xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวจริง! ลูกจ้างที่เข้าข่ายติดเชื้อโควิด 19 นายจ้างมีสิทธิสั่งตรวจหาเชื้อได้ แต่หากเลิกจ้างด้วยเหตุติดโควิด 19 ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายจ้างสงสัยว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ด้วยเหตุที่ลูกจ้างอยู่ในข่ายเป็นผู้ติดเชื้อโควิด 19 และหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อโควิด 19 ถือว่าไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากลูกจ้าง ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย
วันนี้ (10 พ.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลปรากฎเกี่ยวกับเรื่องลูกจ้างที่เข้าข่ายติดเชื้อโควิด 19 นายจ้างมีสิทธิสั่งตรวจหาเชื้อได้ แต่หากเลิกจ้างด้วยเหตุติดโควิด 19 ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

กรณีนายจ้างมีข้อสงสัยว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ลูกจ้างสัมผัสกับผู้ป่วยหรือลูกจ้างอยู่ในครอบครัวเดียวกับผู้ป่วย จึงมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งให้ลูกจ้างกักตัวเป็นคำสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามนายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือหยุดพักผ่อนประจำปีได้ รวมไปถึงนายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ด้วยเหตุที่ลูกจ้างอยู่ในข่ายเป็นผู้ติดเชื้อโควิด 19 ถือว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรที่จะมีคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจได้ เพราะหากไม่ดำเนินการอาจเป็นอันตรายและกระทบต่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างคนอื่น หรือกระทบต่อกิจการของนายจ้างได้ สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด 

นอกจากนี้ คำสั่งของนายจ้างดังกล่าว ถือเป็นคำสั่งเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 เกี่ยวกับการทำงานที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างก็อาจปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าสถานที่ทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้างให้ หรืออาจลงโทษทางวินัย เช่น ตักเตือนลูกจ้างด้วยวาจาหรือตักเตือนเป็นหนังสือ เป็นต้น แต่ถ้าหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อโควิด 19 ถือว่าไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง และไม่ใช่การกระทำผิดวินัย ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อ กองสวัสดิการแรงงาน กลุ่มงานกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน โทร 0 2660 2180 และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.labour.go.th หรือโทร 1546 หรือ 1506 กด 3

หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น