xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตตลาดรถยนต์มุ่งสู่รถไฟฟ้า 100% “ญี่ปุ่น-อเมริกา-ยุโรป” รุกขยายฐานการผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อนาคตตลาดรถยนต์มุ่งสู่รถไฟฟ้า 100% “ญี่ปุ่น-อเมริกา-ยุโรป” รุกขยายฐานการผลิต

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงอนาคตของวงการรถยนต์ของโลกในอนาคตว่าจะมีทิศทางอย่างไร ซึ่งปัจจุบันได้มีการศึกษาชัดเจนว่า “การขนส่ง” เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และในสหรัฐอเมริกามีสถิติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไมล์สำหรับรถ EV โดยเฉลี่ยนั้นน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อประมาณ 45% และสิ่งหนึ่งที่จะช่วยในลดการปล่อยก๊าซดังกล่าวได้ คือ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดในระบบขนส่ง ทั้งการขนส่งมวลชน การขนส่งสินค้า โดยพลังงานสะอาดที่กล่าวมานี้ก็คือ พลังงานไฟฟ้า ซึ่งในการศึกษาของ MIT ระบุว่าการลดการปล่อยมลพิษในการขนส่ง จำเป็นต้องมีการยกเครื่องระบบไฟฟ้าที่ใช้ในการชาร์จรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือรถ EV

ปัจจุบันรถ EV มีการเติบโตและเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน มีความสนใจในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรถ EV มากขึ้น โดยในปี 2018 รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 5.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 2 ล้านคันจากปี 2017 และมีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามด้วยยุโรปและสหรัฐอเมริกา และมีประเทศนอร์เวย์เป็นผู้นำระดับโลกในแง่ของส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรือ 46%

ในปี 2018 มีรถไฟฟ้าสองล้อทั่วโลกประมาณ 260 ล้านคัน และมีรถบัสไฟฟ้าประมาณ 460,000 คัน และสำหรับอุตสาหกรรมขนส่งสินค้า รถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก (light-commercial vehicles : LCVs) ซึ่งมีมากถึง 250,000 คันในปี 2018 ในขณะที่ยอดขายรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดกลางมีประมาณ 1,000-2,000 คันในปี 2018 โดยในปี 2018 มีบริการที่เกี่ยวข้องกับ รถ EV ทั่วโลก ได้แก่ บริการที่ชาร์จรถยนต์ขนาดเล็ก (light-duty vehicle : LDV) ประมาณ 5.2 ล้านเครื่อง (เป็นบริการสาธารณะสำหรับบุคคลทั่วไปประมาณ 540,000 เครื่อง) บริการที่ชาร์จด่วนสำหรับรถโดยสารประมาณ 157,000 เครื่อง โดยพบว่าในปี 2018 รถ EVs บนท้องถนนใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 58 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) (ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าสองล้อในจีน) และสามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีขนาดเครื่องยนต์เท่ากัน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยานพาหนะไฟฟ้าเติบโตในตลาด ได้แก่ 1) การมียานพาหนะไฟฟ้าออกสู่ตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถที่ผสมผสานระหว่างยานพาหนะที่ใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า (battery electric vehicles : BEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) 2) การมีโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนควรต้องมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าในที่สาธารณะ เพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่าการชาร์จรถ EV ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่บ้านพักอาศัย แต่การชาร์จไฟในที่สาธารณะจะช่วยในเรื่องการเดินทางที่ไกลยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยในการเดินทางบนท้องถนนที่ยาวนานขึ้น หรือแม้แต่การชาร์จไฟฟ้าในสถานที่ทำงานก็กำลังจะเริ่มเกิดขึ้น 3) การพัฒนาให้ยานพาหนะไฟฟ้าสามารถเดินทางได้ไกลขึ้น เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกๆ มักเดินทางในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ แต่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่จะมีความสามารถในการเดินทางได้ระยะทางอย่างน้อย 250 กม.

4) การสนับสนุนและนโยบายจากรัฐบาล ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการเติบโตของการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้า เช่น การกำหนดเป้าหมายในการใช้รถ EV แผนการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า และมาตรฐานการชาร์จไฟฟ้า รวมถึงแผนการกระตุ้นความต้องการยานพาหนะไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แรงจูงใจทางด้านการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสำคัญก็คือ ตราบใดที่ราคารถ EV ยังคงสูงกว่าสำหรับรถยนต์สันดาปภายใน ก็อาจจะมีมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย อย่างเช่น การยกเว้นค่าที่จอดรถสำหรับผู้ใช้รถ EV หรือการให้ incentive แก่ผู้ใช้รถยนต์ที่ปล่อยไอเสียต่ำ หรือการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (zero-emissions) รวมถึงการสนับสนุนการปรับโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้า ข้อกำหนดขั้นต่ำ เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศและประชาชนมีความพร้อม สำหรับการใช้รถ EV เช่น การสร้างที่ชาร์จไฟฟ้าในอาคาร และลานจอดรถ และมีเครื่องชาร์จไฟฟ้าที่เข้าถึงได้ง่ายในเขตเมือง และบนทางหลวง

ทั้งนี้ การศึกษาของ MIT พบว่าภายในปี 2050 ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดแบบ plug-in จะมีเพิ่มขึ้น โดยจะมีส่วนแบ่งมากถึง 33% ของยานพาหนะทั่วโลก เนื่องจากราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกฎระเบียบในการควบคุมปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อป้องกันภาวะโลกร้อน อาจผลักดันตัวเลขส่วนแบ่งให้อยู่ที่ 50% นั่นหมายถึงการมียานพาหนะที่มีการปล่อยมลพิษต่ำเพิ่มอีกหลายร้อยล้านคันบนถนน และเป็นยานพาหนะที่สามารถป้องกันไม่ให้คาร์บอนไดออกไซด์เข้าถึงชั้นบรรยากาศ

เมื่อแนวโน้มยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเพิ่มมากขึ้นในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ดังนั้นการเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเบนซินเป็นการใช้พลังงานแบตเตอรี่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อสถานีบริการน้ำมันและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้ขับขี่จะเริ่มหยุดการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วหันไปชาร์จไฟฟ้าที่บ้านแทน ดังนั้น สถานีบริการน้ำมันจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น การเป็นทั้งสถานีบริการน้ำมันและสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า และในอนาคตภายในปี 2040 ผู้คนจะใช้รถ EV เพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการใช้รถ EV มากถึง 48% ของรถยนต์ทั้งหมด เนื่องจากแบตเตอรี่ราคาถูกลง เวลาในการชาร์จไฟฟ้าลดลง และสามารถขับขี่รถ EV ในระยะทางที่ไกลมากขึ้น สอดคล้องกับรายงานของ Morgan Stanley Research ระบุว่าหากสามารถแก้ปัญหาในเรื่องเวลาในการชาร์จไฟฟ้า และการเดินทางได้ระยะทางที่ไกลขึ้นของรถ EV ก็จะช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการใช้งานรถ EV มากขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าต้นทุนแบตเตอรี่ไฟฟ้าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยที่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเทคโนโลยีกำลังลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่มีต้นทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางเคมีของแบตเตอรี่และการขยายกำลังการผลิต ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีส่วนทำให้รถ EV สามารถลดต้นทุนและขยายกำลังการผลิตได้ รวมถึงการออกแบบแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์ใหม่โดยใช้สถาปัตยกรรมการออกแบบที่เรียบง่าย สร้างสรรค์ มีความยืดหยุ่น และมีการใช้ big data เพื่อปรับปรุงแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งานในรถแต่ละประเภท


ทั้งนี้ ภาคเอกชนกำลังมีการตอบสนองเชิงรุกต่อนโยบายด้านพลังงาน และการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว โดยมีโรงงานผู้ผลิต OEM จำนวนมากขึ้น ที่มีความตั้งใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และยังขยายไปยังอุตสาหกรรมการขนส่งทางถนนอื่นๆ ด้วย ซึ่งในประเทศจีนและทางแถบยุโรปมีการลงทุนอย่างมากในการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า ในภาคส่วนบริษัทพลังงาน ต่างก็มีการเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จพลังงานไฟฟ้า ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตอาจเกิดการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทด้านสาธารณูปโภค และบริษัทด้านพลังงาน

นอกจากนี้ยังมีสำนักวิจัยจำนวนมากที่ได้รายงานสรุปแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะมีระดับราคาที่เท่าเทียมกับกลุ่มรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอีก 5 ปีข้างหน้า และยังมีแนวโน้มว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ความแตกต่างในเรื่องราคาของยานพาหนะทั้งหลายจะหมดไป ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง และค่าบำรุงรักษา เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้สำหรับยานพาหนะไฟฟ้ากำลังจะมีต้นทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ต้นทุนของรถ EV จึงกำลังจะลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

โดยปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีราคาประมาณ 175-300 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ซึ่งมีนักวิจัยและนักวิชาการหลายรายคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 หรืออาจเร็วกว่านั้น ต้นทุนของแบตเตอรี่ดังกล่าวจะลดลงไปเหลือเพียง 100 เหรียญสหรัฐ/kWh และมีแนวโน้มว่าต้นทุนรถ EV จะต่ำลงอย่างมากภายในปี 2030 ซึ่งจำเป็นจะต้องเปลี่ยนส่วนประกอบทางเคมีของแบตเตอรี่จากลิเธียมไอออนในปัจจุบันไปสู่เทคโนโลยีอื่น อย่างเช่น แบตเตอรี่ lithium-metal, solid-state และ lithium-sulfur ซึ่งแต่ละประเภทยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม Gene Berdichevsky ผู้บริหารสูงสุดของ Sila Nanotechnologies ผู้ผลิตวัสดุแอโนด มีความเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่ราคาแบตเตอรี่จะลดลงได้ถึง 100 เหรียญสหรัฐ/kWh ด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในปัจจุบัน แต่ก็จะมีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย Berdichevsky คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ชุดแบตเตอรี่จะสามารถเก็บพลังงานได้มากขึ้น และสามารถวิ่งอยู่บนถนนได้ระยะทางไกลมากขึ้นซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่าย สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งาน และเพิ่มความดึงดูดในการใช้รถ EV ของผู้คนได้มากขึ้น

สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกจำนวนมาก ปัจจุบันกำลังขับคลื่อนเข้าสู่การผลิตรถ EV โดยแต่ละบริษัทต่างก็มีรูปแบบรถและระดับราคาที่แตกต่างกัน เช่น Ford ที่ได้เปิดตัวรถ SUV ไฟฟ้าในปีหน้า โดยมี Mustang Mach E. Audi, Jaguar, Mercedes-Benz และ Tesla ซึ่งทั้งหมดได้เปิดตัวรถ SUV ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เช่นกัน เพื่อตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภคสำหรับยานพาหนะขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การผลิตรถ EV ทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในประเทศญี่ปุ่น บริษัท Nidec ผู้ผลิตยานยนต์ในญี่ปุ่นมีการลงทุนประมาณ 2 แสนล้านเยน (หรือ ประมาณ1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในการขับเคลื่อนฐานการผลิตยานพาหนะไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 10 ล้านคันต่อปี โดยแผนการผลิตนี้ทำให้มีการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นในเมืองต้าเหลียนทางตอนเหนือของจีน พร้อมกับโรงงานแห่งใหม่ในโปแลนด์ และเม็กซิโก

จะเห็นได้ว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้ใช้กลยุทธ์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งสำนักวิจัย IHS Markit คาดว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะเติบโตเป็น 14 ล้านคันภายในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันในปี 2019 โดย Nidec จะต้องแข่งขันกับซัปพลายเออร์รถยนต์รายอื่นๆ รวมถึง Bosch ของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่ง Nidec จากญี่ปุ่นที่วางแผนจะลงทุนเป็นเงิน 100,000 ล้านเยนในโรงงานแห่งใหม่ในต้าเหลียน ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 55,000 ล้านเยน โดยโรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 3.6 ล้านคันต่อปี และNidec ตั้งเป้าที่จะเริ่มทำการผลิตรถยนต์ที่จีนประมาณปี 2021

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลก กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนที่ต้องอาศัยการพึ่งพาการอุดหนุนจากรัฐบาล แต่ Nidec เชื่อว่าจะสามารถขายรถยนต์ได้ในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ประมาณร้อยละ 30-50 ดังนั้นจึงมีจัดหาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต สำหรับการลงทุนโรงงานในโปแลนด์และเม็กซิโก อีกแห่งละ 5 หมื่นล้านเยน โรงงานแต่ละแห่งจะมีกำลังการผลิตสูงสุดปีละประมาณ 2.4 ล้านคัน และพร้อมที่จะตอบรับคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยการผลิตในโปแลนด์จะเริ่มประมาณปี 2021 และในเม็กซิโกจะเริ่มประมาณปี 2023 ซึ่งสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับ Nidec ก็คือยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Automotive motors) ดังนั้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองและติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับการเติบโตของวงการรถยนต์ที่กำลังจะพลิกโฉมไปสู่การผลิตรถยนต์แห่งอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น