xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมรัสเซียปฏิบัติการในยูเครนครั้งนี้ โดยเน้นหนักที่ดอนบาสส์และภูมิภาคริมทะเลดำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร


ทหารยูเครนยืนรักษาการณ์อยู่ที่จุดตรวจบนถนนสายหลักสายหนึ่งของกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2022
Why Russian operation focuses on Donbass, Black Sea regions
BY M. K. BHADRAKUMAR
02/03/2022

จากเครื่องบ่งชี้จะพอจะมองเห็นกันได้ การปฏิบัติการของรัสเซียคราวนี้ ดูเหมือนจะมีวัตถุประสงค์ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ การทำให้เคียฟและเมืองสำคัญอื่นๆ ตกอยู่ในภาวะสงครามปิดล้อม หรือสงครามพร่ากำลัง, การตัดเส้นทางหลบหนีของกองกำลังฝ่ายยูเครนที่ถูกส่งไปประจำการในยูเครนภาคตะวันออก ไม่ให้สามารถถอยกลับกรุงเคียฟได้, และการรวมกำลังสร้างความเข้มแข็งในดินแดนดอนบาสส์ และแนวพื้นที่ชายฝั่งริมทะเลดำซึ่งอยู่ติดกัน

นักหนังสือพิมพ์ชาวอินเดียมากประสบการณ์อีกทั้งเป็นผู้สื่อข่าวสงครามระดับเวิลด์คลาสผู้หนึ่ง เขียนเอาไว้ด้วยอารมณ์ขันเมื่อไม่นานมานี้ว่า เมื่อ ลิส ดูเซต (Lyse Doucet) ของบีบีซี เดินทางไปที่กรุงเคียฟ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เขาก็หวนระลึกถึงเสียงร้องโหยหวลของพวกลิงในอุทยาน คอร์เบนตต์พาร์ก (Corbett Park) เพื่อเตือนภัยกันให้ก้องป่าว่า มีเสือตกำลังด้อมๆ มองๆ ออกหากินแล้ว “ในทันทีที่ผมเห็น ดูเซต ผมก็รู้ทันทีว่า “แอคชั่น” กำลังจะเริ่มขึ้น (ในยูเครน) แล้ว” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้
ลิส ดูเซต (Lyse Doucet) เป็นหัวหน้าผู้สื่อข่าวในต่างประเทศ และพรีเซนเตอร์อาวุโส ของบรรษัทแพร่ภาพและกระจายเสียงสหราชอาณาจักร (บีบีซี) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Lyse_Doucet -ผู้แปล)
คอร์เบนตต์พาร์ก (Corbett Park) ชื่อเต็ม คือ Jim Corbett National Park (อุทยานแห่งชาติ จิม คอร์เบตต์) ตั้งอยู่รัฐอุตตราขัณฑ์ ทางภาคเหนือของอินเดีย ถือเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในอินเดีย และก็เป็นอุทยานแห่งแรกที่อยู่ในโครงการริเริ่มอนุรักษ์เสือ (Project Tiger initiative) ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Jim_Corbett_National_Park -ผู้แปล)

อย่างไรก็ตาม คราวนี้ บีบีซี ผิดพลาดเสียแล้ว บางที เอ็มไอ6 (MI6 หน่วยงานข่าวกรองของสหราชอาณาจักรที่ปฏิบัติการในต่างประเทศ) อาจจะคาดการณ์เอาไว้ว่ารัสเซียจะเข้าโจมตีแบบวินาศสันตะโรใส่กรุงเคียฟ –อะไรที่คล้ายๆ ตอนที่สหราชอาณาจักร-สหรัฐอเมริกาจับมือกันใช้ลูกระเบิดเพลิงทิ้งใส่เมืองเดรสเดน (Dresden) ในเยอรมนีอย่างเหี้ยมโหดระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 1945 โดยที่ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นหนักจำนวนราว 1,300 ลำ ทิ้งลูกระเบิดที่บรรจุวัตถุระเบิดเอาไว้สูงลิ่วจำนวนรวมกันมากกว่า 3,900 ตันใส่เมืองนี้ และประมาณการกันว่าสังหารผู้คนไประหว่าง 22,700 ถึง 25,000 คน

เมืองเดรสเดน ในเยอรมนี ภายหลังถูกสหราชอาณาจักร-สหรัฐฯโจมตีทิ้งระเบิดทางอากาศอย่างเหี้ยมโหด สังหารชีวิตผู้คนไประหว่าง 22,700 ถึง 25,000 คน ในระยะปิดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2
เอาเข้าจริงแล้ว เวลา 1 สัปดาห์เต็มๆ ผ่านพ้นไป เครื่องบินทิ้งระเบิดรัสเซียยังไม่มาปรากฎตัวให้เห็นกันสักลำเดียว แต่ว่านี่ไม่ได้หมายความว่าเคียฟไม่ได้ตกเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดเป้าหมายหนึ่ง เพียงแต่ดูเหมือนรัสเซียกำลังคาดคำนวณว่าจะเกิด “การระเบิดจากภายใน” ขึ้นในนครแห่งนี้ในท้ายที่สุด ณ ช่วงจังหวะถึงจุดไคลแมกซ์ของสงคราม ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการเสื่อมทรุดหมดอำนาจของระบอบปกครองที่ฝ่ายตะวันตกหนุนหลังและจัดตั้งขึ้นมาในกรุงเคียฟเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ภายหลังจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจที่ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากซีไอเอ

การนำเอาอาวุธออกมาแจกจ่ายให้แก่พลเรือนชาวยูเครน คือการแสดงซึ่งมุ่งหวังผลในทางโฆษณาชวนเชื่ออย่างน่าหยามหยันและหฤโหดยิ่งของระบอบปกครองนี้ โดยเป็นการเล่นไปตามคำแนะนำของพวกพี่เลี้ยงตะวันตก ทว่าแรงสะท้อนถอยหลังได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว พวกแก๊งอันธพาลติดอาวุธกำลังออกเพ่นพ่านไปตามถนนสายต่างๆ ของเคียฟ ทำให้ความปั่นป่วนโกลาหลยิ่งเพิ่มทวี ถ้าหากมันยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การที่กองทัพรู้สึกทนไม่ไหวและเข้ายึดอำนาจ ณ ห้วงเวลาใดห้วงเวลาหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจบอกปัดว่ามันจะไม่เกิดขึ้น

สำหรับกองทหารรัสเซียนั้นจะค่อนข้างหลีกเลี่ยงอยู่มากทีเดียว ที่จะไม่สู้รบกับกองทัพของยูเครนในฐานะที่เป็น “ข้าศึก” –แต่แน่นอนล่ะ มีข้อยกเว้นสำหรับพวกกองกำลังนาซีใหม่ (อย่างที่มีอยู่ในเมืองคาร์คิฟ และเมืองมาริวโปล หรือที่อื่นๆ ในเขตดอนบาสส์ ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน)

หลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนก็คือ ฝ่ายรัสเซียไม่ได้ต้องการทำลายยูเครน วัตถุประสงค์คือการฟื้นฟูอธิปไตยของยูเครนขึ้นมาใหม่ภายใต้คณะผู้นำชาวยูเครน และช่วยเหลือในการสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาของคณะผู้นำนี้ เพื่อให้กลายเป็นกันชนที่ทนทานแข็งแกร่งซึ่งสkมารถต้านทานการรุกรานใดๆ จากฝ่ายตะวันตกในอนาคตข้างหน้า

การที่เยอรมนีกลับเพิ่มกำลังอาวุธขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เป็นเรื่องซึ่งต้องลั่นระฆังเตือนภัยกันทีเดียว โดยที่ในตอนนี้งบประมาณทางหทารของฝรั่งเศส, เยอรมนี, และสหราชอาณาจักรรวมกัน ก็เกินเลยงบประมาณด้านนี้ของรัสเซียถึง 3 เท่าตัวอยู่แล้ว เรื่องที่ฝรั่งเศสกับเยอรมนีมีความเกี่ยวข้องพัวพันอย่างล้ำลึกกับยูเครนในสมัยหลังจากปี 2014 เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับรู้กันในแวดวงสาธารณะ พวกเขาดำเนินการอย่างสุขุมรอบคอบ แต่มีการเสริมเติมให้มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อผลในระยะยาว เรื่องนี้อธิบายได้ว่าทำไมพวกเขาจึงรู้สึกโกรธแค้นมอสโกกันถึงขนาดนี้

ถ้าหากไม่ทำความเข้าใจสถานการณ์หลายๆ ด้านที่เกี่ยวเนื่องโยงใยกันอย่างสลับซับซ้อนเหล่านี้แล้ว ก็ยากที่จะสามารถรู้ซึ้งถึงพลวัตแห่งการสู้รบทำศึกของรัสเซียในปัจจุบันได้ จากเครื่องบ่งชี้ต่างๆ เท่าที่จะพอจะมองเห็นกันได้ การปฏิบัติการของรัสเซียดูเหมือนจะมีวัตถุประสงค์ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่:

**ทำให้เคียฟและเมืองสำคัญอื่นๆ ตกอยู่ในภาวะสงครามปิดล้อม siege warfare (สงครามพร่ากำลัง attrition warfare)
**ตัดเส้นทางหลบหนีของกองกำลังฝ่ายยูเครนที่ถูกส่งไปประจำการในยูเครนภาคตะวันออก ไม่ให้สามารถถอยกลับกรุงเคียฟได้ และ
**รวมกำลังสร้างความเข้มแข็งในดินแดนดอนบาสส์ และแนวพื้นที่ชายฝั่งซึ่งอยู่ติดกันยาวออกไปตามเส้นชายฝั่งทะเลดำตอนเหนือ


แผนที่ข้างบนนี้แสดงให้เห็นสถานะของการสู้รบ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ การปฏิบัติการของรัสเซียยังคงดำเนินอยู่ในดินแดนดอนบาสส์ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน (แถวๆ เมืองลูฮันสก์ Luhansk เมืองโดเน็ตสก์ และเมืองมาริวโปล Mariupol ในแผนที่ข้างบน -ผู้แปล) และตามเส้นชายฝั่งด้านเหนือของทะเลดำ ทว่าเรื่องนี้กลับเป็นสิ่งที่หลุดไปจากความสนใจของผู้คน พวกสื่อมวลชนตะวันตกแนวโฆษณาชวนเชื่อกำลังรวมศูนย์อยู่ที่การเสนอเรื่องราวเร้าอารมณ์ความรู่สึก ถึงแม้การสร้างความสมดุลทางภูมิภาคในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนนี้ เป็นสิ่งที่มีผลพวงต่อเนื่องตามมาอย่างมหาศาล

น่าสนใจมากว่า มอสโกได้ประกาศรับรองเขตแบ่งแยกดินแดน 2 ในในยูเครนตะวันออก ได้แก่ ลูฮันสก์ และ โดเน็ตสก์ ว่าเป็น 2 รัฐเอกราช โดยถือแนวพรมแดนตามที่พวกเขากล่าวอ้าง ประธานาธิบดีปูตินกล่าวเอาไว้ในข้อสังเกตของเขาเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า มอสโกรับรอง “เอกสารขั้นพื้นฐาน” ทั้งหมดของ 2 เขตนี้


นี่หมายความว่าอะไรหรือ? ชัดเจนเลย รัสเซียรับรองเส้นพรมแดนที่ 2 สาธารณรัฐแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ประกาศอ้าง โดยที่เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญของ 2 รัฐเหล่านี้แล้วหมายความว่า เป็นเส้นพรมแดนที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดที่พวกเขาควบคุมเอาไว้ ณ วันแห่ง “การก่อตั้ง” ของพวกเขาในปี 2014 ถึงแม้หลังจากนั้นมาพวกเขาได้ถูกผลักดันให้ต้องถอยร่นอย่างเป็นระบบโดยพวกกองกำลัง (นาซีใหม่) ของยูเครน ซึ่งอาศัยความรุนแรงที่มีการกำหนดวางแผนกันเอาไว้ มาเล่นงานประชากรชาวรัสเซียในระยะเวลาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มันจึงมีเหตุผลที่จะคาดหมายว่า การปฏิบัติการของรัสเซียจะมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การฟื้นฟูอาณาเขตที่สูญเสียไปให้กลับคืนสู่ ลูฮันสก์ และ โดเน็ตสก์

เวลาเดียวกัน มอสโกยังมีเรื่องที่ต้องคิดบัญชีกับพวกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นฝ่ายนาซีใหม่ ที่ประจำการอยู่ในดอนบาสส์และเขตทะเลดำอีกด้วย โดยที่พวกนี้ได้กระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนต่างๆ เล่นงานชุมชนชาวรัสเซียเคราะห์ร้ายทั้งหลาย โดยเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นเร้าอารมณ์ความรู้สึกกันมากภายในรัสเซีย รัสเซียเรียกการกระทำเหล่านี้ว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และเอกสารรวบรวมเรื่องราวหลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหล่านี้ได้ถูกจัดส่งไปให้แก่สหรัฐฯแล้ว

ทั้งนี้ การรณรงค์ เพื่อ “ลบเลือนความเป็นนาซี” (“denazification” campaign) นี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะกำราบปราบปรามกลุ่มนาซีใหม่กลุ่มต่างๆ อย่างไร้ความปรานี โดยที่ฝ่ายข่าวกรองรัสเซียได้ตระเตรียม “บัญชีดำ” รายชื่อพวกหัวหน้าแก๊งชื่อฉาวโฉ่ซึ่งจะต้องเอาตัวมาเผชิญความยุติธรรม

ในสถานการณ์ ณ วันอังคาร (1 มี.ค.) ขบวนทัพของรัสเซียที่กำลังรุกคืบหน้าในภาคใต้ยูเครน ไปถึงจังหวัดเคอร์ซอน (Kherson oblast) แล้ว โดยในจังหวัดนี้มีทั้งท่าเรือสำคัญริมทะเลดำ และท่าเรือสำคัญริมแม่น้ำดนีเปอร์ ตลอดจนเป็นบ้านของอุตสาหกรรมต่อเรือขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ไกลออกไปอีกทางด้านตะวันออก คือ เมืองมาริวโปล (Mariupol) ซึ่งทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในแถบชายฝั่งทะเลดำ ก็มีความปลอดภัยแล้ว

สิ่งที่มีความสำคัญพอๆ กัน ได้แก่การที่กองทหารรัสเซียเข้าทำลายเขื่อนคอนกรีตแห่งหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นในเขตเคอร์ซอน ( Kherson oblast) ของยูเครนเมื่อปี 2014 เพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่แหลมไครเมีย เป็นการตอบโต้แก้เผ็ดการที่รัสเซียเข้ายึดและผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน การระเบิดเขื่อนนี้เป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างเรื้อรังในไครเมีย ซึ่งถือเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองที่สำคัญเรื่องหนึ่ง

เคอร์ซอนตั้งอยู่ห่างแค่ราวๆ 145 กิโลเมตรจากด้านตะวันออกของเมืองโอเดสซา (Odessa) เมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระมหาราชินีแคเธอรีน (Catherine the Great) และเป็นที่ตั้งของท่าเรือซึ่งสำคัญมาก เมืองนี้ยังคงเป็นจุดศูนย์รวมของประชากรชาวรัสเซีย ถึงแม้มี “กระบวนการทำให้เป็นชาวยูเครน” (Ukrainisation) ทางด้านประชากรศาสตร์ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ยังต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปก็คือว่า การปฏิบัติการของรัสเซียในเวลานี้จะเคลื่อนตัวมุ่งหน้าสู่เมืองโอเดสซา และพื้นที่ถัดออกไปอีกตามแนวชายฝั่งทะเลดำ ซึ่งหากไปเรื่อยๆ จะถึงเขตทรานสนิสเตรีย (Transnistria)ที่ประกาศแยกตัวออกมาจากประเทศมอลโดวา โดยที่เขตนี้มีชาวรัสเซียอยู่ราวๆ หนึ่งในสามของประชากร


ทรานสนิสเตรีย ซึ่งเป็นพื้นที่เรียวๆ แคบๆ ถูกขนาบอยู่ตรงกลางบริเวณพรมแดนมอลโดวา-ยูเครน ยังคงเป็นเสมือนฐานปฏิบัติการส่วนหน้าในทางพฤตินัย สำหรับการรักษาผลประโยชน์ของรัสเซียในภูมิภาคแถบนี้

มอสโกมองว่าฐานทัพสหรัฐฯแห่งที่ตั้งอยู่ในโรมาเนีย ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ถัดจากมอลโดวาไปนั้น เป็นภัยคุกคามที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงน่าที่จะพิจารณาเรื่องให้ตนเองมีการปรากฏตัวทางทหารในทรานสนิสเตรีย เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา เส้นทางทางบกจาก รอสตอฟ-ออน-ดอน (Rostov-on-Don) ในรัสเซีย ไปจนถึงทรานสนิสเตรีย ในมอลโดวา ที่เลียบไปตามแนวชายฝั่งทะเลดำ สามารถกลายเป็นทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ชิ้นหนึ่ง

แต่จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังมีบริบทย่อยประการหนึ่งซึ่งไม่สามารถมองข้ามได้ – นั่นคือ เขตดอนบาสส์เป็นทั้งย่านอุตสาหกรรมหนักและทั้งยุ้งฉางข้าวสาลีของยูเครน มันเป็นภูมิภาคซึ่งผ่านการสร้างอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้นมาแล้ว จึงมีอนาคตอันยิ่งใหญ่มากในการพัฒนาเศรษฐกิจ แถมยังพรั่งพร้อมด้วยพวกท่าเรือริมทะเลดำต่อเนื่องเป็นสาย ซึ่งอำนวยช่องทางติดต่อเข้าถึงตลาดโลกได้อย่างสะดวกง่ายดาย


แผนที่ข้างบนนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ในยูเครน ชี้ให้เห็นฐานทางอุตสาหกรรมอันแข็งแกร่งของดอนบาสส์ แน่นอนทีเดียว วัตถุประสงค์ของรัสเซียจะต้องเป็นการสร้าง ลูฮันสก์ และ ดอนบาสส์ ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ให้กลายเป็นภูมิภาคซึ่งมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ และจะไม่กลายเป็นภาระทางการเงินของมอสโก

หลักฐานที่ปรากฏให้เห็น ได้แก่เรื่องที่มีการขบคิดกันอย่างมหาศาลในเรื่องการวางแผนการปฏิบัติการของรัสเซียครั้งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ในการรับรอง ลูฮันสก์ และ โดเน็ตสก์ ในฐานะเป็นรัฐเอกราช การที่ เบอร์ลิน และ ปารีส กำลังแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยความโกรธเกรี้ยวคือหลักฐานในตัวมันเองอยู่แล้ว

ด้วยการมี “ภาพใหญ่” เช่นนี้อยู่ในใจ ในเรื่องการสร้างยูเครนให้กลับไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่เคยเป็นมาในอดีตในฐานะซึ่งเป็นอดีตรัฐโซเวียตที่มั่งคั่งที่สุด ปูตินจึงได้เลือกสรรอย่างผ่านการขบคิดถี่ถ้วน ในการนำเอาหนึ่งในผู้ช่วยที่ไว้วางใจที่สุดของเขา ได้แก่ วลาดิมีร์ เมนดินสกี้ (Vladimir Medinsky) มาเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเพื่อเข้าเจรจากับคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายยูเครน โดย เมดินสกี้ นั้นเกิดในยูเครน

นอกเหนือจากการเป็นนักรัฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ผู้ประสบความสำเร็จ และเป็นบุคคลระดับอาวุโสในพรรคยูไนเต็ดรัสเซีย (United Russia) ซึ่งเป็นพรรคบริหารปกครองรัสเซียอยู่ในปัจจุบันแล้ว เขายังเป็นเจ้าของนามสกุลที่มีชื่อเสียงอีกด้วย ทั้งนี้ บิดาของเขา รอสติสลาฟ เมดินสกี้ (Rostislav Medinsky) ผู้ซึ่งรับราชการเป็นนายทหารยศพันเอกอยู่ในกองทัพโซเวียตในเวลานั้น ได้กลายเป็นวีรชนแห่งชาติคนหนึ่ง จากการเข้าร่วมในการบริหารจัดการวิบัติภัย ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชร์โนบิล (Chernobyl) ในปี 1986

เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/moscows-coercive-diplomacy-is-working/
กำลังโหลดความคิดเห็น