xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องส้วมๆ!/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

ใครว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ห่วงประชาชน ผมคนนึงละครับที่จะขอเถียงหัวชนฝา

ไหนจะกู้เงินสองล้านล้านบาทเอามาลงทุนรถไฟความเร็วสูงเพื่อที่เราจะได้มีผักผลไม้ต่างถิ่นกินแบบสดๆ เอย

ไหนจะเรื่องข้าวที่มีการอัดรมยาอย่างแรงเพื่อขจัดมด-มอดเอย

แล้วไหนจะกับพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับปรับเปลี่ยนสุขภัณฑ์ในห้องน้ำใหม่จากส้วมแบบราบ หรือ ส้วมนั่งยอง หรือ ส้วมซึม ให้เป็นแบบที่มีชักโครก หรือ ส้วมนั่งราบแทน ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 23 เมษายนและให้มีผลทันทีในระยะเวลาอีก 120 วันนับจากวันประกาศ ซึ่งก็จะไปตรงกับวันที่ 20 สิงหาคมนี้

จริงๆ เรื่องส้วมนี้น่าจะรณงค์แบบเอาจริงๆ เอาจังๆ กันนานแล้วนะครับ เพราะนอกจากเรื่องของสุขภาพของข้อเข่าที่กล่าวอ้างแล้ว มันยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของความสะอาดเชื้อโรคอะไรต่างๆ นานาด้วย

แต่ไหนๆ ก็จะรณรงค์กันแล้วก็อยากจะให้ใช้ "คำเรียก" กันให้ถูกหน่อย เพราะดูเหมือนตอนนี้หลายๆ คนจะเข้าใจผิดไปแล้วว่า "ส้วมซึม" ก็คือส้วมที่นั่งยองๆ ส่วนส้วมที่ไม่ต้องนั่งยองๆ ที่มีการณรงค์ให้ใช้กันก็คือส้วมที่เรียกกันว่า "ชักโครก"

ที่จริงไม่ใช่นะครับ

เพราะทั้งส้วมซึมและชักโครกคือระบบกลไกการทำงานในการกำจัดอึ ไม่ได้เกี่ยวกับท่าทางการนั่งอึ

สรุปก็คือจะเป็นระบบส้วมซึมหรือส้วมแบบชักโครกต่างก็ล้วนมีทั้งโถอึที่เป็นแบบที่ต้องนั่งทั้งยองๆ และนั่งแบบราบห้อยขาสบายๆ

คำว่า ส้วม นั้นว่ากันว่าคำนี้เป็นคำโบราณเก่าแก่ที่ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โน่น

ความหมายของส้วมนั้นมีหลากหลายมากครับและก็ไม่ได้หมายถึงสถานที่ๆ เอาไว้ปลดทุกข์หนัก-เบาเท่านั้น

อย่างล้านนาส้วมคือ หิ้งบูชา หรือที่นอนของพระ ขณะที่ทางภาคอีสานเลยไปถึงลาวนั้นคำว่าส้วมหมายถึงห้องนอนของลูกสาวซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกับคำเปรียบเปรยของคนโบราณที่ว่ากันว่าบ้านไหนมีลูกสาวก็เหมือนกับมีส้วมตั้งไว้หน้าบ้านหรือเปล่าก็ไม่ทราบ?

อันว่าส้วมนี้มีหลักฐานปรากฏว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว โดยมีลักษณะเป็นหิน มีร่องรับการถ่ายเบาและช่องรับการถ่ายหนักอยู่ตรงกลาง คือแยกอึแยกฉี่กันชัดเจนไปเลยจุดประสงค์ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็นรุนแรงนั่นเอง

แน่นอนครับว่าส้วมที่เป็นห้องหับสัดส่วนมิดชิดนั้นแรกเริ่มคงน่าจะมีอยู่เฉพาะในรั้วในวัง (เรียกว่า "ห้องบังคน") ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็ใช้ธรรมชาติท้องทุ่งเรือกสวนไร่นาหรือว่าแม่น้ำเป็นส้วมไป

หลังจากขี้ตามท้องไร่ ท้องนามานานปี พ.ศ. 2440 รัฐท่านจึงได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มีผลบังคับให้คนไทยต้องขับถ่ายในส้วม ซึ่งส้วมที่ใช้กันส่วนใหญ่ในตอนนั้นก็คือ "ส้วมหลุม" นั่นเอง

จะว่าโชคดีหรือโชคไม่ดีก็ไม่รู้ ตอนเด็กๆ ผมเองมีโอกาสเห็นส้วมหลุมที่คนในบ้านใช้งานจริงๆ ใช้งานประจำมาแล้ว เป็นบ้านของเพื่อนผมเองนี่แหละ แต่อย่าให้บรรยายเลยครับว่าทั้งภาพ ทั้งกลิ่น มันน่าอภิรมย์ขนาดไหน 555

จากส้วมหลุม(ดิน)ธรรมดาๆ ก็พัฒนาเป็นส้วมหลุมแบบมีถังเท คือแทนที่จะถ่ายลงหลุมโดยตรงในหลุมก็มีถังเอาไว้รองรับอึก่อนนำไปกำจัด และนั่นก็เลยกลายเป็นที่มาของบริษัทที่มีชื่อว่า "บริษัทสอาด" ในปี พ.ศ. 2440 ซึ่งถือเป็นเป็นบริษัทแห่งแรกที่ดำเนินการรับจ้างขนเทอุจจาระในจังหวัดพระนคร

และจากส้วมหลุมก็กลายมาเป็นส้วมราดน้ำที่คิดค้นโดยพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ. 2467 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์

ด้วยความที่ส้วมหลุมและส้วมถังเทนั้นแม้จะมีการพัฒนาอย่างไรแต่มันก็ไม่สามารถป้องกันกลิ่นและแมลงวันได้ทั้งหมดครับ ท่านพระยานครพระรามก็เลยคิดวิธีกำจัดอึด้วยน้ำแทน ว่ากันว่าท่านลองทำส้วมหลากหลายรูปแบบมากก่อนจะมาลงเอยที่หัวส้วมแบบโค้งงอคล้ายๆ กับคอของห่าน ซึ่งด้วยความโค้งงอเป็นตัวยูของท่อระบายนี่แหละครับที่ทำให้อึของเราเมื่อถูกลาดด้วยน้ำลงไปมันจึงไม่สามารถเด้งกระดอนกลับขึ้นมาให้เราชื่นชมได้อีก ขณะเดียวกันก็เป็นการขังน้ำเอาไว้เพื่อป้องกันกลิ่นและแมลงที่จะลงไปยิ่งเกี่ยวกับอึของเราด้วย

ข้อดีของส้วมแบบคอห่านนี้แม้จะขจัดปัญหาเรื่องกลิ่นกับเรื่องของแมลงวันได้ แต่ว่าด้วยความที่บ่อรองรับอึนั้นเป็นการขุดลงไปในดิน ดังนั้นน้ำอึจึงสามารถซึมเข้าไปในพื้นดินได้ (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าส้วมซึมจนถึงปัจจุบัน) จึงกลายเป็นการแพร่เชื้อโรคไปในอีกทางหนึ่ง ตอนหลังก็เลยมีการพัฒนามาเป็นแบบคอนกรีต มีการทำบ่อหลายๆ บ่อ เช่นมีบ่อกรองที่เรียกว่าบ่อเกรอะก่อนจะระบายน้ำสู่บ่อซึมต่อไป

แล้วชักโครกล่ะ?

ที่เรียกชักโครกนั้นก็เพราะแต่ก่อนตัวถังเก็บน้ำมันค่อนข้างจะอยู่สูงครับ เวลาจะปล่อยน้ำลงมาชะล้างทีก็ต้องใช้วิธีชักคันโยกและด้วยความที่เวลาน้ำไหลนั้นมันมีเสียงดังโครกครากๆ เราก็เลยเรียกชักโครกนั่นเอง

ระบบการทำงานแบบชักโครกนี้ผู้คิดค้นขึ้นมาคนแรกก็คือขุนนางชาวอังกฤษ ชื่อ "เซอร์จอห์น แฮริงตัน" เมื่อปีพ.ศ.2139 (ค.ศ. 1596) ก่อนจะถูกพัฒนาโดย "อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์" รวมถึงนาย "มัส แครปเปอร์" ช่างวางท่อในกรุงลอนดอนช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนกลายมาเป็นต้นแบบชักโครกที่ใช้งานกันในปัจจุบันนั่นเอง

ไหนๆ วันนี้ก็ว่ากันด้วยเรื่องส้วมแล้ว คราวหน้าขออนุญาตเขียนเรื่องอึต่อเลยแล้วกันครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น