xs
xsm
sm
md
lg

ใต้-กลาง-ตะวันออก “โควิด” ขาลง จับตาลดเตือนภัยได้ก่อน ย้ำทุก จว.ทำแผนโรคถิ่นให้เสร็จก่อน ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ยังเตือนภัย โควิด” ระดับ 4 บางพื้นที่ขาลง อาจลดได้ก่อน เช่น ภาคใต้-กลาง-ตะวันออก ย้ำ ทุกจังหวัดทำแผนสู่โรคประจำถิ่นตามบริบท มุ่งสู่ขาลง ป้องกันกลับมาขึ้นใหม่ เน้นตรวจจับทัน มีระบบป้องกันควบคุมโรคทัน โดยเฉพาะกิจการเสี่ยง และมีระบบแจ้งเหตุ ย้ำ แผนต้องเสร็จก่อน ก.ค. เพื่อประกาศโรคประจำถิ่นพร้อมกันทั่วประเทศ ย้ำ วัคซีน 2 เข็มไม่พอป้องกันป่วยหนักโอมิครอน

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ขณะนี้ยังคงการเตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ ขอให้ช่วยกันหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก แม้การติดเชื้อลดลงแต่ความเสี่ยงยังมีอยู่ ให้พยายามเลี่ยงให้มากที่สุด เอาตัวเองออกมา หากเดินทางอย่าอยู่กับคนจำนวนมาก จะลดการระบาดได้เร็วขึ้น ส่วนขณะนี้ที่การติดเชื้อลดลงและจะเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่นจะมีการลดการแจ้งเตือนภัยเมื่อไรนั้น เราดูเรื่องของการระบาดเป็นหลัก อัตราการฉีดวัคซีน อัตราการครองเตียงด้วย ซึ่งตอนนี้อาจจะเริ่มลดลงได้แล้วในหลายจังหวัด ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังรอดูสถานการณ์ก่อน

“ยังมีจังหวัดที่กกลังขาขึ้นอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็เริ่มทรงตัวและลดลง โดยเฉพาะภาคใต้ลดลงชัด เพราะระบาดหนักมาก่อนหน้านี้จึงเข้าสู่ขาลงก่อน แต่พื้นที่ภาคใต้ยังมีการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทุกวัน ถือว่ายังมีความเสี่ยง ส่วนพื้นที่ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น คือ ภาคกลางและภาคตะวันออก เพราะมีการติดเชื้อไปมากแล้ว มีการรับวัคซีนจำนวนมากเช่นกัน อาจจะมีแนวโน้มเป็นโรคประจำถิ่นได้ก่อนภูมิภาคอื่นๆ ส่วนภาคอีสานหลายจังหวัดเพิ่มขึ้น ก็จะเข้าสู่ระยะขาลงช้ากว่า อย่างไรก็ตาม การประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ต้องทำพร้อมกันทั้งประเทศ จะประกาศพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก่อนไม่ได้ เพราะยังมีการเดินทางไปมาหาสู่กัน โดยเป้าหมายคือในเดือน ก.ค.นี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาชัดเจน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบเมื่อครั้งล่าสุด ให้ทุกจังหวัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับการไปสู่เป็นโรคประจำถิ่น หลายจังหวัดทำแล้วมีแผนแล้ว แต่จะทำมากน้อยอย่างไรยังไม่ทราบ ต้องหารือมหาดไทยกับ ศบค.อีกที อย่างไรก็ตาม แต่ละจังหวัดมีบริบทแตกต่างกัน เข้าสู่ระยะแตกต่างกัน บางพื้นที่ขาขึ้น บางพื้นที่ทรงตัว บางพื้นที่ขาลง การจัดทำแผนปฏิบัติการก็จะแตกต่างกันออกไป อย่าง จ.ตาก และ กทม.แผนก็จะต่างกัน โดย จ.ตาก มี รพ.ไม่กี่โรง ส่วนใหญ่แรงงานต่างด้าวอพยพ แผนจะโฟกัสเรื่องนั้น กทม.มีทุกเรื่องแผนก็อีกแบบ แต่จุดหมาย คือ แผนปฏิบัติการจะต้องทำให้การติดเชื้อในพื้นที่อยูในขาลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้กลับมาขึ้นใหม่ เพื่อให้ทั้งประเทศประกาศเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้พร้อมกัน เพราะหากประกาศที่ใดประกาศก่อน แต่ยังมีการเดินทางเข้ามา อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นมา ก็ไม่ถือว่าเป็นขาลงแล้ว จึงต้องวางแผนจัดการให้ได้ ทั้งนี้ แผนก็ต้องทำให้เสร็จก่อน ก.ค.ต้องเตรียมแผนให้เรียบร้อยและวางแผนให้พร้อม โดยแผนมีแล้วสามารถทำตามได้เลย เพื่อให้ไปถึงเกณฑ์ตั้งธงการเข้าสู่โรคประจำถิ่น

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านก็จะเป็นผู้พิจารณาแผน โดยไม่ต้องมีการเสนอ ศบค. แต่ สธ.จะมีหลักการดำเนินการคร่าวๆ เป็นแนวทาง เพื่อให้จังหวัดไปถึงเกณฑ์โรคประจำถิ่น เช่น ต้องมีการปรับมาตรการในจังหวัด สร้างความพร้อมให้คนในจังหวัดและคนเข้าจังหวัดมั่นใจว่า ถ้าสายพันธุ์เปลี่ยน มีการระบาดในวงกว้าง 1. จะตรวจจับทัน 2. มีระบบป้องกันและควบคุมโรคได้ทัน ต้องวางแผนร่วมกับสถานประกอบการต่างๆ จะมีระบบเฝ้าระวังอย่างไร สถานที่เสี่ยงจะมีการกำกับอย่างไร เช่น ผับบาร์ ต้องวางแผนอย่างไรที่จะไม่สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยรวมทั้งจังหวัดหากมีการระบาดเกิดขึ้น ก็ต้องมีระบบการแจ้งเตือน มีหน่วยงานติดตามกำกับ เช่น เปิดผับถึงตี 4 เกินกฎหมายก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่าทำตามกฎหมาย และ 3.ประชาชนหรือใครไปใช้บริการหรือเดินทางไป แล้วเห็นว่าเสี่ยงเกินไปก็ต้องมีระบบรับแจ้งเหตุ

“จะสร้างความมั่นใจคนในจังหวัด ถ้ามีคนเดินทางเข้ามา มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในจังหวัด ป่วยหนักเยอะ เข้า รพ.เยอะ รพ.จะรองรับพอหรือไม่ ถ้าไม่พอต้องข้ามจังหวัดอื่น ฉะนั้น การป้องกันตัวเองก่อนจะดีกว่า ต้องฉีดวัคซีนให้มาก จะได้ไม่เป็นภาระเตียงมากไป โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงวัย ถ้าเตียงต้องใช้เยอะขึ้น มีแนวทางขยับขยายอย่างไร ส่งต่ออย่างไรไปจังหวัดอื่น ยาเพียงพอหรือไม่ ต้องประสานทั้งผู้ว่าฯ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ สธ. อาจต้องทำแผนและซ้อมแผน เพื่อไม่ให้หลัง ก.ค.เปิดแล้วกลับมาปิดใหม่ โดย สธ.อาจสุ่มติดตาม สุ่มประเมิน และสุ่มศึกษาว่าทำอย่างไรแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ทั้งนี้ เชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง ติดเชื้อแล้วมีอาการไม่มาก บางส่วนเลยฉีดวัคซีนแค่ 2 เข็ม ซึ่งย้ำว่า วัคซีน 2 เข็ม ไม่เพียงพอต่อการป้องกันการป่วยหนักของโอมิครอน ต้อง 3 เข็มขึ้นไปเท่านั้น โดยเฉพาะคนมีโรคประจำตัวเรื้อรัง บางกลุ่มโรคเรื้อรัง 3 เข็มยังป้องกันไม่ได้ เพราะสร้างภูมิคุ้มกันไม่ดี อาจต้องใช้แอนติบอดีมาช่วย แต่มีไม่มาก ซึ่งทางพื้นที่ก็เร่งฉีดอยู่ แต่ไม่ยอมฉีดกัน ก็ต้องสร้างความเข้าใจ

ถามว่า สถานการณ์ที่อีสานกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ พ.ค. จะมีประเพณีบุญบั้งไฟ หลายจังหวัดอนุมัติจัดแล้ว ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า มาตรการคงไม่ต้องปรับอะไร แต่พื้นที่ต้องมีการดูแลและบริหารจัดการให้ได้ เพราะตัวเลขการติดเชื้อหากมีจำนวนมากอาจจะไม่น่ากังวลเท่าจำนวนปอดอักเสบ ถ้าปอดอักเสบไม่มากก็โอเค ซึ่งส่วนนี้วัคซีนจะช่วยได้มาก จึงต้องเร่งให้มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงวัย ลูกหลานก็ต้องฉีดวัคซีนเพื่อตัดวงจรการนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุ

ถามถึงการเปิดประเทศมากขึ้น ยอดเข็มกระตุ้นไม่มากไม่ถึง 60% ส่งผลการระบาดในประเทศและเข้าโรคประจำถิ่น กล่าวว่า วันที่ 1 พ.ค.ไทยผ่อนคลายต่างชาตินักท่องเที่ยว และคนไทยกลับบ้านง่ายขึ้น ยกเลิก Test&Go และSandbox ไปพอสมควร มาตรการตรวจ RT-PCR 72 ชม. ลดเบี้ยประกันสุขภาพเหลือ 1 หมื่นเหรียญ 5 วันแรกตรวจ ATK รายงานผ่าน Thailand pass คนเข้าประเทศก็เยอะขึ้นมากเกือบ 2 หมื่นคน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไม่ได้ลดการระบาด แต่ลดการติดเชื้อลงเล็กน้อย แต่ลดป่วยหนักได้ คือการป้องกันคนในประเทศให้มีภูมิ ถ้ามีเชื้อเข้ามาไม่ให้ป่วยหนัก จำเป็นมากที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนมากขึ้น การเปิดประเทศต่างชาติเข้ามามากขึ้น เสี่ยงมีโอกาสรับเชื้อมากขึ้นได้ ถ้ามีภูมิเรียบร้อย แม้รับเชื้อมาก็ป่วยหนักลดลง ต้องเร่งฉีดให้เกิน 60% ซึ่งวัคซีนเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจ ถ้าระบาดวงกว้างสายพันธุ์นี้หรือสายพันธุ์อื่น ก็มีเครื่องมือสร้างภูมิในตัวแล้ว มั่นใจว่าแม้การติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะยังมีความปลอดภัยลดการป่วยหนักลงได้ ส่วนกระทบเข้าสู่โรคประจำถิ่นไหมเกณฑ์วัคซีนเข็มกระตุ้น 60% มีความจำเป็น แต่กระทบโดยตรงหรือไม่ต้องดูหลายปัจจัยร่วมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น