xs
xsm
sm
md
lg

SPCG คงเป้ารายได้ 5-5.5 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอสพีซีจีคงเป้ารายได้ในปีนี้ที่ 5.0-5.5 พันล้านบาทแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจาก 3 โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่สิ้นสุด Adder ลง และลูกค้าชะลอการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่คาดว่าไตรมาส 4 นี้สถานการณ์จะดีขึ้น และหั่นค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง

นายพิพัฒน์ วิริยธรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG) เปิดเผยว่า บริษัทคงเป้าหมายรายได้ปี 2564 อยู่ที่ 5,000-5,500 ล้านบาท แม้ว่าครึ่งแรกปีนี้บริษัทมีรายได้รวม 2,360 ล้านบาท ลดลง 10% เนื่องจากรายได้ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง หลังจากรายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จํานวน 8 บาทต่อหน่วย สําหรับ 3 โซลาร์ฟาร์มได้สิ้นสุดลงแล้ว รวมทั้งในปีนี้การขยายธุรกิจโซลาร์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ลูกค้าชะลอการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปลง

ส่วนทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากไตรมาส 3/2564 ธุรกิจโซลาร์ฟาร์มจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจากการติดตามข้อมูลการผลิตในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 ค่าพลังงานก็ยังใกล้เคียงกับเป้าหมาย แต่ในส่วนของธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป ยอมรับว่าในเดือน  ส.ค.สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้นทำให้ลูกค้าชะลอการลงทุน แต่คาดว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายจะทำให้ลูกค้ากลับมาพิจารณาลงทุนอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4/2564 ซึ่งเดิมบริษัทตั้งเป้ายอดขายจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปปีนี้ไว้ที่ 500-800 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าอยู่ใน Pipeline ไม่ต่ำกว่า 20 ราย และในส่วนนี้ 70-80% เป็นลูกค้าลีสซิ่งที่บริษัทจะดำเนินการติดตั้งโดยที่ลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินลงทุนเอง แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ทางบริษัทลีสซิ่งต้องมีการวิเคราะห์เครดิตลูกค้า หรือพิจารณาการให้สินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง

นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า ในปี 2567 โครงการโซลาร์ฟาร์มที่ได้ Adder ในราคา 8 บาทจะสิ้นสุดอายุสัญญา Adder ลงรวมทั้งสิ้น 36 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 260 เมกะวัตต์ จะส่งผลทำให้รายได้ของบริษัทฯ หายไปประมาณ 1,300-1,500 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทมองหาโอกาสในการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศจะเน้นไปที่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ส่วนการลงทุนในต่างประเทศจะเน้นที่ญี่ปุ่น เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ เพื่อชดเชยกับ Adder ที่จะทยอยหมดลง

สำหรับโครงการลงทุนในปัจจุบัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น ได้แก่ โครงการ Ukujima กำลังการผลิตติดตั้งรวม 480 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนก.ค. 2566 โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 17.92% ขนาดการลงทุนรวม 52,000 ล้านบาท เป็นส่วนของบริษัท 2,630 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 286 ล้านบาท และโครงการ Fukuoka Miyako Mega Solar ณ เกาะคิวชู เมืองมิยาโกะฝั่งใต้ กำลังการผลิต 44 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ในเดือน ก.พ. 66 โดยทั้งโครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 7,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนการลงทุนของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 10%


กำลังโหลดความคิดเห็น