xs
xsm
sm
md
lg

โศกนาฏกรรมสะพานแขวน(เส้นทางสายปลาร้า) : มหัศจรรย์ไทยแลนด์/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่น่าใจหายทีเดียวครับสำหรับเหตุการณ์โศกนาฏรรมสะพานแขวนที่ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พังทลายลงมาเมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายนที่ผ่านมากระทั่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปหลายราย

แม้จะไม่ใช่คนในพื้นที่ดังกล่าว แต่ผมก็มีความผูกพันกับสะพานนี้อยู่พอสมควร

ชื่ออย่างเป็นทางการของสะพานแห่งนี้ก็คือสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ถูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2525 ซึ่งเป็นปีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีนั่นเอง

แต่เดิมมันเป็นสะพานเหล็กครับ มีตอม่อตรงกลาง ความยาวก็ราวๆ 100 เมตรกว่าๆ ความกว้างขนาดรถมอเตอร์ไซค์สวนกัน (ชนิดที่ว่าหากขับไม่ดีกระจกก็อาจจะเฉี่ยวกันได้) สร้างขึ้นมาเอาไว้ให้คนเดินทางข้ามคลองที่ขุดแยกมาจากแม่น้ำป่าสักเพื่อขนปูนซีเมนต์เชื่อมต่อกันไปมาสำหรับคนที่จะเดินทางไปวัดสะตือ , ตลาดท่าหลวง, ตลาดสุขาภิบาลท่าหลวง รวมถึงคนที่ต้องการเดินทางเลยไปยังตัวอำเภอ อ.ท่าเรือ โดยที่ไม่ต้องไปอ้อมผ่านโรงงานปูนซีเมนต์ ท่าหลวง

ตั้งแต่จำความได้ผมเองก็เห็นและก็ใช้เส้นทางที่ว่านี้มาโดยตลอด

โดยเฉพาะในช่วงหลายปีหลังมานี้ต้องบอกว่าเป็นกิจวัตรประจำ

เพราะทุกครั้งที่กลับบ้านที่สระบุรี ช่วงเวลาเย็นๆ ผมจะต้องขับมอเตอร์ไซค์ผ่านสะพานเพื่อไปซื้อน้ำพริกปลาร้า(ลอยฟ้า) "ป้าเตี้ย" ซึ่งเป็นน้ำพริกปลาร้าที่อร่อยที่สุดในโลก(ในความรู้สึกของผม)ซึ่งขายอยู่ในตลาดสุขาฯ เป็นประจำ

ใครที่มีโอกาสได้ข้ามสะพานนี้เป็นครั้งแรก ผมว่าต้องมีเสียวๆ กันบ้างแหละครับกับสภาพและรูปร่างโครงสร้างของมันที่ชวนให้กังวลว่าจะตกลงไปข้างล่างได้ตลอดเวลา

แต่สำหรับคนแถวนั้นแล้วจะคุ้นเคยชินเป็นอย่างดี

เมื่อสองปีก่อนตอนที่ทราบข่าวว่าสะพานแห่งนี้จะถูกรื้อทำใหม่ ตอนนั้นก็อดใจหายไม่ได้ครับ เพราะผมรู้สึกว่าโครงสร้างความเป็นเหล็กของมันนั้นกลมกลืนเข้ากันเป็นอย่างดีเหลือเกินกับทัศนียภาพตลอดจนตัวของเขื่อนพระราม 6 เขื่อนทดน้ำและระบายน้ำแห่งแรกในประเทศไทย (ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2458) ที่อยู่บริเวณใกล้ๆ กัน

เขื่อนพระราม 6 นี้ถ้าใครแวะเวียนผ่านไปแถว ต.ท่าหลวง หรือที่ อ.เสาไห้ จังหวัดสระบุรีซึ่งเป็นเขตติดต่อกันก็แนะนำให้ลองไปเที่ยวกันครับ

แต่อย่าไปคาดหวังอะไรมากนะครับ เพราะมันไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่เด่นดังใหญ่โตอะไร เพียงแต่ในช่วงเย็นๆ ถึงโพล้เพล้ ลองไปเดินบนตัวเขื่อน หรือเอาเสื่อไปปูนั่งรับลม มองดูพระอาทิตย์ตกก็ให้ความรู้สึกที่ดีไปอีกแบบ

แต่ถ้ามีเด็กๆ ไปด้วยก็ต้องระวังหน่อย เพราะพื้นเขื่อนนั้นมันจะเป็นรูๆ พอที่เท้าเล็กจะตกลงไปได้

ตอนเด็กๆ จำได้เลยครับว่า เวลาแม่พาไปเที่ยวงานเดือน 12 ที่วัดสะตือจะต้องเกิดความกลัวทุกครั้งเวลาเดินผ่าน

กลับมาว่ากันถึงสะพานที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมกันต่อ

หลังจากถูกใช้งานมายาวนานกว่า 30 ปี สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีที่เป็นเหล็กก็ถูกรื้อทิ้งแล้วทำใหม่ ย้ำนะครับว่าไม่ได้ซ่อมแซม แต่รื้อทิ้งแล้วทำใหม่ ด้วยงบประมาณ 8 ล้านบาทกลายเป็นสะพานพื้นคอนกรีต ขึงด้วยลวดสลิง และก็เพิ่งจะเปิดใช้งานมาเมื่อราวๆ เดือนกรกฎาคมของปีที่แล้วนี้เอง

แต่ถึงแม้จะเป็นของใหม่ ดูมั่นคง แข็งแรง ทว่าเวลาขี่รถมอเตอร์ไซค์ข้ามไปนอกจากจะไม่รู้สึกถึงความโรแมนติกคลาสสิคเท่าสะพานเหล็กของเก่าแล้ว ผมยังรู้สึกว่ามันเสียวๆ กว่าสะพานเดิมเสียอีกครับ

ชาวบ้านแถวนั้นเล่าว่ามีบางคนแอบขับรถยนต์ขับข้ามสะพานที่ว่า เนื่องจากหลังทำใหม่นั้นความกว้างของสะพานมันถูกขยายออกจนกว้างพอที่จะขับรถยนต์ขึ้นไปได้ จนต้องมีการนำเอาเสามาปักขวางไว้ตรงทางขึ้นพร้อมกับข้อความที่ว่าห้ามนำรถยนต์ขึ้นบนสะพานเด็ดขาด!

ว่าไปแล้วตัวเลขจำนวนคนตายและคนที่ได้รับบาดเจ็บนั้นจะมากจะน้อยเท่าไหร่ก็ถือว่าไม่ดีทั้งนั้น เพียงแต่ก่อนหน้านั้น 2 อาทิตย์ได้มีการแห่นาคข้ามสะพานดังกล่าวโดยมีคนอยู่บนสะพานร่วม 100 คนซึ่งหากเหตุร้ายเกิดขึ้นตอนนั้นไม่อยากจะคิดเลยครับว่าภาพที่ออกมาจะสยดสยองขนาดไหน

หรือถ้าวันเกิดเหตุแต่เป็นในชั่วโมงคนพลุกพล่าน เนื่องจากวันเสาร์-อาทิตย์จะมีคนมาแก้บนหลวงพ่อโตหนึ่งในพระนอนองค์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากๆ ของวัดสะตือ พระพุทธไสยาสน์ ตลอดจนเดินเที่ยวตลาดนัดที่วัดกันมากมายเป็นหลักหมื่นคน นี่ก็คงจะเป็นอะไรที่เสียหายมากกว่านี้

ถ้าใครติดตามข่าวนี้อยู่ถึงตอนนี้ก็จะรับรู้ว่าบริเวณใกล้ที่เกิดเหตุนั้นมันมีสะพานแขวนอยู่อีกหนึ่งสะพาน

สะพานนี้เชื่อมต่อจากวัดไก่จ้น บริเวณเขื่อนพระราม 6 มาที่วัดสะตือ ตรงวัดไก่จ้นนี้แหละครับ ในอดีตเวลามีงานเดือน 12 ที่วัดสะตือฯ งานวัดที่ใหญ่และมีความสำคัญที่คนในละแวกนั้นรวมถึงคนจากตัวเมืองสระบุรีเองก็จะต้องหาโอกาสมาเที่ยวให้ได้ ซึ่งเวลามาเที่ยวนั้น จะเดินเท้ามา ขี่จักรยาน หรือว่านั่งรถอีแต๋นมา ส่วนใหญ่ก็จะต้องมายังจุดบริเวณที่ว่าก่อนจะข้ามแม่น้ำไปยังวัดสะตือ

เป็นการข้ามทางเรือก็จริง ทว่าไม่ใช่นั่งไปในเรือนะครับ แต่เป็นการเดินไป

เพราะเขาจะเอาเรือที่มันจะมีหลังคาโค้งๆ ตรงกลางลำ ซึ่งน่าจะเป็นเรือเอี๊ยมจุ๊น(มั้ง) เอามาเรียงต่อๆ กันขนานไปกับแม่น้ำจนคนสามารถเดินข้ามไปได้

คลาสสิคมั้ยล่ะครับ

สองปีที่แล้วตอนที่สะพานแขวนแห่งนี้สร้างเสร็จด้วยงบประมาณกว่า 18 ล้านบาท ก็เป็นธรรมดาครับที่ชาวบ้านแถบนั้นจะมีอาการเห่อพากันแห่ไปลองใช้บริการกันหลายต่อลายคน ซึ่งก็ให้รวมไปถึงแม่ผมและบรรดาป้าๆ ทั้งหลาย

ปรากกฎว่าครั้งเดียวเข็ดกันเลยครับ โดยทุกคนต่างบอกเหมือนๆ กันว่ามันโยกเยก เดินแล้วจะเป็นลม

แถมคนแถวนั้นยังเล่าให้ฟังด้วยว่าช่วงน้ำท่วมปี 54 นั้นสะพานได้พังลงมาจนมีคนได้รับบาดเจ็บเพียงแต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว เรื่องนี้เท็จจริงอย่างไรไม่ทราบเหมือนกัน แต่กับข่าวล่าสุดที่ออกมาก็คือถึงตอนนี้ได้มีการปิดใช้บริการสะพานแขวนจุดนี้อย่างถาวรเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังตวรจสอบพบว่ามีการชำรุดจนน่ากลัว และมีรอยแตกร้าวบริเวณเสา

ขณะที่การตรวจสอบสะพานแขวนที่พังทลายลงมาก็พบว่านับตั้งแต่สร้างเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว สะพานผ่านการซ่อมแซมมาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยล่าสุดเมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมาได้มีบันทึกแจ้งบริษัทรับเหมาว่า สะพานเกิดการทรุดเอียง

นอกจากนี้เมื่อทำการตรวจสอบสลิงเส้นหลักที่ขึงรับน้ำหนักสะพานทั้งสองข้างที่ภายนอกดูเหมือนจะเป็นสลิงเส้นใหญ่เส้นเดียวนั้น เมื่อเอาปลอกที่ครอบอยู่ออกปรากฏว่ามันเป็นสลึงเส้นเล็กขนาด3/4 นิ้วมัดรวมกันอยู่แถมแต่ละเส้นนั้นก็มีสภาพที่เก่าใหม่ไม่เท่ากันอีกต่างหาก

สะพานนึงสร้างได้ไม่ถึงปีพัง อีกสะพานสร้างได้ปีกว่าๆ ชำรุดจนใช้งานไม่ได้ เห็นเรื่องพวกนี้แล้วจู่ๆ ก็ให้นึกไปถึงผลสำรวจจากเอแบคโพลล์ที่พบว่าคนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.5 รับได้กับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นถ้าตนเองได้รับผลประโยชน์ขึ้นมาทันที

แค่นึกถึงครับ ส่วนจะเกี่ยวกันหรือเปล่าก็ไม่ทราบเหมือนกัน



ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศhttp://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

กำลังโหลดความคิดเห็น