xs
xsm
sm
md
lg

“ปิโตรเคมี” คึกรับ ศก.ฟื้น PTTGC-SCC-IRPC-IVL ชูแผนโตอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในปี 2563 กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งบวกและลบ โดยช่วงครึ่งแรกปี 2563 ขาดทุนสต๊อกจากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำอย่างรุนแรงหลังเกิดสงครามราคาน้ำมันระหว่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) กับรัสเซีย รวมทั้งการปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกลดลงมาก

อย่างไรก็ตาม มีผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในการบรรจุภัณฑ์และผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ยอดขายพุ่ง เนื่องจากผู้บริโภคใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น ซึ่งความต้องการใช้นี้ยังสูงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการปิโตรเคมีตั้งงบลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต

คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(PTTGC) กล่าวว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกปรับเพิ่มมากขึ้นตาม รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ราคาผลิตภัณฑ์พลาสติกปรับราคาขายขึ้นตามไปด้วย โดยปี 2564 บริษัทได้ตั้งเป้ายอดขายโตขึ้น 8-10% ซึ่งเป็นการเติบโตตามปริมาณกำลังการผลิตโอเลฟินส์ที่เพิ่มขึ้น หลังจากโครงการ Olefins Reconfiguration Project (ORP) และโครงการ PO/Polyols ได้ผลิตเชิงพาณิชย์ช่วงต้นปีนี้ และธุรกิจการกลั่นก็ปรับตัวดีขึ้นด้วย ส่วนความคืบหน้าโรงงานพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ไตรมาส 4/2564 โดยมีกำลังการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลประเภท rPET 30,000 ตันต่อปี และ rHDPE 15,000 ตันต่อปีช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก

คงกระพันกล่าวว่า บริษัทมีแผนการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ 3 Steps ประกอบด้วย 1. Step Change เป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งภายในบริษัท ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงการหาตลาดอื่นๆ เข้ามาเสริม 2. Step Out กลยุทธ์การแสวงหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ด้วยการลงทุนในธุรกิจใหม่ในกลุ่ม High Value Business (HVB) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโต และสามารถทำกำไรในระดับสูง รวมทั้งมองโอกาสการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) เน้นลงทุนธุรกิจปลายน้ำที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว เพื่อจะได้มีการรับรู้รายได้และกำไรทันที พร้อมการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิม 3. Step Up กลยุทธ์สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ

PTTGC ตั้งงบลงทุน 5 ปีนี้ (ปี 2564-68) วงเงินรวม 600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนโครงการต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการใหม่ๆ หลายโครงการ รวมถึงแผนการซื้อกิจการ (M&A) เข้ามาเพิ่มเติม ยอมรับว่าอยู่ระหว่างการเจรจาหลายโครงการ คาดว่าในปี 2564 จะเห็นการปิดดีลในบางโครงการ
ส่วนความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนใหม่เพื่อถือหุ้นในโครงการ หลังจากพันธมิตรเดิมคือแดลิมจากเกาหลีใต้ได้ถอนตัวไป รวมทั้งเจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อต่อรองค่าก่อสร้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดในกลางปี 2564


SCC หนุนธุรกิจเคมิคอลส์เพื่อความยั่งยืน

ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) กล่าวว่า ในปี 2564 ธุรกิจเคมิคอลส์ยังต้องเผชิญความท้าทายในหลายเรื่องที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เช่น หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy for Plastics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการพลาสติกใช้แล้วที่เจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้บริโภคให้ความสำคัญ, การเปลี่ยนแปลงของตลาดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Shifting demand) ส่งผลดีต่อตลาดบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งพลาสติกสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะที่กลุ่มสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มีอุปสงค์ลดลง แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มขยับฟื้นตัวดีขึ้น เชื่อว่าตลาดที่อุปสงค์เคยลดลงไปจะกลับมาดีขึ้น ส่วนสินค้ากลุ่ม Medical and Healthcare ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้งานสูงขึ้นในระยะยาว

บริษัทวางวิสัยทัศน์ธุรกิจเคมิคอลส์ก้าวสู่การเป็น “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” (Chemical Business for Sustainability) โดยมีเป้าหมายเพิ่มการขายผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงหรือ Green Polymer ราว 2 แสนตันภายในปี 2568 เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ ควบคู่กับการตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเร่งขยายเข้าสู่ธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน (Accelerate Circularity) โดยพัฒนานวัตกรรมทำให้พลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ 100% รวมไปถึงการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือการนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี (Chemical Recycling) มีการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่ทันสมัยเพื่อเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วกลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น หรือ Recycled Feedstock สำหรับโรงงานปิโตรเคมี เพื่อนำกลับมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ที่สามารถผลิตเป็น food grade ได้

นอกจากนี้ ยังเร่งการขับเคลื่อนธุรกิจมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เน้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ สุขภาพ ยานยนต์ และการก่อสร้าง, มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก และสร้างการเติบโตระยะยาว พร้อมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทำให้มั่นใจว่าปี 2564 ธุรกิจเคมิคอลส์จะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้รวม 146,870 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนราว 17% และกำไรสุทธิ 17,667ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14% สอดรับตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก และรับรู้ปริมาณกำลังการผลิตเพิ่มจากการขยายกำลังการผลิตโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOCD) ที่จะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในต้นไตรมาส 2 นี้ ทำให้มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มอีก 350,000 ตันต่อปี รวมทั้งบริษัทมีการเจรจา M&A หลายโครงการ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

บริษัทฯ ยังได้ก่อสร้างโรงงานต้นแบบการนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Demonstration Plant) แห่งแรกในไทย ในพื้นที่บริเวณโรงงานจังหวัดระยอง ด้วยกำลังการผลิต Recycled Feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปี และพร้อมที่จะขยายกำลังผลิตในอนาคตเพื่อสอดรับนโยบายบริษัทในการทำธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน

ส่วนความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม การก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 70% คาดว่าใน 2 ปีข้างหน้าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยปี 2564 คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปีก่อนใช้เงินลงทุนไป 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ


IVL ตั้งเป้าปี 66 มี EBITDA เพิ่มเท่าตัว

อาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL กล่าวว่า ในปี 2563 เป็นปีที่ท้าทาย แต่บริษัทก้าวผ่านมาได้อย่างแข็งแกร่ง มีการเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต โดยปรับโครงสร้างการบริหารธุรกิจ สร้างทีมบริหาร 16 ทีมจาก 3 ธุรกิจเพื่อให้การตัดสินใจทำอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมการทำงานด้วยระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น การจัดตั้ง Centers of excellence มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรในองค์กร การเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนภายใต้โครงการ Olympus โดยวางเป้าหมายปี 2566 บริษัทมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

สำหรับเม็ดเงินลงทุนในปี 2564 ตั้งงบไว้ที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เน้นใช้ในโครงการ Olympus คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 192 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ และลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรีไซเคิล เพื่อสนับสนุนความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน IVL ตั้งเป้ายอดขายปี 2564 เติบโต 12% โดยเป็นการเติบโตจากธุรกิจไฟเบอร์ขยายตัวมากกว่า 20% ส่วนธุรกิจเม็ดพลาสติกผสม (Combined PET) โตประมาณ 7-8% ธุรกิจ Integrated Oxides and Derivatives (IOD) คาดว่าปีนี้จะมีการปรับตัวดีขึ้นจากราคาน้ำมัน และอุปสงค์ MEG ที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส1/2564 มีทิศทางที่ดี เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมในปีนี้ฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ความต้องการสินค้า PET, MEG เพิ่มขึ้น

IRPC รับมือยุค New Normal

ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) กล่าวว่า ในปี 2564 IRPC จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นมาจากธุรกิจปิโตรเคมี เนื่องจากความต้องการใช้พลาสติกยังดีต่อเนื่อง ทั้งเม็ดพลาสติก PP และ HDPE ส่วนผลิตภัณฑ์ ABS แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2563 อันเนื่องจากการบริโภครถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง แต่หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย พบว่าความต้องการใช้ ABS ปรับตัวดีขึ้น แต่ในแง่ซัปพลายคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตใหม่จากมาเลเซียและจีนในช่วงครึ่งหลังปี 2564

ทำให้บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2564 จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิอีกครั้งหลังจากปี 2563 บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 6,152 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนสต๊อกน้ำมันในปี 2563 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับกว่า 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในปีก่อนที่ราว 42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยบริษัทประเมินว่าราคาน้ำมันดิบปีนี้เฉลี่ย 55-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดังนั้น ทั้งปี 2564 บริษัทฯ ไม่น่าจะมีการบันทึกผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันอีก

นอกจากนี้ IRPC ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างต้นทุน รูปแบบการทำธุรกิจและวิธีการทำงาน เพื่อรับมือยุค New Normal ด้วยการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมทั้งขยายขอบเขตการลงทุน โดยกำหนดเป้าหมายและวิธีการเดินหน้าสู่ความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ 3S ได้แก่ Strengthening the core การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลัก ได้แก่ แผนการลงทุนในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 (Euro V) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 2566 และการปรับปรุงกระบวนการทำงาน IRPC 4.0 เป็นการนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้

Striving the growth ขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) เดินหน้าขยายธุรกิจด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำ เช่น การร่วมมือกับ ปตท.ในการศึกษาการผลิต Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และ Nitrile Butadiene Latex วัตถุดิบที่นำไปผลิตเป็นถุงมือแพทย์ และการร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ ให้ลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

Sustaining the future การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน และสังคมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการใช้พลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในองค์กร ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติสามารถนำกลับไปรีไซเคิล และการสร้างคุณค่าให้แก่สังคม (Creating Social Value) โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชสร้างห้องปฏิบัติการกลางเพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2564

บริษัทฯ ตั้งงบลงทุน 5 ปีนี้ (ปี 2564-68) อยู่ที่ 36,251 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) จำนวน14,248 ล้านบาท โครงการ Strengthen จำนวน 2,370 ล้านบาท โครงการลงทุนทั่วไปและค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงโรงงานจำนวน 11,242 ล้านบาท และอื่นๆ 8,391 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อต่อยอดธุรกิจในด้านอื่นๆ ส่วนโครงการ MARS ซึ่งเป็นการผลิตพาราไซลีน (PX) ยังต้องเลื่อนการลงทุนออกไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์ภาพรวมธุรกิจอะโรเมติกส์จะดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น