xs
xsm
sm
md
lg

ส่งคืนสัตว์ป่า! “กวาง-ไก่ฟ้า” เติมความสมดุลระบบนิเวศ ที่อช.แม่วงก์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โครงการส่งสัตว์คืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์" อีกความภูมิใจของคนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามภารกิจเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ และลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า เมื่อวานก่อน (13 สิงหาคม 2564)

สืบเนื่องจากวันแม่แห่งชาติ (12 สิงหาคม 2564) ทางอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพง และหน่วยงานเกี่ยวข้องได้ร่วมกันปล่อยสัตว์ป่า 2 ชนิด คือ กวางป่า และไก่ฟ้าหลังขาวธรรมดา ณ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร

นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กล่าวว่า ที่นี่ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 1-15 กรกฎาคม 2564 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 1-13 สิงหาคม 2564 สัตว์ป่าที่ปล่อยมี 2 ชนิด ได้แก่ กวางป่า จำนวน 32 ตัว และไก่ฟ้าหลังขาวธรรมดา จำนวน 70 ตัว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จังหวัดชลบุรี และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)

“การปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ฟื้นฟูจำนวนประชากรสัตว์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อศึกษาวิจัยและติดตามสถานภาพสัตว์ป่าชนิดพันธุ์สำคัญ ส่งผลให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ”

ปล่อยกวางป่า จำนวน 32 ตัว

ปล่อยไก่ฟ้าหลังขาวธรรมดา จำนวน 70 ตัว


เครดิตคลิป KPP News ข่าวกําแพงเพชร

ด้าน นายธนิต หนูยิ้มผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) บอกว่า เป้าหมายหลักของโครงการนี้ ต้องการจะเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติและสร้างความยั่งยืนในการอนุรักษ์ ตลอดจนหวังที่จะคุ้มครองระบบนิเวศในธรรมชาติ ทั้งสัตว์ป่าที่อยู่ในถิ่นกำเนิดและนอกถิ่นกำเนิด ภายใต้แนวคิด “ผืนป่าหลากหลาย สัตว์ป่ามากมาย ป่าไม้ยั่งยืน”

สำหรับการดำเนินโครงการนั้น สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในแต่ละแห่ง จะต้องจัดสรรกรงเลี้ยงให้มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม คัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์คุณภาพดี ทำเครื่องหมายประจำตัว จัดทำประวัติ เราต้องมั่นใจว่า สัตว์ป่าที่จะปล่อยไปนั้น ต้องสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถดำรงอยู่ในธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

ก่อนจะทำการปล่อย เราจะตรวจ DNA ตรวจสุขภาพ เพื่อให้มั่นใจว่า สัตว์ป่าในกรงเลี้ยงเหล่านั้น จะไม่นำโรคภัยเข้าไปติดต่อสัตว์ป่าในธรรมชาติ อันอาจจะนำมาซึ่งความสูญเสียมากกว่าได้รับประโยชน์

“เราจำเป็นต้องฝึกสัตว์ ปรับพฤติกรรมสัตว์ในคอกเลี้ยง ที่สร้างขึ้นใกล้ๆ กับพื้นที่ปล่อยจริง สัตว์ป่าในกรงเลี้ยง จำเป็นจะต้องฝึกการหากิน ฝึกหลบภัย ระยะเวลาในการฝึกก็ขึ้นอยู่กับชนิดสัตว์ป่า บางชนิดใช้เวลา 3 เดือน บางชนิดใช้เวลานานถึง 3 ปี เรียกง่ายๆ ว่าต้องฝึกให้เป็นสัตว์ป่าอย่างแท้จริง”


ในการฝึกสัตว์ป่าก่อนปล่อยคืนธรรมชาติ มีแนวดำเนินการ 2 วิธี คือ 1. Soft release การปล่อยสัตว์ป่าแบบละมุนละม่อม มักใช้กับสัตว์ป่าที่เติบโตมาจากกรงเลี้ยง เราจะนำสัตว์ป่าไปเลี้ยงในคอกที่ปรับสภาพ แล้วค่อย ๆ ขยายกรงให้กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ให้เขารู้จักสภาพพื้นที่ รู้จักแหล่งอาหาร รู้จักศัตรู รู้ที่หลบภัย จึงถือว่าจบหลักสูตรพร้อมปล่อยคืนธรรมชาติได้

และ 2. Hard release การปล่อยสัตว์ป่าแบบทันทีทันใด มักใช้กับสัตว์ป่าที่ยังมีสัญชาตญาณของสัตว์ป่าเดิมอยู่ เช่น สัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บหรือพลัดหลง เมื่อรักษาจนหายดีแล้ว ก็นำมาปล่อยคืนถิ่นอาศัย นอกจากนี้ ก็ยังใช้ในกรณีของสัตว์ป่าบางชนิดที่ไม่สามารถเลี้ยงดูในกรงได้นาน รวมถึงสัตว์ป่าที่ถูกเคลื่อนย้ายจากถิ่นเดิมเนื่องจากจำนวนประชากรหนาแน่นจึงต้องหาถิ่นอาศัยใหม่ให้

นอกจากเตรียมความพร้อมให้ตัวสัตว์เองแล้ว เราก็ต้องเตรียมความพร้อมสถานที่ด้วย เราคำนึงถึงวิธีการดำรงชีพของสัตว์ป่าอยู่เสมอ ต้องมีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ดินโป่ง พื้นที่ทำกิจกรรม ชนิดพืชอาหาร สัตว์ป่าที่มีอยู่เดิม และสัตว์ผู้ล่า

สิ่งสำคัญอีกสิ่งนั่นคือ ความพอเหมาะพอดีระหว่างจำนวน สัตว์ผู้ล่ากับสัตว์ผู้ถูกล่า เพราะหัวใจสำคัญของโครงการฯ คือ การคืนสมดุลให้แก่ผืนป่า เช่น ในเขตผืนป่าตะวันตก มีสัตว์ผู้ล่าอย่าง “เสือโคร่ง” อาศัยอยู่ เราจะปล่อยสัตว์กีบ เช่น ละองละมั่ง เนื้อทราย และกวางป่า ในจำนวนที่มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ เพราะสัตว์กีบเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการดำรงอยู่ของเสือโคร่ง
แม้จะดูโหดร้ายไปบ้าง แต่มันคือความเป็นจริง มันคือวิถีชีวิตของสัตว์ป่า มันคือความแยบยลของระบบธรรมชาติ ที่แม้แต่มนุษย์ก็อยู่ในกลไกเหล่านี้ เพียงแต่บรรพบุรุษของเราย้ายถิ่นฐานออกจากป่ามาอาศัยอยู่ในเมืองเท่านั้นเอง

ถามว่าแล้วทราบได้อย่างไร? ว่าสัตว์ป่าที่ปล่อยไปนั้น ได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน?

หลังจากการปล่อย เรามีการติดตามสัตว์เหล่านั้นหลังการปล่อยด้วย เพื่อประเมินความสำเร็จของโครงการในภาพรวม การติดตามจะแบ่งออกเป็นระยะ ๆ เช่น 1-3 เดือน 6-12 เดือน เป็นต้น “สัตว์บางชนิดที่ปล่อยไป มีการติดอุปกรณ์ติดตาม ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการข้อมูลมากน้อยเพียงใด โดยส่วนมากแล้วจะติดให้กับสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น กวางผา เลียงผา เป็นต้น”

ทั้งนี้ โครงการ"ส่งสัตว์คืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์" เริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 มีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า และปล่อยคืนวนาในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น นับเป็นความภูมิใจตามภารกิจเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าและลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า นอกจากการส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์ในภาคเอกชนแล้ว ก็ยังมีโครงการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อส่งคืนสู่ธรรมชาติ

ข้อมูลอ้างอิง
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าWildlife Conservation Office, Thailand

นายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ นายธนิต หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)ร่วมด้วย ปลัดจังหวัดกำแพงเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดกำแพงเพชร และนายอำเภอปางศิลาทอง เข้าร่วมกิจกรรม “โครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ” ณ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์


กำลังโหลดความคิดเห็น