xs
xsm
sm
md
lg

Green Vision : เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก/ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ชาติสมาชิก 193 ประเทศ ได้ใช้เวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ข้อ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2558 โดยที่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกต่อจากนี้
เส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเวทีนานาชาติ มีจุดเริ่มต้นที่การก่อตั้งคณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ หรือคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ในปี ค.ศ.1984 จากข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่มีต่อกระบวนการเตรียมตัวด้านสภาวะแวดล้อม นับจากปี ค.ศ.2000 เป็นต้นไป อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ที่จัดขึ้น ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน ในระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน ค.ศ.1972 ซึ่งเป็นการประชุมที่มีผู้แทนระดับผู้นำประเทศ ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 113 ประเทศเข้าร่วม
ในการประชุมครั้งนั้น ถือเป็นการประชุมระดับโลกทางด้านสิ่งแวดล้อมครั้งแรก ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากประเทศต่างๆ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา โดยที่ประชุมร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาแบบมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว การใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและเกินขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่ประชากรในประเทศยากจนยังคงมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพได้
คณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ ได้จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในเอกสารรายงานชื่อว่า อนาคตของเรา ซึ่งเสนอต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ.1987 อันเป็นที่มาของแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” โดยในรายงานฉบับดังกล่าว ได้ให้นิยามของการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ว่า “เป็นการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป”
ถัดจากนั้นในปี ค.ศ.1992 สหประชาชาติ ได้จัดการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Earth Summit) หรือที่เรียกว่า การประชุม Rio ที่ กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สำหรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของประชาคมโลก โดยเอกสารสำคัญที่ได้มีการรับรองในที่ประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ปฏิญญารีโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ซึ่งประกอบด้วย 27 หลักการที่เกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดชอบของประชาชาติในการดำเนินงานพัฒนาเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และแผนปฏิบัติการ 21 ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทของโลกสำหรับการดำเนินงานที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ต่อมาในปี ค.ศ.2000 ได้มีการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษขึ้น เรียกว่า Millennium Summit ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ข้อคิดเห็นต่อการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของสหประชาชาติในศตวรรษที่ 21 ให้สามารถเผชิญต่อความเปลี่ยนแปลงและสิ่งท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการรับรองและยืนยันถึงพันธกรณีร่วมกันที่จะดำเนินการเรื่องสำคัญของมนุษยชาติ ตามปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ และกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) เป็นวาระการพัฒนาของโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี (สิ้นสุดปี ค.ศ.2015) อันประกอบด้วย เป้าหมายหลัก 8 ข้อ ได้แก่ (1) ขจัดความยากจนและความหิวโหย (2) ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา (3) ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี (4) ลดอัตราการตายของเด็ก (5) พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ (6) ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ (7) รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (8) ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก
และในปี ค.ศ.2002 การประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Earth Summit) หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า การประชุม Rio+10 ได้ถูกจัดขึ้นที่ นครโจฮันเนสเบอร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยมีการรับรองเอกสารพันธกรณี 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาโจฮันเนสเบอร์กว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการดำเนินงานโจฮันเนสเบอร์ก ซึ่งกำหนดมาตรการในการช่วยเร่งรัดการอนุวัตตามแผนปฏิบัติการ 21 รวมถึงพันธกรณีของข้อตกลงและอนุสัญญาต่างๆ ที่เป็นผลจากการประชุม Earth Summit ในปี ค.ศ.1992 โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ประชาคมโลกจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังตามแผนปฏิบัติการ 21 และข้อตกลงอื่นๆ เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ในปี ค.ศ.2012 การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Earth Summit) หรือที่เรียกว่า การประชุม Rio+20 ได้เวียนมาจัดขึ้นที่ กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล อีกครั้งหนึ่ง เป็นการประชุมที่มีผู้แทนระดับผู้นำประเทศ ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 193 ประเทศเข้าร่วม โดยได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ที่มีชื่อว่า อนาคตที่เราต้องการ ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการหารือเพื่อกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 โดยมีความริเริ่มที่สำคัญ คือ การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งยกร่างโดยคณะทำงานของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีผู้แทนไทยอยู่ในคณะทำงานด้วย
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ภาคีภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา การประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Summit ได้ถูกจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้
ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการรับรองเอกสาร วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ซึ่งรวมถึง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อันประกอบด้วย เป้าหมายหลัก 17 ข้อ ได้แก่ (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล ที่นานาประเทศรวมทั้งไทยจะใช้อ้างอิงนับจากนี้ จวบจนปี ค.ศ.2030 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น