xs
xsm
sm
md
lg

กรมส่งเสริมฯ ตีปี๊บจัดระบบผลิตมัน-โคราชแห่ปลูกคาดทะลัก 80 ล้านตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- กรมส่งเสริมฯ ตีปิ๊บโครงการจัดระบบพิเศษมันสำปะหลัง เผยปี’50/51 นำร่อง 2 จังหวัดโคราช-บุรีรัมย์ เกษตรกรเข้าร่วมกว่า 2 หมื่นคน หวังเพิ่มผลผลิต 5 ตัน/ไร่ภายในปี’51/52 ระบุทุ่มงบฯอีก 15 ล.ขยายโครงการในกำแพงเพชร-สระแก้ว ด้านเกษตรจังหวัด เผยโคราชแหล่งปลูกมันฯมากสุดของไทย เพิ่มพื้นที่อีกกว่า 2 แสนไร่รวมทะลุ 2.1 ล้านไร่ เหตุราคามันฯ พุ่ง กก.ละ 2.5 บาท

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่โรงแรมเฮอร์มิเทจ รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดให้มีการประชุมวิชาการมันสำปะหลัง โครงการจัดระบบพิเศษเฉพาะพื้นที่มันสำปะหลัง ปี 2550/2551 ขึ้น โดยมี นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นประธานเปิดการประชุมฯ ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การตลาดและการแปรรูปมันสำปะหลัง รวมถึงเกษตรกรจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 250 คน

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร เรื่องเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ทั้งด้านการผลิต การตลาด และการแปรรูป รวมถึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดทำโครงการจัดระบบพิเศษเฉพาะพื้นที่มันสำปะหลัง และเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการจัดระบบพิเศษเฉพาะพื้นที่มันสำปะหลังและผลสำเร็จในการจัดทำโครงการดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ

นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกว่า 24 ล้านบาท จากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ในการดำเนินการจัดระบบพิเศษเฉพาะพื้นที่มันสำปะหลังปี 2550/2551 เพื่อจัดระบบการผลิตให้สอดคล้องกับการตลาด และให้กลไกตลาดปกติสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยได้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 5 อำเภอ 2 จังหวัด ประกอบด้วย อ.ครบุรี และเสิงสาง จ.นครราชสีมา และ อ.ปะคำ ,อ.โนนสุวรรณ, อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ที่มีพื้นที่ปลูกมันฯ จำนวน 7 แสนไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 3 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 3.7 ตัน และตั้งเป้าหมายให้เพิ่มผลผลิตเป็นไร่ละ 5 ตันภายในปี 2552 ด้วยการจัดทำแปลงสาธิตการไถระเบิดดินดาน, การจัดระบบน้ำ, การใช้พืชปุ๋ยสด, การใช้ปุ๋ยเคมี และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งโครงการดังกล่าวดำเนินการมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2550 และจะสิ้นสุดโครงการปลายเดือน มี.ค. 2551 นี้

สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 21,000 ราย และสามารถส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรได้ทั้งสิ้น 340 กลุ่ม จัดทำแปลงสาธิตเทคโนโลยีกระจายในพื้นที่โครงการฯ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 9,669 ไร่ ซึ่งได้รับการยอมรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร จึงได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก 15 ล้านบาทให้กรมฯ ขยายพื้นที่ดำเนินการออกไปอีก 2 จังหวัดคือ จ.กำแพงเพชร และ จ.สระแก้ว

ด้าน นายสุพงษ์ สินธุรัตน์ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จ.นครราชสีมามีพื้นที่ปลูกมันฯ มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศจากการสำรวจล่าสุดมีพื้นที่ปลูกมันฯ เพิ่มขึ้นจาก 1.8 ล้านไร่ เป็น 2.1 ล้านไร่ เนื่องจากราคามันฯ มีราคาดีทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยหันมาปลูกมันฯ แทน โดยผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 3.7 ตัน ซึ่งจ.นครราชสีมามีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตให้ได้ 5 ตัน/ไร่ ในปี 2553 ซึ่งการเพิ่มผลผลิตมันฯ นั้น จะไม่เพิ่มพื้นที่ปลูกอีก แต่จะเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่มากขึ้น

“สำหรับฤดูการผลิต 2551/52 คาดว่าจะมีมันสำปะหลังของ จ.นครราชสีมา ออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 80 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นการทยอยออกสู่ตลาดแต่จะออกมากสุดในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.ของทุกปี พันธุ์มันฯ ที่เกษตรกรในโคราชปลูก ถือเป็นพันธุ์มันฯที่ดี ให้ผลิตผลิตเร็วใช้เวลาเพียง 3-5 เดือนสามารถขุดนำออกขายได้” นายสุพงษ์กล่าว

นายสุพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เริ่มเกิดปัญหาเรื่องผลผลิตมันฯ ไม่เพียงพอในการส่งป้อนเข้าโรงแป้งมันฯ และลานมัน เนื่องจากมีโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังเข้ามาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ และความต้องการของตลาดต่างประเทศมีการสั่งซื้อเข้ามามาก ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังพุ่งสูงถึง กก.ละ 2.50 บาท ซึ่งเจ้าของโรงแป้งมันฯ ต้องสั่งมันฯ จากพื้นที่อื่นเช่น จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม เข้ามาเสริม

“ในอนาคตคาดว่าตลาดมันฯ สดใสอย่างแน่นอนเนื่องจากจะมีโรงงานผลิตเอทานอล เข้ามาตั้งฐานการผลิตใน จ.นครราชสีมา เพิ่มอีกหลายแห่ง แต่คงไม่ส่งผลให้มันฯ ขาดแคลนเนื่องจากภาครัฐกำลังเร่งการเพิ่มผลผลิตมันฯ ให้ทันต่อความต้องการ” นายสุพงษ์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น