนาคารรับฝากเลือดเอกชนมีทั้งประเทศไทยและสิงคโปร์ ซึ่งหากประเทศสิงคโปร์ไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนก็อาจเรียนรู้รหัสพันธุกรรมของคนไทย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ซึ่งจะโยงไปถึงความมั่นคงของประเทศ หรือหากประเทศใดมีการคิดค้นยาที่ใช้รักษาโรคพันธุกรรมของคนไทยได้เร็ว ก็อาจนำมาสู่อำนาจการต่อรองได้

ด้าน ดร.นเรศ กล่าวว่า ขณะนี้แพทยสภาได้ประชุมเพื่อร่วมหามาตรฐานการควบคุมเรื่องสเต็มเซลล์ ซึ่งยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับจริยธรรม โดยเฉพาะธนาคารรับฝากสเต็มเซลล์ก็ยังไม่รู้จะใช้กรอบกฎหมายใดควบคุม โดยขณะนี้ กองประกอบโรคศิลป์ไม่มีอำนาจยับยั้งการจัดตั้งบริษัทธนาคารรับฝากสเต็มเซลล์ แต่สามารถควบคุมให้เกิดมาตรฐานในการเก็บสเต็มเซลล์จากผู้ป่วยได้

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แม้เป็นที่ทราบดีว่าสเต็มเซลล์มีประโยชน์ในการรักษา แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าสามารถรักษาโรคได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเกิดคำถามตามมา เช่น การรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์จะก่อเกิดโรคมะเร็งหรือไม่ หรือเมื่อฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปแล้วจะวิ่งไปไหน จะรักษาได้ตรงจุดหรือไม่ ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

ปัจจุบันเซลล์ต้นกำเนิดบำบัดไม่ใช่วิธีการรักษามาตรฐาน ที่มีรายงานในคนส่วนใหญ่ เป็นการใช้ สเต็มเซลล์จากเซลล์ผู้ใหญ่ (adult stem cell) โดยเฉพาะจากเลือดหรือไขกระดูกของผู้ป่วยเอง และการประเมินผลการรักษาจากการที่มีหน้าที่ของอวัยวะนั้นดีขึ้น ดังนั้น เซลล์ต้นกำเนิดบำบัดยังเป็นวิธีการที่จะต้องศึกษาวิจัยกันต่อไป แต่หากผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ หรือวิธีการที่ใช้อยู่ไม่ได้ผลดี การใช้เซลล์ต้นกำเนิดบำบัดก็อาจเป็นทางเลือกของผู้ป่วยอีกวิธีหนึ่ง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น