xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยใช้สิทธิ์ FTA-GSP ส่งออก 8 เดือนขยายตัว 36.46%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ช่วง 8 เดือนปี 64 มีมูลค่า 53,804.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.46% ระบุจีนนำโด่งมูลค่าใช้สิทธิ์ FTA สูงสุด ตามด้วยอาเซียน ส่วนสหรัฐฯ นำใช้สิทธิ์ GSP ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนส.ค. 2564 มีมูลค่า 7,341.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.29% แยกเป็นการใช้สิทธิภายใต้ FTA มูลค่า 7,030.93 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.07% และการใช้สิทธิภายใต้ GSP มูลค่า 310.44 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.97% และยอดรวมการใช้สิทธิประโยชน์ในช่วง 8 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 53,804.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.46% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 79.13% ของการได้สิทธิประโยชน์ทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 51,277.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.50% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 80.89% และภายใต้ GSP มูลค่า 2,526.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.59% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 63.69%

“การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพื่อส่งออกภายใต้กรอบ FTA ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าที่มีมากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม และจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย และยังเป็นผลมาจากการเร่งรัดผลักดันการส่งออก การกระตุ้นให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ทำให้มีการขอใช้สิทธิเพิ่มขึ้น” นายกีรติกล่าว

นายกีรติกล่าวว่า รายละเอียดตลาดที่ไทยส่งออกในช่วง 8 เดือนที่มีมูลค่าการใช้สิทธิภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จีน มูลค่า 17,771.78 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. อาเซียน มูลค่า 17,384.02 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ออสเตรเลีย มูลค่า 5,609.05 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. ญี่ปุ่น มูลค่า 4,662.69 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. อินเดีย มูลค่า 3,029.17 ล้านเหรียญสหรัฐ และกรอบความตกลง FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน-จีน 97.33% 2. ไทย-เปรู 93.24% 3. ไทย-ชิลี 92.57% 4. ไทย-ญี่ปุ่น 79.75% และ 5. อาเซียน-เกาหลี 69.05%

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์ FTA สูง ประกอบไปด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร เครื่องดื่ม และเกษตร เช่น รถยนต์เพื่อขนส่งของ รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล (อาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-ชิลี, อาเซียน-จีน) เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-อินเดีย) ตู้เย็น (ไทย-อินเดีย) เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง (ไทย-ญี่ปุ่น) กุ้งปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (อาเซียน-จีน) ยางธรรมชาติ (อาเซียน-เกาหลี) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดากระป๋อง (ไทย-ชิลี) เป็นต้น

ส่วนตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP มากที่สุด คือ สหรัฐฯ มูลค่า 2,255.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 43.94% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 67.10% รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 169.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.33% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 36.74% รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มูลค่า 90.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.86% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 71.44% และนอร์เวย์ มูลค่า 11.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.91% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 64.33%

โดยสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง เช่น ข้าวโพดหวาน อาหารปรุงแต่ง เนื้อสัตว์แปรรูป ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส มะพร้าวปรุงแต่ง น้ำหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์


กำลังโหลดความคิดเห็น