xs
xsm
sm
md
lg

วิธีจัดการความเครียดท่ามกลางการเมืองร้อน / คอลัมน์พ่อแม่ลูกปลูกรัก สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฎการณ์เหล่านี้ ส่งผลโดยตรงทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาวะความเครียดกันถ้วนหน้า

ยิ่งถ้าครอบครัวไหนมีลูกด้วยแล้ว ภาวะความเครียดต่างๆ ก็อาจกระทบถึงลูกได้ ฉะนั้น การจัดการความเครียดหรือวิธีรับมือกับความเครียดในสถานการณ์เยี่ยงนี้จึงมีความจำเป็นยิ่ง

นายแพทย์สุริยเดว ทริปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่เรื่องการจัดการความเครียดให้กับตัวเองและครอบครัวท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันว่า สิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงนี้ก็คือการบริหารจัดการ 2 เรื่อง

1.บริหารความเสี่ยง เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีหลายพื้นที่ เพราะฉะนั้นก่อนจะออกเดินทางไปไหนมาไหนต้องมีการวางแผนก่อนทุกครั้ง เช่น วางแผนการเดินทางจะไปที่ไหน จะดูแลตัวเองอย่างไร การวิเคราะห์ความเสี่ยงของตัวเองว่ามีมากน้อยขนาดไหน รวมไปถึงวิธีป้องกันความเสี่ยง ก็ต้องเตรียมตัวให้ดี

2.บริหารความเครียด เรื่องนี้มีความสำคัญมาก ต้องวางสมาธิให้ได้ โดยส่วนใหญ่คนไทยนับถือศาสนาพุทธอยู่แล้ว ควรจะต้องมีการฝึกเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะเรื่องสมาธิเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยได้ สามารถทำได้ที่บ้าน ก่อนนอนหรือตื่นนอนก็ได้ เพราะจะช่วยเรื่องการให้เราอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับตัวเอง พยายามครองสติให้ได้ เพื่ออารมณ์จะได้ไม่ฟุ้งซ่าน จะได้ก้าวย่างด้วยสติไม่ใช้อารมณ์

“เมื่อเรามีสมาธิ จะทำให้เรามีสติ และทำให้ดำเนินชีวิตไปอย่างมีสติ และฝึกปลดปล่อยความคิดอะไรบางอย่างได้ เพราะบางครั้งเมื่อเรารับข้อมูลมากเกินไป ก็ต้องค่อยๆ ลดลง และค่อยๆปลอดปล่อยอารมณ์ อาจใช้วิธี Self Talk หรือพูดกับตัวเองก็ได้”

ทั้งนี้ ความเครียดของคนเรามี 3 ระดับ

ระดับแรก เป็นความเครียดขั้นต้นที่ทุกคนก็มีความเครียดด้วยกันทั้งนั้น เป็นความเครียดในชีวิตประจำวัน ยังไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ

ระดับที่สอง เป็นความเครียดระดับปานกลาง ความเครียดระดับนี้จะส่งผลต่อร่างกาย เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง ฯลฯ ซึ่งเป็นการส่งผลต่อร่างกายโดยตรง

ระดับที่สาม เป็นความเครียดระดับสูง กรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อจิตใจด้วย เป็นผลสืบเนื่องจากกระทบทางกายและส่งผลมาถึงจิตใจ เริ่มตัดพ้อ แยกตัว ไม่อยากสุงสิงกับใคร บางคนถึงขั้นภาวะซึมเศร้า

ฉะนั้น เมื่อเกิดความเครียดก็ต้องรีบจัดการกับภาวะความเครียดตั้งแต่ระดับเริ่มต้นให้ได้ก่อน

กรณีที่เมื่อเกิดภาวะความเครียดแล้ว ไม่สามารถจัดการกับตัวเองได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีตัวช่วย มีผู้ใหญ่ในบ้านที่ต้องเป็นตัวช่วยอย่างดี เป็นคนที่คอยประคองอารมณ์ความรู้สึก หรือเป็นแกนในการให้สติได้

“ต้องมีใครสักคนในบ้านที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่สามารถเป็นแกนในการให้สติ เป็นจุดพักพิงให้กับคนอื่นๆ ได้ ถ้าไม่มีก็ต้องพยายามหาตัวช่วย เพื่อให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น เพราะถ้ามีคนๆนี้ก็จะช่วยประคับประคองสถานการณ์ ไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้าไม่มีการฉุดรั้งกันเลย ก็อาจทำให้สถานการณ์ลุกลามได้”

ส่วนกรณีที่คนในครอบครัวมีความคิดเห็นไม่ตรงกันหรือมีความขัดแย้งกัน คุณหมอแนะนำว่า ต้องพยายามมองจุดร่วมเป็นจุดหลัก หาจุดพ้องกันให้ได้ หรือการหาจุดร่วมด้านบวกที่ต้องการเหมือนกัน เช่น ต้องการสันติวิธีเหมือนกัน, ต้องการเห็นสังคมคุณธรรมเหมือนกัน หรือต้องการคนที่ไม่โกงหรือคอรัปชั่นเหมือนกัน ต้องพยายามพูดคุยประเด็นในด้านบวก เพื่อลดความขัดแย้ง

สำหรับพ่อแม่ที่มีลูก ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกได้พบเห็นเหตุการณ์เหล่านั้น เพราะปัจจุบันสื่อเข้ามาถึงตัวในหลากหลายรูปแบบทั้งทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ สื่อออนไลน์ ฯลฯ ฉะนั้น พ่อแม่ต้องมีวิธีในการสื่อสารกับลูกในแต่ละวัยด้วย

กรณีที่ลูกอยู่ในช่วงปฐมวัย ก็ต้องคำนึงถึงวัยด้วย พ่อแม่อาจยกตัวอย่างใกล้ตัว เช่น เมื่อพี่น้องทะเลาะกันแล้วเป็นอย่างไร หรือมีเครื่องมือ อาจเป็นหนังสือนิทานมาเล่าให้ลูกฟัง และเมื่อเกิดปัญหาแล้วมีวิธีแก้ไขอย่างไร

ถ้าเป็นเด็กโต พ่อแม่ก็ควรตั้งโจทย์ง่ายๆ สอบถามว่าถ้ามีเพื่อนท้าตีท้าต่อย แล้วลูกควรจะทำอย่างไร ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร เป็นการยกตัวอย่างให้เขาได้เห็นภาพใกล้ตัว ถือโอกาสสร้างการเรียนรู้ให้ลูกตามวัยด้วย

แต่ถ้าลูกวัยรุ่น ก็สามารถที่จะหยิบยกสถานการณ์จริงมาพูดคุยด้วยได้ และนำมาผูกโยงกับเรื่องคุณธรรมและศีลธรรมในบ้านเมืองได้ด้วย หรือถือโอกาสสอบถามความคิดและความรู้สึกของเขาว่าเป็นอย่างไร และอาจโยนโจทย์ให้เขาได้คิดถึงผลกระทบที่ตามมาด้วยก็ได้

คุณหมอสุริยเดวทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน โลกโซเชียลมีเดียส่งผลอย่างมากในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้น ควรที่จะสอนให้ลูกรู้เท่าทันสื่อด้วย ให้รู้ว่าจะแยกแยะอย่างไร ไหนข่าวเท็จ ข่าวจริง ข่าวลวง โดยอาจจะยกตัวอย่างจากสถานการณ์ปกติก็ได้ เช่น ชวนพูดคุยเรื่องโฆษณา เพื่อให้เขาเห็นว่าการโฆษณาก็หลอกได้ โลกของข่าวสารก็มีทั้งข้อมูลเท็จข้อมูลจริง และข้อมูลที่ทำร้ายกันก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องฝึกให้ลูกตั้งคำถาม และไม่หลงเชื่อทันที ควรสอนให้วิเคราะห์ให้เป็น ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร

ที่สำคัญ เราต้องรับมือให้ได้กับภาวะความเครียดในสถานการณ์เช่นนี้ ที่ยังคงต้องอยู่กับเราไปอีกนาน ฉะนั้น การบริหารจัดการชีวิตตัวเองภายใต้ความเครียดจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น