xs
xsm
sm
md
lg

ซีพี ออลล์ ส่งเสริมการศึกษาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า หนุนนวัตกรรมการเรียนการสอนสู่ผู้บริหาร ผอ. และคณะครูกลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ นำกลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ภายใต้การดูแลของบมจ. ซีพี อออล์ จำนวน 9 โรงเรียน เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “Main Course การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL PLC” ณ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หรือ "โรงเรียนนอกกะลา" อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการศึกษาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า Education for better life ของบมจ.ซีพี ออลล์

โครงการดังกล่าวส่งเสริมให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างแบบอย่างในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน และนวัตกรรมพัฒนาองค์กร ที่ส่งผลในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถึงพร้อมทั้งปัญญาภายใน ผ่านกระบวนการนวัตกรรมจิตศึกษา และปัญญาภายนอกผ่านการเรียนรู้หน่วยบูรณาการ PBL (Problem – Based Learning) ฐานสมรรถนะ การเรียนภาษาไทยโดยใช้วรรณกรรมเพื่อการคิดขั้นสูง การเรียนคณิตศาสตร์ Pro-active และการเรียนภาษาต่างประเทศโดยใช้ Applications ซึ่งผู้เรียนจะได้รับการฝึกฝนแก้ปัญหาจากการจำลองสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะและสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้


นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (รษก) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ในการสนับสนุนโรงเรียนร่วมพัฒนาทั้ง 9 โรงเรียนได้เข้าอบรมในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการศึกษาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า Education for better life ของบมจ.ซีพี ออลล์ และภายใต้กรอบแนวคิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการโรงเรียน 1 ใน 3 มิติ นั่นคือการบูรณาการหลักสูตร นอกเหนือจากการพึ่งพาตนเองได้ และการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ทุกโครงการพัฒนาโรงเรียนต่างก็มีความโดดเด่นและที่มาแตกต่างกันตามบริบทปัญหาของแต่ละที่ เมื่อได้รับงบประมาณดำเนินการจากซีพี ออลล์ไปแล้ว ทำอย่างไรให้โครงการเหล่านั้นเป็นเสมือนสื่อการเรียนรู้ที่จับต้องได้ มีชีวิต มีแนวคิด แนวปฏบัติที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับหลักสูตรแกนกลางทั้ง 8 กลุ่มสาระ และหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ทางศธ.กำลังผลักดัน

ด้านนายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวเสริมว่า การสนับสนุนให้โรงเรียนมาร่วมอบรมสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการฝึกฝนทบทวนทักษะ (Re-Skill) และการเพิ่มทักษะ (Up-Skill) ให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและคุณครูไปในตัว เพื่อกลับไปออกแบบหน่วยการเรียนเฉพาะของตนก่อนพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่มุ่งเน้นดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมาได้อย่างเต็มที่ก่อนส่งต่อให้เขาได้ไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือบางคนอาจต้องออกไปใช้ชีวิตตามเหตุจำเป็นได้อย่างสมบูรณ์พร้อมที่สุด
ทั้งนี้ตัวแทนกลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนาที่เข้าร่วมการอบรมกล่าวทิ้งท้าย ขอบคุณซีพี ออลล์ ที่มอบโอกาสในการอบรมเชิงปฏิบัติการ และร่วมสังเกตการณ์ถึงวิถีชีวิตประจำวัน รวมถึงพฤติกรรมของนักเรียนในสถานที่จริงครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าอย่างยิ่ง ทำให้ครูมีความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้น จึงขอน้อมนำไปปฏิบัติ และปรับใช้เป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนานักเรียนของตนต่อไป

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School เป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาขึ้นโดยนำแนวคิดการดึงภาคเอกชน ชุมชน สังคม และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนขั้นพื้นฐานในแต่ละท้องที่ ผ่านรูปแบบการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและบริหารโรงเรียนในฐานะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และบมจ.ซีพี ออลล์ ก็นับเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ร่วมก่อตั้งโครงการ โดยร่วมโครงการตั้งแต่รุ่นที่ 1 ดูแล 2 โรงเรียน และถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 3 มีโรงเรียนที่ร่วมบริหารรวมทั้งสิ้น 9 โรงเรียน จากกว่า 150 โรงเรียนในโครงการทั่วประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะกลายเป็นโมเดลพัฒนาโรงเรียนที่สามารถแบ่งปันศักยภาพ ทรัพยากรของทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่นมาช่วยกันพัฒนาโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพบรรลุผลในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานรองรับการแข่งขันในตลาดการค้าเสรีต่างๆในอนาคตต่อไป