xs
xsm
sm
md
lg

เตือน 4 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเตรียมรับน้ำสูงขึ้นอีก 1 เมตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชัยนาท - เขื่อนเจ้าพระยามีเกณฑ์ระบายน้ำ 2,500 ลบ.ม. เตือนพื้นที่ท้ายเขื่อน 4 จังหวัด เตรียมรับน้ำสูงขึ้นอีก 1 เมตร หลังได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่" ส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (25 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ ในวันนี้มีปริมาณ 2,172 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี มีปริมาณ 229 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำสะแกกรัง ที่ไหลไปรวมกันที่ จ.ชัยนาท ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่ อ.เมืองชัยนาท สูงขึ้น 21 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 16.50 เมตร (รทก) เขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มระบายน้ำเป็น 2,072 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา น้ำสูงขึ้น 34 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 14.41 เมตร (รทก)

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 14/2564 ลงวันที่ 25 ก.ย. เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา โดยจากการคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 24-25 ก.ย. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังจากพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่" ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 กันยายน 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ทั้งนี้ อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้ประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางมีฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงดังกล่าวแล้วคาดว่าจะส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุดบริเวณสถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ว่าแม่น้ำสะแกกรัง จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จังหวัดอุทัยธานี อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้ กอนช. มอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการชะลอน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ร่วมกับการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งและพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30-1.00 เมตร ในช่วงวันที่ 27-30 ก.ย. ดังนี้

1.จังหวัดชัยนาท ตำบลโพนางดำ อำเภอสรรพยา 2.จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี อำเภอเมือง และวัดเสือข้าม ตำบลประศุก วัดสิงห์ ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี 3.จังหวัดอ่างทอง คลองโผงเผง วัดไชโย ตำบลไชโย อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมก 4.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลองบางบาล ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่ แจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

รวมทั้งผู้ประกอบกิจการในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที






กำลังโหลดความคิดเห็น