xs
xsm
sm
md
lg

IFC หนุนเรือด่วนเจ้าพระยาลุยศึกษาโครงการเรือไฟฟ้า 30 ลำ ลดมลพิษในกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรือด่วนเจ้าพระยา ร่วมมือกับ IFC ศึกษาพัฒนาผลิตเรือไฟฟ้า ภายใต้แผนการจัดซื้อเรือไฟฟ้า 30 ลำรองรับผู้โดยสารได้ 250 คน เพื่อใช้ในแม่น้ำเจ้าพระยา และจะทยอยเลิกใช้เรือดีเซลต่อไป

กรุงเทพมหานครกำลังจะมีเรือไฟฟ้าลำใหม่ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ IFC (บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ) และ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด (เรือด่วนเจ้าพระยา) ในการเพิ่มจำนวนยานยนต์ไฟฟ้า (E-Mobility) บนเส้นทางสัญจรทางน้ำหลักของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะช่วยให้ลดความแออัดของถนนและมลพิษทางอากาศ พร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศของประเทศ

ตามการประมาณการล่าสุดในปี 2564 ผู้โดยสารสูญเสียเวลาจำนวน 114 ชั่วโมงเพื่ออยู่ในการจราจรที่ติดขัด ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อการดำเนินธุรกิจและคุณภาพอากาศของเมืองหลวงที่มีประชากร 10 ล้านคน

นางสุภาพรรณ พิชัยณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และกลุ่มบริษัทสุภัทรากล่าวว่า เรือด่วนเจ้าพระยา ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งทางน้ำชั้นนำในกรุงเทพฯ ได้รับการสนับสนุนจาก IFC ได้มีการวางแผนที่จะทำให้การประกอบการเดินเรือของบริษัทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยการจัดซื้อเรือไฟฟ้า 30 ลำเพื่อใช้สำหรับเป็นเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ละลำสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 250 คน โดยที่จะทยอยเลิกใช้เรือดีเซลไปพร้อมๆ กัน

ภายใน 12 เดือนข้างหน้า IFC และเรือด่วนเจ้าพระยา จะร่วมกันศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการเรือโดยสารไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการลงทุนที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการเลือกใช้เทคโนโลยีในการออกแบบและการเดินเรือโดยสารไฟฟ้าที่เหมาะสม และช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในการประกอบธุรกิจเรือโดยสารของเรือด่วนเจ้าพระยาให้เทียบเท่ามาตรฐานและแนวปฏิบัติระดับสากล

“ภารกิจของเราคือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด ในการที่จะบรรลุเป้าหมายของเราและสนับสนุนนโยบายของภาครัฐนั้น เราได้ทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำหลายแห่งเพื่อศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ของเรือไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งมวลชน ซึ่งขณะนี้ดิฉันคิดว่าเรามีความพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต”

การทำงานร่วมกับ IFC ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมากมายในการช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ แห่งรวมถึงประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับเราในการบรรลุโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมการเดินเรือและทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุมาตรฐานสากลได้”

การให้บริการเดินเรือโดยสารของเรือด่วนเจ้าพระยามีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) และสถานีขนส่งมวลชนกรุงเทพ (MRT) ทำให้บริการนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ เรือด่วนเจ้าพระยามีประสบการณ์มากกว่า 50 ปีในการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา รองรับผู้โดยสารเฉลี่ย 11 ล้านคนต่อปี

การสนับสนุนของ IFC ในการพัฒนาการต่อเรือไฟฟ้าครั้งแรกของประเทศข้างต้น สอดคล้องกับความคิดริเริ่มของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ และเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593

เจน หยวน ซู (Jane Yuan Xu) ผู้จัดการประจำประเทศเมียนมาและประเทศไทยของ IFC กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการสนับสนุนผู้เล่นในตลาดที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว IFC หวังที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดและสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยลงทุนอย่างยั่งยืนและสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การสนับสนุนผู้ประกอบการสตรีเป็นหนึ่งในความสำคัญของ IFC ในประเทศไทยและทั่วโลก ในทำนองเดียวกัน IFC ภูมิใจที่ได้สนับสนุนธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวซึ่งบริหารจัดการโดยผู้นำสตรีคนไทยยาวนานถึงสี่รุ่น”

IFC ผสมผสานการลงทุนและการให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภาคเอกชนของประเทศไทย ณ เดือนมิถุนายน 2564 IFC ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเงินทุนในประเทศไทยอยู่ที่ 875 ล้านเหรียญสหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น