xs
xsm
sm
md
lg

“ธรรมนัส” ยึดเศรษฐกิจไทย ล้างไพ่กรรมการบริหารพรรค กดดัน “บิ๊กตู่” รับเปิดศึกซักฟอก!! **ดรามาชัชชาติ “นั่งกระโหย่ง” ไหว้พระ ที่จริงมีมาแต่โบราณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว


** “ธรรมนัส” ยึดเศรษฐกิจไทย ล้างไพ่กรรมการบริหารพรรค กดดัน “บิ๊กตู่” รับเปิดศึกซักฟอก!!


คงจำกันได้...เมื่อไม่นานมานี้ ช่วงที่มีข่าวความระหองระแหงระหว่าง “สองลุง” คือ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีชนวนเหตุมาจาก “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ทำตัวเป็นหอกข้างแคร่ หลังถูกปลดจากตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์

“ลุงป้อม” จึงหาวิธี “อุ้ม” ก๊วนผู้กอง โดยใช้มติกรรมการบริหารพรรค ขับ ส.ส.กว่า 20 ชีวิตของกลุ่มนี้ พ้นพรรคเพื่อให้ไปหาพรรคใหม่สังกัด ซึ่ง ส.ส.ส่วนหนึ่งไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ที่เหลืออีก 21 คนไปสังกัดพรรค “เศรษฐกิจไทย”

จากนั้น “ลุงป้อม” ก็ส่ง “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องรักมาเป็นหัวหน้าพรรค ส่วน “ผู้กองธรรมนัส” รั้งตำแหน่งเลขาฯ พรรค

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แม้ “ผู้กองธรรมนัส” จะแสดงท่าทีว่ามีการเจรจาฝ่ายค้าน และพร้อมที่จะโหวตสวนรัฐบาล หากต้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชน แต่ “ลุงป้อม” ก็ยังคงยืนยันการันตีว่า ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ยืนอยู่ฝ่ายรัฐบาล

“พรรคเศรษฐกิจไทย” จึงถูกมองว่า เป็นสาขาของ “พรรคพลังประชารัฐ” และรอดูว่าหาก “ลุงตู่” ปรับ ครม.คนในพรรคนี้ต้องได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแน่ แล้วปัญหางอแงก็จะหมดไป แม้ผู้ที่ได้เป็นรัฐมนตรีจะไม่ใช่ตัวผู้กองธรรมนัสก็ตาม... แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการปรับ ครม.

ขณะที่ “ผู้กองธรรมนัส” ก็ไม่หยุดเคลื่อนไหวเพื่อให้เห็นภาพว่าพร้อมที่จะ “ปันใจ” ไปร่วมกับฝ่ายค้าน หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ... เพราะฝ่ายค้านก็แบไต๋ว่าต้องการ 30 เสียงจากฝ่ายรัฐบาล ในการโหวตล้มรัฐบาลลุงตู่

เป้าหมายของฝ่ายค้านอยู่ที่ “กลุ่ม 16” และบรรดาพรรคเล็ก พรรคจิ๋ว ที่นำโดย “พิเชษฐ สถิรชวาล” รวมกับ ส.ส.จากเศรษฐกิจไทย ในก๊วนผู้กองธรรมนัส ดังที่มีการนัดกินข้าวโชว์สื่อ แม้ว่าตัวของผู้กองธรรมนัส จะไม่ได้ไปร่วมก็ตาม

ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวว่า เกิดความขัดแย้งกันในพรรคเศรษฐกิจไทยระหว่าง “บิ๊กน้อย” หัวหน้าพรรค กับ “ผู้กองธรรมนัส” ในเรื่องหนุน หรือไม่หนุน “ลุงตู่” จนมีกระแสข่าวว่า “บิ๊กน้อย” จะลาออกจากหัวหน้าพรรค

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมื่อสื่อต่อสายสอบถามไปก็ได้รับการปฏิเสธจาก “บิ๊กน้อย” ว่ายังไม่ลาออก แต่ยอมรับว่ามีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องดังกล่าวจริง

ล่าสุด (24 พ.ค.) “บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะนายทะเบียนพรรคเศรษฐกิจไทย ก็ออกมาเปิดเผยว่า มีกรรมการบริหารพรรค 15 คน ยื่นหนังสือลาออกต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเรียบร้อยแล้ว...ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าที่ลาออกนั้นล้วนเป็นคนใกล้ชิดของผู้กองธรรมนัสทั้งสิ้น

พรรคเศรษฐกิจไทย มีกรรมการบริหารพรรค 22 คน เมื่อลาออกเกินครึ่งหนึ่ง ก็มีผลให้กรรมการบริหารฯ สิ้นสภาพไปทั้งคณะ และจะเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ใน 45 วัน ...ทำให้ต่อมา “บิ๊กน้อย” ต้องออกมาแถลงข่าวลาออกจากหัวหน้าพรรค

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า แม้ “บิ๊กน้อย” จะเป็นน้องรักของ “ลุงป้อม” และยืนอยู่ในจุดที่ต้องสนับสนุนรัฐบาล...แต่ต้องไม่ลืมว่าในอดีตเขาเคยเป็นคู่ชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ. กับ “ลุงตู่” มาก่อน การลาออกครั้งนี้ อาจเป็นเรื่องจำใจ แต่ไม่เสียใจก็เป็นได้

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า - พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
ชื่อ “ผู้กองธรรมนัส” ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย โดดเด่นขึ้นมาทันที หากมีการตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และหลังจากนี้ เกมสภาจะร้อนฉ่า แม้จะยังไม่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ตาม ...เพราะการพิจารณากฎหมายสำคัญอาจถูกคว่ำเมื่อไรก็ได้

“ลุงตู่” จะแก้เกมนี้อย่างไร ...การยุบสภาจะเกิดขึ้นหลังประชุมเอเปก ตามที่ “ลุงป้อม” ว่า หรือ ยุบก่อนการประชุมเอเปก ตามที่ “ทักษิณ” บอก ...ต้องจับตา



**ดรามาชัชชาติ “นั่งกระโหย่ง” ไหว้พระ ที่จริงมีมาแต่โบราณ

ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ตอนนี้จะเคลื่อนไหวทำอะไรล้วนเป็นกระแส สร้างความสนใจให้ผู้คนในสังคมได้ตลอด อย่างเช่น “ท่านั่งไหว้พระขอพร” ก็กลายเป็นดรามาในโลกโซเชียลฯ

เรื่องของเรื่องมาจากที่เจ้าตัวได้โพสต์ภาพพร้อมแคปชัน ว่า “ใส่บาตรวันเกิดตลาดชุมชนตรอกพระเจน เอาบุญมาฝากทุกท่านนะครับ”

ปรากฏว่า มีความเห็นหลากหลายจากชาวเน็ตที่ได้เห็นภาพ บ้างก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นท่านั่งแปลกๆ ท่านั่งแบบบุรุษผู้แข็งแกร่งสุดในปฐพี และบ้างก็ชื่นชมในความเรียบง่ายของชัชชาติ ที่ทำบุญคล้ายวันเกิดเข้าสู่ปี 56 ของตนเอง

ความนี้ เพจ “โบราณนานมา” ได้โพสต์ให้ข้อมูลในหัวเรื่อง “นั่งกระโหย่ง” การนั่งไหว้พระแบบสมัยโบราณ ที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย

โดยระบุว่า เห็นว่า มีคนดรามาท่านั่งไหว้พระของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ บางกลุ่มติงว่าไม่เหมาะสมบ้าง ไม่สมควรบ้าง จริงๆ แล้วท่านั่งนี้ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ย้อนไปไกลถึงสมัยพุทธกาลเลย ในภาษาไทยเรียกการนั่งแบบนี้ว่า “นั่งกระโหย่ง”

ในประเทศไทยสมัยก่อนใช้ “นั่งกระโหย่ง” มานานแล้ว เป็นเรื่องปกติและสุภาพ แต่เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น “ท่าเทพบุตร” และ “ท่าเทพธิดา” ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึง ๕ นี่เอง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ในสังคมไทยบัญญัติรู้กันว่า “ท่าเทพบุตร” และ “ท่าเทพธิดา” นั้นสุภาพเรียบร้อย พอเห็นพระ หรือใครที่นั่งใน “ท่ากระโหย่ง” ประคองอัญชลี ก็มักจะติเตียน แทนที่จะสอบถาม และหาความรู้

ท่านั่งสำหรับทำวินัยกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในกรณีที่ใช้กราบเรียน และแสดงความเคารพอย่างสูงเรียกขานในภาษาบาลีว่า “อุกฺกุฏิก” (ukkuṭika) และนิยมแปลไทยว่า “นั่งกระโหย่ง” เป็นรูปแบบมาตรฐานในการขอพระอุปัชฌาย์ การขอบรรพชา อุปสมบท และปลงอาบัติ ปรากฏสำนวนในพระวินัยปิฎกหลายแห่งว่า “ปาเท วนฺทิตฺวา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อญฺชลิํ ปคฺคเหตฺวา ….” = กราบแทบเท้าแล้วนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี

ในอุษาคเนย์ ทางพม่าและกัมพูชา เป็นที่เข้าใจกันว่า อุกฺกุฏิก = ท่านั่งยอง (squatting) โดยฝ่าเท้าราบเต็มบนพื้น สนเท้าชิดก้น เข่าค้ำหน้าอก หลังโก่งงอ แต่ในประเทศไทยปัจจุบันไม่นิยมใช้ท่านี้ หากใช้เป็นท่านั่งคุกเข่าทับสนเท้า หลักฐานชั้นเก่าแก่ในประเทศไทยเช่น ภาพจิตรกรรมและประติมากรรมอายุหลายศตวรรษก่อนปรากฏว่า ท่านั่งยองในวินัยกรรม และบางพื้นที่ก็ยังมีการใช้ท่านี้อยู่ เรียกได้ว่าเป็นท่าที่ใช้แพร่หลายในประเทศพุทธศาสนาสายเถรวาท แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน

การนั่งแบบพับเพียบขัดสมาธิ เทพบุตร เทพธิดา ก็เรียบร้อยดี ไม่มีการปรับอาบัติ ในท่านั่งเหล่านี้ แต่ถ้าเราได้รู้ธรรมเนียมการ “นั่งกระโหย่ง” ตามพระบาลีแสดงไว้ เพื่อสืบทอดต่อไป ให้ชนรุ่นหลังได้รู้ได้เห็นไว้ ก็คงไม่เสียหาย เพราะคำว่า “อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา” ในพระไตรปิฎกมีเยอะมาก และคนไทยเราส่วนมาก ยังไม่รู้ว่านั่งอย่างไร แต่พม่า หรือศรีลังกา มีให้เห็นโดยทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลก

การนั่งยองๆ เป็นท่านั่งที่อยู่คู่มนุษยชาติมาอย่างยาวนาน ต่อมาโลกตะวันตกได้เปลี่ยนจากนั่งยอง เป็นนั่งราบ จนไม่สามารถนั่งยองเต็มเท้าได้อีก ส่วนโลกตะวันออกยังคงมีการนั่งยองๆ กันอยู่เป็นปกติ

เมืองไทยแต่ก่อนก็นั่งยองๆ ไหว้พระ เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น “ท่าเทพบุตร” และ “ท่าเทพธิดา” ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึง ๕ นี่เอง

ป.ล. ไม่ได้บอกว่า คุณชัชชาติ นั่ง “นั่งกระโหย่ง” ตามแบบโบราณแต่อย่างใด แต่ที่จะสื่อคือ การ “นั่งกระโหย่ง” หรือยองๆ แบบนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องผิดแปลกอะไร เป็นเรื่องปกติในสังคมโบราณ และปัจจุบันยังปรากฏในพม่าและศรีลังกาด้วย

นี่ก็เป็นความรู้ที่ชาวโซเชียลฯ ต้องพึงสดับรับฟังเอาไว้ดับดรามากันนะจ๊ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น