xs
xsm
sm
md
lg

ภาคท่องเที่ยวชลบุรีเชื่อรัฐจัดสรรวัคซีนไม่ครบ 70% เดือน ต.ค.นี้ เห็นภาพธุรกิจใหญ่ปิดตัวแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี เชื่อโครงการ Pattaya Move On แก้วิกฤตท่องเที่ยวได้แต่รอปัจจัยคือ การจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนครบ 70% ต้องทันก่อนเดือน ต.ค. ชี้หากทำไม่ได้เห็นภาพธุรกิจใหญ่ปิดถาวรไม่น้อยกว่า 20-50%

วันนี้ (30 พ.ค.) นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี ได้ออกมาสนับสนุนการดำเนินโครงการ Pattaya Move On ซึ่งเมืองพัทยาและผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ร่วมกันนำเสนอต่อรัฐบาลด้วยหวังจะแก้วิกฤตการณ์ด้านการท่องเที่ยวของเมืองพัทยาในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 ตามแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ภายใต้เงื่อนไขที่นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเดินทางมายังประเทศไทยและเมืองพัทยาจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบแล้วทั้ง 2 โดสจึงจะไม่ถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และจะต้องท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ที่ระบุไว้ก่อนการเดินทางเป็นเวลา 7 วัน จึงจะเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ของไทยได้ในช่วงเวลาที่เหลือ

“แต่สิ่งสำคัญคือ พื้นที่ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อย่างเช่น เมืองพัทยา จะต้องมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนและภาคบริการได้ครบ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเสียก่อน จากนั้นจึงจะต้องจัดการระบบการรับตัวนักท่องเที่ยวจากสนามบินสู่ที่พักก่อนนำไปสู่การเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ที่จะต้องมีการจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อติดตามเส้นทางเดินทางต่อไป”


นายธเนศ ยังเผยอีกว่า แผนดำเนินการดังกล่าวรัฐบาลได้รับปากว่าจะนำเสนอต่อ ศบค. เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดปริมาณวัคซีนที่จะส่งตรงให้แก่เมืองพัทยา เพื่อฉีดให้ครบตามจำนวนจากเดิมที่ในเดือน มิ.ย.นี้ มีโควตาที่จะได้รับวัคซีนจำนวน 54,000 โดส ส่วนเดือน ก.ค. อีก 500,000 โดส และเดือน ส.ค.อีก 700,000 โดส

“เรื่องการฉีดวัคซีนให้ครบ 70% ของประชากรในเมืองพัทยาและบางละมุงให้ทันตามกำหนดเวลาคือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งได้ทันสถานการณ์ ขณะที่ในอนาคตจะมีวัคซีนเข้ามาอีกจำนวนมาก และจะมีประชาชนเข้ารับการฉีดอีกเยอะ ดังนั้น หากหน่วยงานรัฐยังใช้ระบบการลงทะเบียนแบบเดิมๆ น่าจะเกิดปัญหาได้”


ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรกถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวขนาดเล็กและขนาดกลางปิดตัวไปแล้วกว่า 50% และหากรัฐบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการและเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ทันในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่ปิดตัวเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 20-50% แน่นอน

“เนื่องจากเมื่อถึงวันนี้ผู้ประกอบการคงหมดสภาพในการแบกรับภาระที่ไร้การช่วยเหลือและเยียวยาใดๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจท่องเที่ยวโดยรวมที่จะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล และจะมีปัญหาการว่างงานเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก” นายธเนศ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น