xs
xsm
sm
md
lg

หน.พรรคกล้า นำถกโอกาสเศรษฐกิจ วางแผนเพิ่มสร้างรายได้ให้คนรุ่นใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กรณ์” ชวนถกโอกาสทางเศรษฐกิจยุคใหม่กับ “ท็อป-จิรายุส แห่ง บิทคัพ” วางแผนสร้างแพลตฟอร์ม NFT สัญชาติไทย เพิ่มรายได้ให้คนรุ่นใหม่

วันนี้ (21 ส.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะอดีตประธานไทยฟินเทค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมคุยและแชร์ประสบการณ์ กับ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งบิทคัพของเมืองไทย พร้อมด้วย นางสาวภรณี วัฒนโชติ รองโฆษกพรรคกล้า และ นางสาวพัสณิชา เอี่ยวอุดมสิน บิทคัพ อคาเดมี ในหัวข้อ “จุดเปลี่ยนสำคัญสู่ยุคสินทรัพย์ดิจิทัล”
โดยการพูดคุยดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายกรณ์ ได้ลุกขึ้นมาสร้างสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ NFT เป็นภาพวาดดิจิทัลสุนัขพันธ์ เฟรนซ์ บลูด็อก 20 ตัว ในโปรเจกต์ Mission Pawsible ไปประมูลขายบนแพลตฟอร์มซื้อ-ขายงานศิลปะระดับโลกอย่าง “โอเพ่นซี” (opensea.io) รายได้ทั้งหมด จะนำไปบริจาคช่วยเหลือสุนัขใน 3 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธิ Dog Trust ในประเทศอังกฤษ และ 2 มูลนิธิของไทย คือ เดอะวอยซ์ เสียงของเรา และ เกาะ สุนัข ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด โดยจะปิดการประมูลขายเที่ยงคืนวันที่ 26 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสุนัขโลก

นายกรณ์ กล่าวว่า โครงการ Mission Pawsible เกิดขึ้นเพื่อจุดประกายให้ หันมาสนใจ crypto currency ที่ไม่ใช่แค่สกุลเงิน แต่สามารถสร้างเป็น NFT ได้ ที่สามารถสร้างเงินได้ และเชื่อว่า ในอนาคตนอกจากจะสามารถรักษามูลค่าไว้ได้แล้ว ยังมีแนวโน้มโอกาสที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นคำตอบเอง โดยเฉพาะโจทย์ที่ท้าทายว่า แท้จริงแล้วคนชอบที่จะถือครองงานศิลปะในรูปของ NFT หรือในรูปของกระดาษกันแน่ วันนี้เรามีสินทรัพย์บางอย่างที่สร้างขึ้นมาในโลกดิจิทัล มันก็ควรจะอยู่ในรูปดิจิทัลมากกว่า ยกตัวอย่าง ทวิตแรกของ แจ๊ค ดอร์ซี่ ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ ก็ถูกนำมาขายในรูปแบบ NFT

ด้าน นายจิรายุส มองว่า แนวทางที่ นายกรณ์ ได้ทำอยู่นี้ อาจจะเป็นโมเมนต์แรกที่เปลี่ยนโลกของการบริจาค เพราะเชื่อว่ายังไม่มีใครทำในลักษณะแบบนี้ นอกจากนี้ ยังมองว่า NFT จะมีอนาคตไปอีกไกล เพราะแม้แต่บิทคอยต์ ที่มีอายุ 13 ปี วันนี้ก็ยังอยู่ และไม่มีใครสามารถแฮกข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัว สนใจที่จะสร้างแพลตฟอร์มสัญชาติไทย เพราะดิจิทัล อีโคโนมีเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และจะอยู่กับเราไปอีกนาน

สอดคล้องกับ นางสาวภรณี ที่มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมี แพลตฟอร์ม NFT เป็นของตัวเอง เพื่อส่งต่อไปยังคนทั่วโลกให้เข้ามาใช้ NFT ที่อยู่แพลตฟอร์มของคนไทย มันเป็นความภาคภูมิใจที่เราควรจะมี และไม่ควรพลาดโอกาสนี้ เพราะหากเราไม่ทำ ประเทศอื่นก็ต้องทำ สุดท้ายเราก็จะเป็นทาสทางเทคโนโลยีของประเทศอื่น ประเทศไทยควรมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตัวใหม่ ไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่มีโอกาสเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอะไรเลย ต่างชาติก็จะไม่เข้ามาลงทุน สุดท้ายเราจะเสียโอกาสไป

ซึ่งในประเด็นนี้ นายกรณ์ กล่าวเสริมว่า ไม่เพียงแต่ต่างชาติไม่เข้ามาลงทุนในไทยเท่านั้น แต่เราอาจต้องเสียคนไทยเก่งๆ ไปทำงานที่อื่นด้วย แทนที่โอกาสดีๆ จะอยู่ในมือคนรุ่นใหม่กลับกลายเป็นว่าใครที่อยากมีอาชีพทางนี้ต้องออกไปทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม ล่าสุด แพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง อาลีบาบา ก็เปิดตลาด NFT แล้ว ซึ่งเป็นสัญญานว่าเราจะช้าไม่ได้ เราไม่ได้ใหญ่กว่าเขา หรือว่ามีอะไรมากกว่าเขา ต้องอาศัยความชัดเจนและความว่องไวในการจะแข่งขัน

เมื่อถามาว่า NFT จะสามารถต่อยอดกับอะไรได้ในอนาคต หัวหน้าพรรคกล้า ก็บอกว่า อุตสาหกรรมนี้เพิ่งเริ่มต้น มันยังมีวัฏจักรที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง แม้ยูสเคส ตอนนี้จะมีเพียงงานศิลปะ และเกม แต่ในอนาคตเชื่อว่าไปได้ไกลในตลาดนี้ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการมีหลายเรื่องที่จะสามารถนำ NFT มาประยุกต์ใช้ แต่เนื่องจากโดยธรรมชาติราชการจะช้ากว่า ก็เลยมองว่าวงการเกม น่าจะเป็นพื้นที่ในการพัฒนา NFT ได้เร็วที่สุด ที่น่าสนใจคือ เราเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ใช่ตัวแพลตฟอร์มที่เป็นเจ้าของ ดังนั้นในอนาคตก็น่าจะมีโอกาสในการนำ NFT จากเกมเราไป ใช้ในอีกเกมหนึ่งได้ ซึ่งจะทำให้การค้า การขาย การพัฒนาตัว NFT ไปได้เร็วขึ้น โลกของเกมเป็นเรื่องที่น่าจับตามองที่สุด

นายจิรายุส กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยส่วนตัวตื่นเต้นและเชื่อว่า ตลาด NFT จะใหญ่กว่าที่บิทคัพที่ทำอยู่ เนื่องจากสามารถสร้างตัวแทนของทรัพย์สินต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของดิจิทัลได้ ทั้งที่มีมูลค่า และความเชื่อ หรือคตินิยม ของแต่ละคน ซึ่งมันมีหลายรูปแบบมาก ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ คือ เส้นทางของอุตสาหกรรมการเงินเราเติบโตมากับ ไฟแนนซ์ 1.0 เราคุ้นเคยกับ สาขาของธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม เครื่องนับเงิน บัตรเครดิต เพราะมันถูกสร้างบนความเชื่อที่ว่าเงินคือกระดาษ จากนั้นในรอบสิบปี เราเริ่มเห็น ไฟแนนซ์ 2.0 คือ เริ่มมีดิจิทัลแบงกิ้ง โมบายแบงกิ้ง มีพร้อมเพย์ คือ การเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ยังคงรวมกับรูปแบบเดิมคือยึดธนาคารเป็นหลักบนสมมติฐานเดิมเงินคือกระดาษ แต่ตอนนี้เริ่มมีการใช้ สินทรัพย์ดิจิทัล ใช้เงินสกุลดิจิทัล เรากำลังสร้าง ไฟแนนซ์ 3.0 ขึ้นมา คือเอาตัวกลางออก แล้วสร้างสมมติฐานใหม่ว่า ว่า เงินคือคอมพิวเตอร์โปรแกรม เงินคือลอจิกของเลขแล้ว ซึ่งมันคล้ายๆ กับอุตสาหกรรมเพลง เมื่อก่อน จาก 1.0 มีเทป ซีดี มาสู่ 2.0 มี Sony wolkman มีไอพอต ตอนนี้เพลงก็เป็น 3.0 แล้ว คือ อยู่ที่ไหนก็ฟังได้ผ่านทาง youtube Netflix linetv ซึ่งล้วนแต่เป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติทั้งหมด
“ในแวดวงการเงิน เมืองไทยยังให้ความสำคัญกับผู้เล่น 1.0 เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ แต่ในอนาคตดิจิทัล อีโคโนมี จะใหญ่มาก ในขณะที่เรายังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัลที่จะรองรับเลย ไฟแนนซ์ 3.0 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของคนรุ่นใหม่ จึงควรมีและควรทำอย่างยิ่ง” นายจิรายุส กล่าว

นายกรณ์ ได้กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ปัญหาที่เกิดจากเทคโนโลยีจะถูกแก้ด้วยเทคโนโลยี


กำลังโหลดความคิดเห็น