xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเข้ม ห้าม ขรก.ลายาว เพิ่มด่านคุมเคลื่อนย้ายคน ยังไม่สรุปประเภทร้านค้าคลายล็อกดาวน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล แถลง ครม.ไม่เลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์เดือน พ.ค. นายกฯ สั่งเข้มห้าม ขรก.ลายาว เพิ่มด้านตรวจค้นในพื้นที่ ห้ามเคลื่อนย้ายคน-รวมตัวทำกิจกรรม ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คง 4 มาตรการ วาง 3 หลักผ่อนคลาย ยังไร้ข้อสรุปประเภทร้านค้าที่จะผ่อนคลายให้เปิดบริการได้

วันนี้ (28 เม.ย.) เวลา 13.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติไม่เลื่อนวันหยุดพิเศษในเดือน พ.ค.นี้ ทั้ง 4 วัน คือ วันแรงงาน วันฉัตรมงคล วันวิสาขบูชา และวันพืชมงคล ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากประชาชนว่าถึงแม้จะเป็นวันหยุด แต่ขอให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ งดการเดินทางข้ามเขต ข้ามพื้นที่จังหวัด หรืองดการรวมตัวไปทำกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กำชับในเรื่องดังกล่าวว่า แม้จะกำหนดให้เป็นวันหยุด แต่ในส่วนของข้าราชการห้ามไม่ให้มีการอนุมัติวันลาติดต่อกันอย่างเด็ดขาด และคุมเข้มเรื่องของการตั้งด่านตรวจค้นในแต่ละพื้นที่มากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายคน การรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อได้

นางนฤมลกล่าวต่อว่า ครม.เห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เสนอขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ถึงวันที่ 31 พ.ค. ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบค. พิจารณาเห็นชอบ โดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานในที่ประชุมว่า เห็นควรให้คงมาตรการ และข้อกำหนดที่ปฏิบัติอยู่ขณะนี้ ได้แก่ (1. การจำกัดการเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. (2. ห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. (3. งดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น และ (4. ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นางนฤมลกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การปฏิบัติการในห้วงต่อไปให้ ศบค.เป็นกลไกหลัก ในการกำหนดกฎเกณฑ์การบังคับใช้อำนาจ ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในด้านต่างๆ กรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่กำหนดในรายละเอียดการปฏิบัติงานตามประเภทของภารกิจ และความรับผิดชอบของตนในพื้นที่ อีกทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัด ตรวจสอบคนไทยในต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อให้ได้จำนวนที่ชัดเจน และประสานกับ ศบค.เพื่อเตรียมการรองรับกลุ่มบุคคลดังกล่าว

นางนฤมลกล่าวต่อว่า ในห้วงต่อไปๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลายมาตรการการังคับใช้ต่างๆให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ศบค.และภาคธุรกิจทุกภาคส่วน ร่วมกัน กำหนดมาตรการผ่อนคลายตามแนวทางหลัก 3 แนวทาง คือ 1. ผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม มาประกอบพิจาณา 2. ให้พิจารณาประเภทกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นอันดับแรกและบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคควบคู่ไปด้วยอย่างเข้มงวด ซึ่งถ้าพิจารณาผลสัมฤทธิ์ในแต่ละวงรอบและพบว่าสถานการณ์ดีขึ้น อาจมีการกำหนดมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่หากพบมีการฝ่าฝืน หรือสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ก็อาจมีการยกเลิกมาตรการผ่อนคลาย และ 3. ในห้วงที่ดำเนินมาตรการผ่อนคลาย จะมีการเร่งรัดการตรวจเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว กลุ่มทำงานอาชีพบริการ โดยใช้เทคโนโลยีติดตามควบคู่กันไปเพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้เชื้อกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม รายละเอียดร้านค้าประเภทใดจะสามารถเปิดได้ หรือดำเนินการอย่างไรบ้างนั้น ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ


กำลังโหลดความคิดเห็น