xs
xsm
sm
md
lg

โควิดเป็นของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นายอุทัย ดุลยเกษม


พระไพศาล วิสาโล (แฟ้มภาพ)
ดร.อุทัย ดุลยเกษม
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร



ผมไม่ได้เรียนนักธรรมและไม่มีความรู้ภาษามคธ แต่เมื่อได้อ่านข้อเขียนของพระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร เขียนพาดพิงถึงคำเทศนาของพระไพศาล วิสาโล ทำให้ผมต้องหาคำเทศนาของพระไพศาลมาอ่าน ว่าท่านเทศนาว่าอย่างไรและทำไมพระมหาไพรวัลย์ จึงเขียนในทำนอง “ติติง” พระไพศาลว่า “อยู่กับชนชั้นกลางนานไปหรือเปล่า” ที่พูดว่า “โควิดคือของขวัญ”

ผมจึงตามไปอ่านคำเทศนาของพระไพศาล และได้พบสิ่งที่พระไพศาลพูด (ตามที่มีการเผยแพร่) อ่านถ้อยคำที่พระไพศาลพูดแล้วซึ่งผมรู้สึกแปลกใจมากที่พระมหาไพรวัลย์ กล่าวหาว่าพระไพศาลอยู่กับชนชั้นกลางนานไป เพราะสิ่งที่พระไพศาลพูดนั้นท่านอ้างมาจาก “คำพูดดีดีของผู้หญิงคนหนึ่ง” โดยบอกว่า “โควิดให้ของขวัญแก่เธอ ซึ่งกล่องของขวัญนั้นคือ “เวลา”

ผมอ่านแล้วก็ยังนึกไม่ออกว่า “พระไพศาลอยู่กับชนชั้นกลางนานมากไป” ตรงไหน เพราะถ้าตีความอย่างนั้น เวลาผมพูดว่า “หลานชายให้ของขวัญแก่เมียผม” จะมีความหมายว่า “ผมอยู่กับหลานนานมากไป”หรือ “ผมอยู่กับเมียผมนานมากไป” กระนั้นหรือ ฟังดูแล้ว ออกจะประหลาดๆอยู่นะครับ

ก็คนที่พูดคือ “ผู้หญิงคนหนึ่ง” ซึ่งเป็น”ชนชั้นกลางหรือชนชั้นไหนก็ไม่รู้” แต่เธอรู้สึกว่า โรคระบาดโควิดให้ของขวัญแก่เธอ มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเธอ คนอื่นไม่เกี่ยวมิใช่หรือ เหมือนกับผมพูดว่า “เมียผมให้ของขวัญแก่ผม” มันเกี่ยวอะไรกับชนชั้นล่ะครับ ในทางกลับกัน ถ้าเมียผมพูดว่า “พี่เขาให้ของขวัญ (วันเกิด) แก่ฉัน” มันก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องของชนชั้นตรงไหน หรือว่าผมอ่านภาษาไทยไม่แตก ผมก็สงสัยตัวเองเหมือนกัน จึงต้องไปพึ่ง พจนานุกรม ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งให้ความหมายคำว่า “ของขวัญ” ไว้ ดังนี้

คำนาม
สิ่งของที่มอบให้กันเพื่อแสดงไมตรีมักให้ในโอกาสต่างๆ เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด ฯลฯ

สิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญหลังจากเสร็จพิธีทำขวัญ ซึ่งในกรณีนี้มักจะเรียกว่า ของถนอมขวัญ

เพราะฉะนั้น การที่ “ผู้หญิงคนนั้น” พูดว่า “โควิดให้ของขวัญแก่เธอ” ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของเธอ คนอื่นอาจจะไม่เห็นว่า “โควิดเป็นของขวัญก็ได้” ไม่เห็นแปลกอะไร เหมือนกับเวลา “เจ้านายผมให้ขนมเค้กผมเป็นของขวัญ” ผู้ให้คือเจ้านายผม และขนมเค้กก้อนนั้นมันก็เป็นของขวัญสำหรับผม มิใช่หรือ

ในกรณีที่ “ผู้หญิงคนหนึ่ง” พูดนั้น ผู้ให้ของขวัญ คือ โควิด และของขวัญที่เธอได้รับคือ “เวลา” แลัวมันเกี่ยวอะไรกับพระไพศาลเล่า ผมรู้สึกว่าพระมหาไพรวัลย์คงอ่านคำเทศนาของพระไพศาลแบบไม่ละเอียดหรือไม่ก็มีอคติบางอย่างอยู่ในใจกระมัง จึงได้กล่าวหาพระไพศาลว่า “อาจารย์อยู่กับชนชั้นกลางนานไปหรือเปล่าครับ”

ผมคิดว่า “ผู้หญิงคนนั้น” เธอให้คุณค่ากับสิ่งที่โควิดให้เธอ เพราะช่วยให้เธอได้ทำในสิ่งที่เธอไม่มีโอกาสได้ทำมาก่อนหน้านี้ มันก็เหมือนกับผมนั่นแหละ เมื่อผมได้ขนมเค้กเป็นของขวัญ ผมก็ย่อมให้คุณค่ากับขนมเค้กนั้น เพราะผมไม่เคยได้กินขนมเค้กชนิดนี้มาก่อน แต่คนอื่นรอบๆ ตัวผมอาจจะไม่ได้รู้สึกแบบผมก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ แต่จะไปกล่าวโทษกับคนที่พูดว่า “คุณนี่อยู่กับชนชั้นต่ำนานไปกระมัง” ก็ดูกระไรอยู่นะครับ

ในกรณีนี้ ผมเข้าใจว่าพระไพศาลได้นำเอาคำพูดของ “ผู้หญิงคนหนึ่ง” มาอ้างถึงก็เพียงเพื่อให้ผู้ที่ฟังเทศน์ในเช้าวันนั้นได้ตระหนักว่า แม้ในภาวะที่คนเราตกอยู่ในภาวะยากลำบากหรือมีความทุกข์ แต่ถ้าเราสามารถมองสาเหตุแห่งทุกข์นั้นในเชิงบวก เราก็สามารถหาความสุขจากสิ่งร้ายๆ เหล่านั้นได้ ดีกว่ามองในเชิงลบและเอาแต่โทษโน่นโทษนี่ หรือตีโพยตีพาย ผมคิดว่า ข้อเตือนใจในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมากกว่า จะไปกล่าวหาว่าพระไพศาลอยู่กับชนชั้นกลางนานไปนั้นไม่ตรงประเด็นเลย เพราะผมคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นคนชนชั้นใด การมองสาเหตุแห่งทุกข์ในเชิงบวกย่อมเป็นการดีแน่นอน แม้ว่ามันอาจจะแก้ปัญหาในระดับรากเหง้าได้น้อยก็ตาม แน่ละสำหรับคนที่มีความทุกข์มากในหลายๆ ด้านในเวลาเดียวกัน ย่อมเป็นการยากที่จะสามารถมองสาเหตุแห่งทุกข์ในเชิงบวกได้ และเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่เป้าหมายสุดท้ายในชีวิตของเราเมื่อมองจากมุมมองของพระพุทธศาสนามิได้อยู่ที่การพยายามกำจัดสาเหตุแห่งทุกข์ละหรือ ผมยังคิดว่า มหาเปรียญอย่างพระมหาไพรวัลย์ น่าจะเข้าใจในประเด็นนี้ได้ดีกว่าคนทั่วๆ ไปเสียอีก แต่น่าเสียดายที่ท่านอาจจะมีอคติในใจทำให้ท่านตีความสิ่งที่พระไพศาลนำมาอ้างไปในทางที่เป็นการให้ร้ายหรือกล่าวหาพระไพศาลเกินพอดีไป

ในขณะเดียวกันมี “ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง” ออกมากล่าวหาพระไพศาลว่า “การที่พระไพศาลนำเอา “คำพูดดีดี” ของ “ผู้หญิงคนหนึ่ง” มาอ้างว่า “โควิดเป็นของขวัญ” ว่า เป็น “สิ่งที่อันตรายมาก” เพราะเท่ากับเป็นการกลบเกลื่อนความไม่เป็นธรรมและความบิดเบี้ยวของโครงสร้างด้านต่างๆ ในสังคมไทยอันเนื่องมาจากระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจที่มีคนกลุ่มน้อยคุมอำนาจเอาไว้ ผมคิดว่า “ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง” นี้ มีความลำเอียงคิดแต่จะกล่าวร้ายพระไพศาลอย่างเดียว โดยไม่ได้สนใจถึงบริบทของการเทศนาของพระไพศาล ผู้ที่มีใจเป็นธรรมย่อมรู้ดีว่า พระไพศาลนำเอา “คำพูดดีดีของผู้หญิงคนหนึ่ง” มาอ้างถึงนั้น ท่านนำมาอ้างถึงในบริบทของการเทศนาให้ญาติโยมที่มาฟังท่านเทศน์ในเช้าวันนั้น พระไพศาลไม่ได้อ้าง “คำพูดดีดีของผู้หญิ่งคนหนึ่ง” ในการพูดบนเวทีอภิปรายหรือในการ “พูดบนเวทีหาเสียง” วิญญูชนย่อมทราบดีว่า การเทศนาของพระสงฆ์ในแต่ละบริบทนั้นไม่เหมือนกัน เช่น การเทศนาให้นักเรียนฟัง กับการเทศนาให้ผู้สูงวัยฟังหรือการเทศนาเนื่องในงานศพ เนื้อหาและวิธีการเทศน์ย่อมไม่เหมือนกัน มิใช่ว่า จะเทศนาในบริบทแบบใด ก็เอาแต่การวิพากษ์เรื่องการเมืองหรือวิพากษ์การรัฐประหารหรือ วิพากษ์รัฐบาลทุกที ใครที่ประพฤติปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวคงจะมีเฉพาะผู้ที่คิดจะทำตัวเองให้เด่นเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตนอย่างเดียวเท่านั้น มิได้ส่งเสริมสติปัญญาแต่อย่างใด

แม้ผมมิได้ใกล้ชิดกับพระไพศาลมากนัก แต่จากการติดตามอ่านงานของท่านทั้งที่ข้อเขียนและคำเทศนาที่ผ่านๆ มา ซึ่งอาจจะมีคนชอบบ้างไม่ชอบบ้างหรือมีคนเห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง ผมก็ไม่เห็นว่าพระไพศาลกล่าวร้ายกับใคร และผมเชื่อว่าพระไพศาลท่านก็รู้ว่า ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยมีอยู่จริงและมีอยู่มากด้วยและท่านก็รู้ว่าสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง แต่ท่านจะเทศน์เรื่อง “รัฐประหาร” หรือเรือง “การซื้อเรือดำน้ำ”เพื่ออะไรเล่า ผู้ที่รู้จักพระไพศาลอยู่บ้างก็ทราบดีอยู่แก่ใจว่าพระไพศาลมิได้บวชเป็นพระเพราะอยากไต่เต้าเพื่อให้ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือเพื่อหาชื่อเสียงหรือหากินด้วยการกล่าวร้ายผู้อื่นเหมือนคนบางคน มิใช่หรือ

ผมเองซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญและไม่ได้มีบทบาททางการเมืองอะไรก็พอเข้าใจว่าความยากลำบากหรือความทุกข์ยากของคนไทยจำนวนมากมีเหตุมาจากโครงสร้างด้านต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม และเชื่อ (ไม่ใช่ชื่นชอบ) ว่าคงไม่ง่ายที่จะแก้ไขได้ในเร็ววันต่อให้เราตระหนักรู้ก็ตาม เพราะถ้าคนเรายังติดอยู่กับระบบบริโภคนิยมและอำนาจนิยม แม้แต่ในวงการคณะสงฆ์เอง และยิ่งมีคนที่ชอบกล่าวร้ายคนอื่นๆ ที่อาจจะมีความคิดความเห็นแตกต่างจากตัวเอง ดังที่เห็นกันอยู่เนืองๆ โดยไม่ยอมรับว่า “ความหลากหลายเป็นเรื่องธรรมดา” คนแบบนี้จะมาอ้างความเป็นธรรมหรือความเป็นประชาธิปไตยได้ก็เพียงการตีฝีปากเท่านั้นแล

คนเชยๆ อย่างผม คิดว่า การหาทางออกให้กับความทุกข์ของสังคมที่จะเป็นไปได้จริงและยังประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ในสังคมได้ ต้องเริ่มต้นด้วยการยอมรับความแตกต่าง แม้จะไม่เห็นด้วย เพราะความแตกต่างในทุกเรื่องเป็นสิ่งปรกติ คนที่มีความคิดความเห็นแตกต่างกันสามารถถกเถียงอภิปรายกันได้อย่างมีเหตุมีผลของตน ข้อยุติที่จะได้คือสิ่งที่คนเราเห็นด้วยกัน แต่ในประเด็นใดที่เราไม่เห็นด้วยกัน เราก็มาถึงจุดที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เคยกล่าวไว้ว่า เราก็มาตกลงกันว่า “We agree that we disagree” และเราก็ทำงานร่วมกันต่อไปได้ ผมคิดว่าในสังคมที่มีปัญหามาก เรายิ่งต้องหันหน้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างกัลยาณมิตรให้มาก เพราะเราเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียวย่อมไม่มีสติปัญญาพอที่จะมองเห็นภาพใหญ่ของความทุกข์ของสังคมที่ซับซ้อนได้ ความโอหังหรือความอหังการ์ว่า ฉันรู้ดีกว่า ฉันเก่งกว่า ความคิดผู้อื่นเลวหรือผิดหมดนั้น ไม่ใช่ทางออกของสังคมที่คนเรากำลังเผชิญกับความทุกข์ยากร่วมกันแน่นอน

ประเด็นที่คนมีความรู้อย่างคับแคบและตื้นเขินแบบผมสนใจและอยากตั้งคำถามมากๆ คือ “ทำไมบรรยากาศของการคิดร่วมกัน หาทางออกร่วมกัน ด้วยการยอมรับกันก่อนว่า เราอาจคิดต่างกันได้ และเรายังเป็นมิตรกันได้ ทำงานร่วมกันได้” จึงไม่เกิดขึ้นในสังคมที่ถือกันว่าเป็น “สังคมพุทธ” พระมหาไพรวัลย์ผู้ซึ่งเล่าเรียนมาจนสำเร็จเปรียญชั้นเอกอุ ไม่มีข้อเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์บ้างหรืออย่างไร

นายอุทัย ดุลยเกษม

วันพืชมงคล ๒๕๖๓



กำลังโหลดความคิดเห็น