xs
xsm
sm
md
lg

3 ฉากทัศน์ กสทช. ยุคใหม่ กับกรณีควบรวมทรูดีแทค จุดเปลี่ยนที่เดิมพันด้วยซากปรักหักพังของอุตสาหกรรมฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใกล้ช่วงเลือกตั้งทั้งในสนามกรุงเทพฯและระดับประเทศที่จะมีขึ้นในไม่ช้า ส่งผลให้กรณีการควบรวมทรูและดีแทคในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมบรรดานักการเมืองเริ่มเข้ามาโหนกระแส 

แหล่งข่าวจากวงการนักวิเคราะห์ มองว่า เป็นการสร้างประเด็นขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่ากระแสนี้ยังจุดไม่ติด เนื่องจากขณะนี้มีประเด็นอื่นที่สำคัญและใหญ่กว่า ส่วนกรณีล่าสุดที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีควบรวมทรูดีแทคและการค้าปลีกค้าส่ง ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ชะลอการดำเนินการออกไป ก็ไม่ได้สร้างความตื่นเต้นมากนักเนื่องจากประเด็นคัดค้านไม่มีอะไรแปลกใหม่

การพิจารณาควบรวมกิจการโทรคมนาคมไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ กสทช. ได้พิจารณาให้ผู้ประกอบการสองรายที่ปรับโครงสร้าง ทั้งการควบรวมองค์กรโทรศัพท์และการสื่อสารแห่งประเทศไทย และ ค่ายเอไอเอสที่มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นโดยมีกัลฟ์มาถือหุ้นใหญ่ผ่านทางอินทัช จึงทำให้เหล่านักวิเคราะห์มองเปรียบเทียบกับสำนวนฝรั่งที่ว่า “มีช้างอยู่ในห้อง” หรือ “Elephant in the Room” ซึ่งไม่ได้มีความหมายถึงช้างโดยตรง แต่เป็นการเปรียบเทียบ คำถามหรือ อุปมาอุปมัย ประเด็นขัดแย้ง หมายถึง เรื่องจริงหรือปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น แบบที่เห็นช้างอยู่ต่อหน้าต่อตา แต่คนในห้องกลับปล่อยละเลยโดยเจตนา ตั้งใจทำเป็นมองไม่เห็น ซึ่งก็คือ ธุรกิจโทรคมนาคมไทยเป็นตลาดผูกขาดรายเดียว (Monopolistic market)

“ปี 2564 บริษัทเอไอเอส มีมูลค่าบริษัท 645.3 พันล้านบาท ในขณะที่ทรู มีมูลค่าบริษัท 161.5 พันล้านบาท และ ดีแทค มีมูลค่าบริษัท 110.1 พันล้านบาท หากเปรียบเทียบกับนักมวย คงเปรียบได้กับ ไมค์ ไทสัน ชกกับ สมรักษ์ คำสิงห์ โดยส่วนของกำไรสุทธิ เอไอเอส กำไรต่อเนื่องทุกปี โดยย้อนหลัง 5 ปี กำไรกว่า 150,000 ล้านบาท ในขณะที่คู่แข่งยังปริ่มน้ำจากภาระต้นทุนที่สูง โดยปีล่าสุด 2564 รายได้รวม อยู่ที่ 181,333 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในส่วนกำไรสุทธิ 26,922 ล้านบาท ขณะที่ทรู และดีแทค ผลกำไรรวมกันสองบริษัทยังไม่ถึง 2, 000 ล้านบาท หากเป็นเจ้ามือต้องเรียกว่า กินเรียบอยู่รายเดียว แต่กลับไม่มีใครพูดถึง เข้าสำนวน มีช้างอยู่ในห้อง


ทั้งนี้คงต้องจับตามมองว่า กสทช.ชุดใหม่ จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการแข่งขันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด และยังน่าสนใจอีกว่าฉากทัศน์ต่อไปของโทรคมนาคมไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถพยากรณ์ทิศทางอนาคตออกมาได้เป็น 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ ฉากทัศน์ที่ 1 : กสทช.รักษาสภาพตลาดโทรคมนาคมแบบปัจจุบัน ซึ่งเป็นตลาดผู้นำเดี่ยวรายเดียว (Existing Case: Monopoly & Ineffective Competition) ฉากทัศน์ที่ 2 : กสทช. สนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ สู่การแข่งขันแบบผู้นำสองรายที่แข็งแกร่ง (Approved case: Strong Duopoly Competition) ฉากทัศน์ที่ 3 : กสทช. หน่วงรั้ง การปรับตัวของผู้ประกอบการ สู่การแข่งขันแบบนำห่างของผู้ประกอบการรายเดียว เกิดความไม่เท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมาย (Delayed case: Discrimination) โดยขออธิบายแต่ละฉากทัศน์ ดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 : กสทช. รักษาสภาพ ตลาดโทรคมนาคมแบบปัจจุบัน ซึ่งเป็นตลาดผู้นำเดี่ยวรายเดียว (Existing Case: Monopoly & Ineffective Competition) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันแล้ว บริการโทรคมนาคมในประเทศไทยยังมี ระดับการแข่งขันในหลายตลาดที่ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “การแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ” และยังเป็นตลาดผูกขาดรายเดียว (monopolistic market) โดยมีผู้นำตลาดที่สามารถทำกำไรได้เกือบสามหมื่นล้านบาท มีผลกำไรต่อเนื่องสะสมมากกว่า 20 ปี ในขณะที่ผู้ประกอบการที่เหลือในอุตสาหกรรมยังขาดทุน หรือทำกำไรเพียงเล็กน้อย หรือ อาจเรียกได้ว่าเป็นตลาดกึ่งผูกขาด (oligopolistic market) จึงเข้าสู่ยุคของการหลอมรวม (Convergence) ผ่านการควบรวม กิจการและการสร้างเครือข่ายเสิรมสร้างความแข็งแรงในการปรับตัว จากภาระต้นทุน ดอกเบี้ย การลงทุนต่อเนื่อง และการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ในขณะที่เทคโนโลยีเดิมยังไม่คุ้มทุน

ผลของฉากทัศน์แรกนี้ เกิดสภาพตลาดที่มีการแข่งขันแบบด้อยคุณภาพ เพราะการแข่งขันแบบผูกขาดจะยังไม่ถูกแก้ไข ผู้เล่นที่เหลือในตลาดเกิดความอ่อนแอจากภาระต้นทุน ดอกเบี้ย และ การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ลูกค้าทรูและดีแทค เสียโอกาสในการใช้เครือข่ายร่วมกัน เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ต้นทุนการให้บริการแทนที่จะลดลง ทำให้การแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น ก็จะไม่สามารถแข่งได้ออย่างใกล้เคียง

ฉากทัศน์ที่ 2 : กสทช. สนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ สู่การแข่งขันแบบผู้นำสองรายที่แข็งแกร่ง (Approved case: Strong Duopoly Competition) อุตสาหกรรมมือถือในประเทศไทยได้มีการให้บริการมาเกือบ 30 ปี โดยไม่มีรายใหม่ๆ เข้ามา รายเก่ก็ถอยทัพกลับประเทศ เพราะเสียเปรียบผู้นำในการแข่งขัน อีกทั้งต้นทุนการให้บริการที่สูงขึ้นจากการประมูลคลื่นใหม่ ๆ การขยายอุปกรณ์ทั่วประเทศตามอายุของเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง กระทั่งปัจจุบันกลายมีผู้ให้บริการเพียง 4 ราย ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกจึงเป็นขาลงอย่างปฏิเสธไม่ได้ หาก กสทช. ออกเอกสารเชิญชวนผู้ประกอบการใหม่ มาลงทุนโทรคมนาคม โดยเฉพาะในประเทศไทย คงต้องคิดหนัก เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง มีกฎหมาย กฎระเบียบ การกำกับดูแลมากมาย และ ยังมีเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ยังไม่ทันคืนทุน ก็จะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา จึงแทบไม่เหลือกำไร

ช่วงแรกของโทรคมนาคม มีเพียงเอไอเอส และ แทค ที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ต่อมามีทรูอีก 1 ราย ซึ่งทรูมีการขยายตลาดและมีนวัตกรรม แต่มีภาระต้นทุนสูงและยังขาดทุน ขณะที่ดีแทค เน้นการลดต้นทุน แผนการลงทุนในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน ดังนั้น หากสองบริษัทรวมกันได้ ก็จะทำให้การขยายการลงทุนในประเทศไทยเป็นรูปธรรมและเชื่อว่าลูกค้าได้ประโยชน์ อาทิ 1.การเข้าถึงสัญญาณเครือข่ายดีขึ้น เสาสัญญาณเพิ่มมากขึ้น 2. คลื่นที่ครบถ้วนในทุกย่านความถี่ ทำให้ลูกค้าสามารถใช้มือถือได้ทุกรุ่น รองรับทุกย่านความถี่ เริ่มตั้งแต่คลื่น 700 MHz มีทั้ง 2 ค่าย คลื่น 850 MHz ดีแทคสามารถใช้ของทรูได้ คลื่น 3. มีศูนย์ให้บริการหลังการควบรวมให้ลูกค้าเข้าถึงได้เพิ่มมากขึ้น 4. ลูกค้ามีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีและสิทธิพิเศษที่เพิ่มมากขึ้น 5.ต้นทุนของผู้ให้บริการหลังการควบรวมจะลดลง ทำให้ลูกค้าได้รับประโยขน์จากความคุ้มค่าของบริการที่ได้รับ 6. ผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทุกรายปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ เช่น CAT+ TOT = NT และการที่ AIS มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยมีการลงทุนใหม่โดยกัลฟ์ GULF เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ ลงทุนเพิ่มในอนาคต ทำให้หลังการควบรวม TRUEและ DTAC ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายมีความพร้อมในการแข่งขัน ลูกค้าได้รับบริการดิจิทัลมากขึ้น เช่น บริการแพทย์ทางไกล การประชุมทางไกล การเข้าถึงคอนเทนต์ เพลง หนัง ระดับโลก ในราคาลดลง เป็นต้น

ฉากทัศน์ที่ 3 : กสทช. หน่วงรั้ง การปรับตัวของผู้ประกอบการ สู่การแข่งขันแบบนำห่างของผู้ประกอบการรายเดียว (Delayed case: Discrimination) กรณีการควบรวมทรูดีแทคที่ต้องล่าช้าออกไปย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของกฎกติกาในการดำเนินธุรกิจ และที่สำคัญ ธุรกิจเทคโนโลยี ล่าช้าเพียง 1 วันก็พ่ายแพ้ ธุรกิจโทรคมนาคมที่ยื่นควบรวมเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีประชาชน องค์กรทั้งในและต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้น ความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้วยกระบวนการที่ทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ เป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง และทำให้เกิดคำถามตามมาต่อหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานกำกับ ต้องสวมหมวกผู้ประกอบการ และ ความยากง่ายในการทำธุรกิจ หากพิจารณาด้านการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคม

ดร.ฮามาดูน ตูเร อดีต เลขาธิการเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ "มุมมองของเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กับการกำกับดูแลในยุคหลอมรวมสื่อ" ว่า แนวทางการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ควรเป็นแบบ Light-Touch Regulation คือ การกำกับดูแลแบบไม่ลงไปควบคุมมากจนเกินไป แต่จะปล่อยให้กลไกในตลาดควบคุมกันเอง

ปัจจัยด้านเวลานั้น ถือว่า มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อ เทคโนโลยี ใหม่กำลังจะเข้ามา หากผู้เล่นปัจจุบันมีความอ่อนแอ จะไม่สามารถสู้ศึกในสนามต่อไปได้ การประมูล 4G ในประเทศไทย เป็นผลงาน กสทช. ที่ทำเงินประมูลที่มีมูลค่าสูงถึง 232,730 ล้านบาทให้กับภาครัฐ แต่ก็แถมมาด้วยความสะบักสะบอม ของผู้ประกอบการไทยในการแบกรับดอกเบี้ย พอมาประมูล 5 จี ยังทำเงินเข้ารัฐอีก 100,521 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการไทยแบกโซ่ตรวนหนักอึ้ง และขาดความพร้อมในการลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยีใหม่ 2 ตัว ที่กำลังจะเข้ามาในไม่ช้า ดังนั้น หากการควบรวมของทรูและดีแทค ทำไม่สำเร็จ แน่นอนว่า การเข้าสู่เทคโนโลยี 6G และ การเข้าสู่เทคโนโลยีการโทรผ่านดาวเทียม จะมีผู้ที่พร้อมให้บริการเพียงรายเดียว

โดยสรุปผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดและการกํากับดูแลในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาด และทําให้เราต้องทบทวน กฎเกณฑ์และแนวคิดในการกํากับดูแลกิจการโทรคมนาคมในด้านต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จาก Over Regulated มาสู่ Light Touch Approach เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ การยับยั้งการควบรวม ต้องกลับมาพิจารณาว่า ตลาดการแข่งขันในปัจจุบัน คือสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายควรเป็นหรือไม่ ผู้ประกอบการทุกรายมีความสามารถในการแข่งขันที่เท่าเทียมหรือไม่ ผู้บริโภคจะได้ประโยขน์สูงสุดจริงหรือ หากไม่เกิดการควบรวม หรือ หากการควบรวมไม่สำเร็จ ผู้ชนะตัวจริง อาจเป็นช้างตัวใหญ่ที่อยู่กลางห้อง ที่ไม่มีใครกล้าพูดถึงนั้นเอง เพราะช้างตัวนี้ ผูกขาดผู้นำตลาดมา 30 ปี และมีท่าทีว่าทุกคนจะเห็นดี ให้เป็นเช่นนี้ต่อไปหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น