xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ อยู่บน ‘ขอบเหวของความประมาทเลินเล่อ’ ในยูเครน ที่อาจนำไปสู่ ‘สงครามนิวเคลียร์’ โดยไม่ได้ตั้งใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ยานบรรทุก RS-24 Yars ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปรุ่นใหม่ของรัสเซีย เคลื่อนผ่านจัตุรัสแดงในกรุงมอสโก ระหว่างพิธีสวนสนามเฉลิมฉลองวันชัยชนะ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2020 ทั้งนี้ สงครามในยูเครนเวลานี้ทำให้มีการข่มขู่คุกคามว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์กันเพิ่มสูงขึ้น
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US on brink of recklessness in Ukraine
by Stephen Bryen
28/04/2022

คณะบริหารไบเดนกำลังผลักดันรัสเซีย อย่างไม่ได้มีความจำเป็นแต่มีอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ให้มุ่งหน้าไปสู่การทำให้การข่มขู่คุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของแดนหมีขาวกลายเป็นเรื่องจริงๆ ขึ้นมา

เครือข่ายโทรทัศน์เอ็นบีซีของอเมริการายงานเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ จัดส่งข่าวกรองเกี่ยวกับเป้าหมายที่ทำให้ฝ่ายยูเครนสามารถยิงเครื่องบินขนส่งทหารของฝ่ายรัสเซียเหนือกรุงเคียฟตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ทหารรัสเซียกว่า 100 คนบนเครื่องบินเสียชีวิต
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dailymail.co.uk/news/article-10757037/US-provided-Ukraine-real-time-info-allowed-shoot-Russian-troop-transporter.html)

แน่นอนทีเดียวว่านี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียวของสิ่งที่เรียกกันว่า ความเป็นหุ้นส่วนทางข่าวกรองระหว่างสหรัฐฯ กับยูเครน และนี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างแรงกล้าของสหรัฐฯ ในการช่วยเหลือยูเครน และหลอกล่อฝ่ายรัสเซียให้กินเหยื่อ

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน แถลงว่า สหรัฐฯ ตั้งใจที่จะทำให้รัสเซียอ่อนแอลง เพื่อให้ไม่สามารถสู้รบในสงครามอื่นๆ ได้อีก ในการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาของเขา ออสติน กล่าวว่า สหรัฐฯ ต้องการให้รัสเซีย “พ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์แบบ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nypost.com/2022/04/26/lloyd-austin-finally-admits-us-wants-putin-completely-defeated/)

ถ้า ออสติน มีความจริงจังตามที่พูด เขาก็กำลังเรียกร้องต้องการผลลัพธ์แบบเดียวกับที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเคยเรียกร้องต้องการจากนาซีเยอรมนี นั่นคือ การยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข

มาถึงตอนนี้ ไม่มีใครสามารถทำนายผลลัพธ์ของสงครามในยูเครนได้ ข้อมูลข่าวสารล่าสุดออกมาว่าฝายรัสเซียกำลังจัดขบวนกำลังพลเพื่อเปิดการรุกครั้งใหญ่

หนึ่งในผู้สังเกตการณ์ที่ดูโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ ของการสู้รบขัดแย้งในยูเครนครั้งนี้ ได้แก่ จูนี ลาริ (Jouni Laari) นายทหารผู้มีประสบการณ์สูงชาวฟินแลนด์ และเวลานี้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองอยู่ที่ฝ่ายปฏิบัติการภายนอกของอียู เขาบอกว่าจุดเน้นหนักในปัจจุบันของรัสเซียคือในภูมิภาคอีเซียม-ฮอร์ลิฟกา (Izium-Horlivka region)
(จูนิ ลาริ Jouni Laari ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.linkedin.com/in/jouni-laari-84a34673/)
(ฝ่ายปฏิบัติการภายนอกของอียู EU’s External Action Service ชื่ออย่างเป็นทางการคือ European External Action Service หรือ EEAS เป็นหน่วยงานทางการทูต และทำหน้าที่เสมือนเป็นกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงกลาโหมควบรวมกันของสหภาพยุโรป ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/European_External_Action_Service)

เขาเขียนเอาไว้ว่า “กำลังมีการจัดขบวนเพื่อเปิดการโจมตีอย่างเข้มแข็งในทิศทางใหม่อีกทิศทางหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่ใช่ในโดเน็ตสก์ (Donetsk) ก็จาก เวลีกา โนโวซิกา (Velyka Novosilka) ในทิศทางสู่เมืองซาโปริเซีย (Zaporizhia)” ฝ่ายรัสเซียดูเหมือนกำลังยอมเสียเวลา ดำเนินการจัดกำลังอย่างระมัดระวัง และตระหนักดีว่าทุกการเคลื่อนไหวของพวกเขาถูกเฝ้าติดตามจากพวกดาวเทียมและมือปฏิบัติการด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.linkedin.com/feed/update/urn:li:activity:6924414601329537024/)

แต่ฝ่ายรัสเซียก็กำลังรู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก และมีความเชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าพวกเขากำลังทำสงครามกับนาโต้ ไม่ใช่เฉพาะแค่กับยูเครน ในทางเป็นจริงแล้ว มันเป็นความรู้สึกมากมายขนาดที่ เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย พูดออกมาว่า ภัยคุกคามของสงครามนิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่ “ไม่ควรประเมินให้ต่ำกว่าความเป็นจริง” และอันตรายในเรื่องนี้อยู่ในระดับจริงจังเอามากๆ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.yahoo.com/russias-lavrov-warns-real-danger-152937809.html)

รัฐมนตรีต่างปรเทศรัสเซีย เซียร์เก ลาฟรอฟ บอกว่า การข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของมอสโกนั้น เป็นของจริง ฝ่ายตะวันตกอย่าได้ดูเบาประเมินค่าให้ต่ำเกินไป
เป็นเวลาหลายสัปดาห์มาแล้วเหมือนกัน สหรัฐฯ ส่งเสียงเตือนว่ารัสเซียอาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ถ้าสงครามในยูเครนยังคงดำเนินไปอย่างย่ำแย่ แล้วสิ่งที่ยังมาเพิ่มเติมเข้ากับส่วนผสมที่สามารถทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ได้อยู่แล้วนี้ก็คือ ฝ่ายรัสเซียเองกำลังเตือนเหมือนกันว่า นาโต้กำลังจวนเจียนที่จะนำเอาอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในยุโรปตะวันออกแล้ว

ฝ่ายรัสเซียกำลังเพ่งเล็งไปที่ระบบป้องกันขีปนาวุธ “เอจิส-ใช้ในพื้นที่บนบก” (AEGIS-Ashore) แบบใหม่ ที่สหรัฐฯ นำไปติดตั้งประจำการในโปแลนด์และโรมาเนีย และวิตกกังวลเกี่ยวกับแพลตฟอร์มยิงขีปนาวุธที่จะขึ้นสกัดกั้นขีปนาวุธข้าศึกซึ่งยิงเข้ามา (interceptor missile launching platform) ที่เรียกชื่อกันว่า ระบบยิงแนวดิ่ง เอ็มเค-41 (MK-41 vertical launching system) ระบบเอจิสแบบที่ใช้ติดตั้งกับเรือรบในทะเล (AEGIS at sea) และเวลานี้ก็รวมทั้งเอจิสแบบติดตั้งบนบกด้วยนั้น ใช้เอ็มเค-41 เพื่อปล่อยขีปนาวุธตัวสกัดกั้นขึ้นไป (ตัวอย่างเช่น ขีปนาวุธตัวสกัดกั้น เอสเอ็ม-2 SM-2, เอสเอ็ม-3 SM-3 และเอสเอ็ม-6 SM-6)

ฝ่ายรัสเซียกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับแพลตฟอร์มยิงขีปนาวุธที่จะขึ้นสกัดกั้นขีปนาวุธข้าศึกซึ่งยิงเข้ามา ที่เรียกชื่อกันว่า ระบบยิงแนวดิ่ง เอ็มเค-41(ภาพจากทวิตเตอร์)
อย่างไรก็ดี เอ็มเค-41 ยังถูกใช้เป็นท่อยิงสำหรับขีปนาวุธร่อน “โทมาฮอว์ก” (Tomahawk cruise missile) ซึ่งเป็นขีปนาวุธร่อนพิสัยยิงไกลที่มีความเร็วต่ำกว่าเสียง ใช้พลังเครื่องยนต์ไอพ่น และใช้งานได้ในทุกสภาพอากาศ โดยที่ตอนแรกเลยออกแบบมาเพื่อให้สามารถหลบหลีกการป้องกันทางอากาศของโซเวียต

โทมาฮอว์ก สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ที่เรียกว่า ดับเบิลยู-80 (W-80) ซึ่งมีความรุนแรงของระเบิดนิวเคลียร์ระดับต่างๆ ตั้งแต่ 5 จนถึง 150 กิโลตัน (เคที) เปรียบเทียบกันแล้ว ระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงใส่เมืองฮิโรชิมา มีอานุภาพระหว่าง 13 เคที ถึง 18 เคที หัวรบชนิดนี้ถูกปลดประจำการไปในช่วงระหว่างปี 2010 ถึงปี 2018 ถึงแม้มันยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในคลังเก็บที่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว

ไม่มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ ไม่ว่าชนิดไหนก็ตามที ที่ระบุว่าสหรัฐฯ วางแผนนำเอาหัวรบนิวเคลียร์กลับมาติดตั้งกับโทมาฮอว์ก หรือกระทั่งนำเอาโทมาฮอว์ก มาติดตั้งในแพกเกจระบบป้องกันขีปนาวุธเอจิส-ติดตั้งบนบก ซึ่งประจำการอยู่ในโปแลนด์และโรมาเนีย

แต่เมื่อมองจากมุมของฝ่ายรัสเซีย การที่ไม่มีข่าวกรองในเรื่องเช่นนี้ กลับอาจจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสหรัฐฯ กำลังวางแผนการทำอะไรที่ซุกซ่อนไว้ไม่ให้โลกภายนอกพบเห็น และมีความเสี่ยงสูงสุดๆ ต่อรัสเซีย ในโลกที่สับสนวุ่นวายเช่นนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ฝ่ายข่าวกรองรัสเซียต้องกำลังตีความคำเตือนจากฝ่ายสหรัฐฯ เกี่ยวกับการที่รัสเซียจะนำเอาอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาใช้ในสงครามยูเครน ว่าคือหลักฐานรูปธรรมที่แสดงถึงการวางแผนอย่างมุ่งร้ายอันตรายยิ่งของฝ่ายสหรัฐฯ เอง

ระหว่างยุคสงครามเย็น สหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตต่างฝ่ายต่างพยายามอย่างดีที่สุด (แทบจะตลอดเวลา) ในการหลีกเลี่ยงการประจันหน้ากันที่อาจเสี่ยงทำให้เกิดการตอบโต้ใส่กันด้วยนิวเคลียร์

ครั้งที่เลื่องลือเป็นที่ทราบกันกว้างขวางที่สุด ก็คือตอนที่ฝ่ายรัสเซียนำเอาขีปนาวุธพิสัยกลางเข้าไปในคิวบาในปี 1962 พร้อมด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ อิล-28 (Il-28) ที่สามารถทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ได้ ในคราวนั้นสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการท้าทายฝ่ายรัสเซีย และเรียกร้องให้ถอนขีปนาวุธเหล่านั้นออกไป –ถึงแม้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน สหรัฐฯ ก็ต้องถอนขีปนาวุธ “จูปิเตอร์” (Jupiter) ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ออกไปจากตุรกีอย่างลับๆ

การประจันหน้ากันครั้งที่สอง เกิดขึ้นในปี 1973 ระหว่างเกิดสงคราม ยม คิปปูร์ (Yom Kippur war) ในตะวันออกกลาง ในเวลานั้นเมื่อดูเหมือนกองทัพอียิปต์กำลังจะต้องล่าถอย โซเวียตก็เพิ่มการประกอบกำลังโจมตีทางนิวเคลียร์ แล้วเพื่อเป็นการตอบโต้ สหรัฐฯ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ (DEFCON-3) และเฮนรี คิสซิงเจอร์ ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ใหม่ๆ หมาดๆ ในตอนนั้น ก็เริ่มต้นสิ่งที่จะรู้จักกันในชื่อว่า “การทูตแบบกระสวย” (shuttle diplomacy)

บทเรียนจากกรณีเหล่านี้ก็คือ ต้องเจรจากับฝ่ายปรปักษ์ของตนที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และหลีกเลี่ยงการประจันหน้ากันแบบเอากันถึงตาย (คิสซิงเจอร์ต้องรู้สึกตกใจมากกับสิ่งที่เขามองเห็นว่ากำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้ไป)

บทเรียนเหล่านี้ดูเหมือนไม่ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ไม่ว่าจะโดยรัฐมนตรีกลาโหม ออสติน รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เจค ซุลลิวแน หรือตัวประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอง แทนที่จะทำความเข้าใจถึงประสบการณ์ที่มีกับสหภาพโซเวียตในอดีต พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้ดูเหมือนโน้มเอียงไปในทางต้องการหลอกล่อฝ่ายรัสเซียให้กินเหยื่อ และคอยเติมเชื้อเพลิงให้เกิดการขัดแย้งกันรุนแรงยิ่งขึ้น

ส่วนที่เลวร้ายที่สุดของเรื่องนี้ทั้งหมดก็คือว่า สงครามยูเครนคราวนี้เป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากในตอนนั้นสหรัฐฯ ผลักดันประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนให้เจรจาอย่างจริงจังกับฝ่ายรัสเซีย ภายในกรอบของ “ข้อตกลงกรุงมินสก์ 2” (Minsk II agreement)

มินสก์ 2 นั้นลงนามเห็นชอบโดยยูเครน และ 2 สาธารณรัฐที่ประกาศแยกตัวออกจากยูเครน ได้แก่ ลูฮันสก์ (Luhansk) กับโดเน็ตสก์ (Donetsk) และมีองค์การว่าด้วยความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป (Organisation for Security and Cooperation in Europe หรือ OSCE) เป็นผู้ทำหน้าที่กำกับตรวจสอบ

แทนที่จะทำเช่นนั้น ทั้งสหรัฐฯ และเลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) ผู้เป็นกระบอกเสียงของสหรัฐฯ กลับกระทำในทางตรงกันข้าม ทั้งสหรัฐฯ และนาโต้ต่างวางแผนทำสงครามในยูเครน และเริ่มตั้งแต่ราวๆ ปี 2014 ก็เริ่มฝึกกองกำลังรบพิเศษชาวยูเครน เพื่อให้ชิงดินแดนยูเครนที่ยึดไว้ทั้งโดยพวกตัวแทนของรัสเซีย (โดเน็ตสก์ และลูฮันสก์) หรือที่ยึดครองไว้โดยรัสเซียเอง (แหลมไครเมีย) กลับคืนไป

นอกเหนือจากการฝึกทหารดังกล่าวนี้ และการสนับสนุนด้านข่าวกรองแบบเรียลไทม์ สหรัฐฯ ยังวางแผนเรื่องการเคลื่อนย้ายเรือรบของนาวีสหรัฐฯ และของสหราชอาณาจักรไปยังยูเครน เพื่อท้าทายรัสเซียในภูมิภาคทะเลดำและทะเลอาซอฟ เพื่อการนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้จ่ายเงินสำหรับการขุดลอกท่าเรือต่างๆ ของยูเครนให้ลึกยิ่งขึ้นอีก เพื่อรองรับเรือทางทหารของสหรัฐฯ และของสหราชอาณาจักร

การก้าวเดินเหล่านี้ไม่มีฝีก้าวไหนเลยที่หลุดลอดไปจากสายตาของฝ่ายรัสเซีย ผู้ซึ่งยื่นข้อเสนอเป็นนัยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในยูเครนโดยผ่านการเจรจาภายใต้ข้อตกลงมินสก์ 2 และเพื่อให้มีการพิจารณาจัดทำข้อตกลงด้านความมั่นคงครั้งใหม่ในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวต่อการแสดงท่าทีทาบทามเหล่านี้ทั้งหมด นาโต้จัดแจงขับไล่คณะผู้แทนของฝ่ายรัสเซียแทบทั้งหมดออกไปจากนาโต้ ดังนั้นฝ่ายรัสเซียจึงตัดสินใจถอนตัวทั้งยวงและปิดสำนักงานต่างๆ ของนาโต้ในกรุงมอสโก

แทนที่จะทำงานเพื่อมุ่งไปสู่หนทางออกที่สามารถยอมรับกันได้ และเสนอเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีการจัดทำข้อตกลงที่จะปกป้องอธิปไตยของยูเครนและความมั่นคงของยุโรปตะวันออก นโยบายสหรัฐฯ กลับเดินหน้าเต็มตัวไปในทิศทางตรงกันข้าม

ด้วยเหตุนี้ นโยบายสหรัฐฯ จึงกำลังอยู่บนขอบเหวของความประมาทเลินเล่อในเรื่องยูเครน และในวงกว้างออกไป ก็คือในเรื่องความมั่นคงในยุโรป น่าเศร้าใจที่ไม่มีพลังภายในประเทศคอยดึงรั้งความเคลื่อนไหวเหล่านี้จากภายในสหรัฐฯ เอง โดยที่ช่างเคราะห์ร้ายเหลือเกิน ในสหรัฐฯ นั้นเวลานี้ส่วนใหญ่ต่างพากันเน้นหนักไปที่เรื่องชัยชนะของฝ่ายยูเครนและความเพลี่ยงพล้ำทางการทหารของฝ่ายรัสเซีย

ไม่มีการให้เวลาใดๆ สำหรับการขบคิดด้วยความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า รัสเซียที่อยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพอาจจะหมายความว่าอย่างไรได้บ้างสำหรับสันติภาพและความมั่นคงของโลก และไม่มีสัญญาณใดๆ ในสหรัฐฯ เลยว่าจะมีความรู้สึกอ่อนไหวกันเพิ่มมากขึ้น ก่อนที่ความวิบัติหายนะด้านนิวเคลียร์จะบังเกิดขึ้นมา

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเรื่องยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง เขาเคยดำรงตำแหน่งระดับอาวุโสในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เคยเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมระหว่างปี 1981-1988), รัฐสภาสหรัฐฯ, ตลอดจนเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทด้านกลาโหมและเทคโนโลยีนานาชาติขนาดใหญ่ ปัจจุบันเขาเขียนเรื่องให้แก่เอเชียไทมส์, American Thinker, Jewish Policy Center ตลอดจนหนังสือพิมพ์และนิตยสารอื่นๆ จำนวนมาก เขายังเขียนหนังสือในหัวข้อความมั่นคงที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วรวม 4 เล่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น