xs
xsm
sm
md
lg

ทำงานไม่สะดวก! “บิ๊กวิน” ไฟเขียวปรับใหม่ยกชุดคนนอก-บอร์ดคัดบิ๊กโปรเจกต์ กทม.เปิดให้เอกชนลงทุน PPP กว่า 1 แสนล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แ“บิ๊กวิน” ไฟเขียวปรับใหม่ยกชุด “บอร์ดคัดโครงการ กทม.เกิน 500 ล้าน เปิดให้เอกชนลงทุน PPP เฉพาะปี 63 โรงบำบัดน้ำเสีย-รถไฟฟ้า กว่า 1 แสนล้าน สำนักคลังฯ อ้างไม่สะดวก เหตุต้องพิจารณางบลงทุน กทม.ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนจัดสรรงบก้อนใหม่ แถมบิ๊กโปรเจกต์มีเยอะ ดันเพิ่มข้าราชการแทนคำสั่งเดิมที่ดึงคนนอกมหาดไทย-สภาพัฒน์-ก.คลัง ตรวจโครงการแทนคน กทม.

วันนี้ (19 ส.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ลงนามเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักการคลัง กทม. ให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมโครงการที่จะใช้งบประมาณของ กทม.ตั้งแต่ 500 ล้านบาท” โดยให้เพิ่ม “ข้าราชการประจำ กทม.” เข้ามาเป็น กรรมการฯ มีอำนาจให้ทุกหน่วยงานที่มีงบลงทุนตั้งแต่ 500 ล้านบาท ต้องส่งโครงการให้กรรมการชุดนี้พิจารณาว่าสมควรใช้งบ กทม. หรือควรนำไปดำเนินการในรูปแบบการใช้เอกชนร่วมลงทุน (Public Private Partnership : ppp) โดยสำนักการคลังจะเป็นฝ่ายเลขานุการในการนำเสนอแนวทางการเสนอโครงการฯ

ทั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมของผู้ว่าฯ กทม.ที่แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของ กทม. ตามคำสั่ง กทม.ที่ 2928/2560 ลงวันที่ 26 ก.ย. 2560 ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนลำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง เนื่องจากความไม่สะดวกในเรื่องบประมาณของ กทม.เอง

ข้อเสนอดังกล่าวเนื่องจาก กทม.มีโครงการขนาดใหญ่ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องผูกพันงบประมาณหลายปีเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีภาระผูกพันตามสัญญาของโครงการต่อเนื่องที่ต้องใช้งบประมาณ กทม.ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2572 รวม 35,141.74 ล้านบาท (ไม่รวมมูลค่าโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2572)

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กทม.มีโครงการ ในมูลค่าการลงทุนรวม 114,500 ล้านบาท ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เสนอโครงการ PPP รถไฟฟ้ารางเบาสายบางนา-สุวรรณภูมิ วงเงิน 27,000 ล้านบาท และสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9-ทองหล่อ-ท่าพระ วงเงิน 45,000 ล้านบาท แต่จะเริ่มดำเนินการเฟสแรกจากวัชรพล-พระราม 9-ทองหล่อ ระยะทาง 16.25 กม.จำนวน 15 สถานี ยังมีสำนักการระบายน้ำเสนอโครงการบำบัดน้ำเสียที่คลองเตย วงเงิน 18,000 ล้านบาท บึงหนองบอน 10,000 ล้านบาท เคหะชุมชนร่มเกล้า 1,500 ล้านบาท และธนบุรี 13,000 ล้านบาท

“ผู้แทนจากหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ อาจมีความไม่สะดวก เนื่องจากเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับการใช้เงินงบประมาณของ กทม. และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนจัดสรรงบประมารายจ่ายประจำปี และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของ กทม.มีเป็นจำนวนมาก จะต้องดำเนินการในรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม จึงต้องใช้บุคลากร กทม.ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการช่วยตรวจสอบความเหมาะสม พิจารณาแหล่งที่มาของเงินทุนและรูปแบบการลงทุนขนากใหญ่ของ กทม. เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ากับงบประมาณ”

กรอปกับ กทม.ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินการโครงการใหม่ที่มีวงเงินของโครงการตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 20 โครงการ และต้องใช้งบประมาณ กทม.ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2567 มีมูลค่ารวม 28,241.10 ล้านบาท โดยมีสำนักการโยธา สำนักระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบโครงการ

สำหรับการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษฯ นั้น เดิม กทม.เห็นว่าเพื่อให้การดำเนินการพัฒนาตามยุทธศาสตร์อนาคต จะพึ่งพางบประมาณอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการผลักดันให้เป็นไปตามเป้า จะต้องหาแนวทางวิธีการบริหารจัดการโครงการในรูปแบบอื่นที่จะสามารถดำเนินการโครงการได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของ กทม.เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของ กทม. โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินลงทุนตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสนอให้คณะกรรมการร่วมทุนของ กทม.พิจารณาความเหมาะสมโครงการจะใช้งบประมาณของ กทม. หรือให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ให้หน่วยงานเร่งเสนอโครงการพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2564-2565


กำลังโหลดความคิดเห็น