xs
xsm
sm
md
lg

หัวหน้าพรรค 'แนวทางใหม่' อาลัย 'น้องปลอบขวัญ' จี้ รัฐบาลใส่ใจปัญหาสังคม หนุน โรงเรียนต้องมีนักจิตวิทยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (17 พ.ค.)นายธวเดช ภาจิตรภิรมย์ หัวหน้าพรรคแนวทางใหม่ กล่าวถึงกรณี 'น้องปลอบขวัญ’ เด็กนักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนสตรีพัทลุง ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม เนื่องจากต้องเผชิญมรสุมชีวิตในหลายด้าน ทั้งจากปัญหาครอบครัวและโรงเรียนที่ปฏิเสธให้เรียนต่อเนื่องจากไม่มีเงินมาเรียน ครูจึงแนะนำให้ลาออกไปเรียนที่อื่น ซึ่งภายหลังทางโรงเรียนชี้แจงว่าอาจมาจากการสื่อสารที่ผิดพลาดและความเข้าใจคลาดเคลื่อน ว่า ตนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปก่อนวัยอันควรของเด็กคนหนึ่งที่ควรอยู่ในวัยที่มีแต่ความสดใสร่าเริงและมีหวังต่ออนาคต

นายธวเดช กล่าวต่อว่า ในโลกของความเป็นจริงที่เธอพบกลับมีแต่ความโหดร้ายเหลือเกิน เด็กวัยแค่นี้ต้องเจอกับปัญหารอบด้าน ทั้งจากบ้านหลังแรกคือครอบครัวที่แตกแยกและมีปัญหาการพนันรวมถึงการคุกคามทางเพศส่วนโรงเรียนซึ่งควรเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองก็ไม่พร้อมจะรับฟังปัญหาของเธอ บ้านทั้งสองหลังล้วนปิดประตูใส่จนนำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้ ตนขอให้น้องปลอบขวัญเดินทางสู่ภพภูมิที่ดีและมีแต่ความสุขหลังจากนี้

"สาเหตุสำคัญของเรื่องนี้ยังถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอันสืบเนื่องมาจากความล้มเหลวของรัฐบาลด้วย เพราะได้ปล่อยปละละเลยปัญหาสังคมมาอย่างยาวนาน ทุกวันนี้บอกได้เลยว่า เดินไปไหนก็มีแต่ความรุนแรง ยาเสพติด การพนัน แพร่กระจายไปหมดทุกพื้นที่ ซึ่งพัวพันไปสู่ปัญหาหนี้สินและอื่นๆที่ตามมา ตนจึงอยากให้รัฐบาลใส่ใจแก้ปัญหาสังคมมากกว่านี้ รวมถึงต้องมีสวัสดิการที่ครอบคลุม โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาต้องกล้าลงทุนเพื่ออนาคตให้การเรียนของเด็กๆเป็นเรื่องที่ฟรีจริง ไม่ใช่ภาระที่ผู้ปกครองกับโรงเรียนรับไม่ไหวจนต้องผลักไสกันไปมา โดยที่รัฐบาลเอาแต่ลอยตัวเหนือปัญหา"นายธวเดช กล่าว

นายธวเดช กล่าวต่อว่า ตนอยากให้ทุกฝ่ายเก็บเรื่องนี้เป็นบทเรียนและช่วยกันหาทางออกให้กับเด็กๆเมื่อเจอปัญหา อย่าปล่อยให้พวกเขามืดแปดด้านจนเลือกทางออกสุดท้ายด้วยการจบชีวิตตนเอง พอเป็นข่าวก็แก้ตัวแล้วสังคมก็ลืมเลือนเมื่อเวลาผ่านไป

"ผมเห็นด้วยและสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนต้องมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนเพื่อคอยช่วยเหลือรับฟังเด็กๆ อย่างในเคสนี้ เมื่อนักเรียนโทรมาปรึกษาครูด้วยความเครียดจากที่บ้าน แต่กลับถูกคำพูดแบบบั่นทอนจิตใจให้ลาออกไปเรียนใกล้บ้าน ซึ่งผมเชื่อว่าครูอาจไม่ได้ตั้งใจให้ผลออกมาแบบนี้ แต่ก็ไม่มีจิตวิทยามากพอในการรับฟังหรือสื่อสารเพื่อแก้ปัญหา เรื่องแบบนี้จึงต้องการผู้มีความรู้ความเข้าใจเฉพาะคอยรับฟังโดยตรง เพราะจะปล่อยให้เป็นภาระของครูไม่ได้เช่นกัน"

นายธวเดช ยังกล่าวต่อว่า แต่ละยุควิธีคิดเกี่ยวกับการศึกษาอาจต่างกัน ครูรุ่นตนยังเด็กส่วนใหญ่อาจถูกปลูกฝังมาแบบครูไหวใจร้าย ต้องเข้มงวด ดุร้ายแล้วเด็กจะได้ดี แต่ไม่เข้าใจมุมมองแบบศึกษาสมัยใหม่ที่มองเด็กอย่างหลากหลายและมีวิธีการกระตุ้นการเรียนรู้โดยเคารพสิทธิในร่างกายและให้ความสำคัญกับจิตใจ ช่องว่างนี้จึงเป็นเรื่องที่ยังต้องการการปรับภูมิทัศน์ใหม่ในสถานศึกษา การมีนักจิตวิทยาเป็นตัวกลางในโรงเรียนจะช่วยในการเชื่อมความเข้าใจระหว่างวัย เพื่อช่วยกันทำให้โรงเรียนเป็นเซฟโซนให้เด็กๆได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อโลกโหดร้ายกับเขาแล้วโรงเรียนกลับร่าวมทำร้ายอีก แล้วแบบนี้เด็กๆจะอยู่ได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น