xs
xsm
sm
md
lg

‘ปักกิ่ง’ยืนยันว่า‘ไม่ต้องการ’ แต่‘ตะวันตก’ยังคงคิดว่า‘จีน’มุ่งมั่นจะเป็น‘เจ้าโลก’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน


ประธานาธิบดีสี จิ้งผิง ของจีน ขณะตรวจพลการสวนสนามทางนาวี ของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2018  ทั้งนี้ในปัจจุบัน กองทัพเรือจีนมีจำนวนเรือที่ออกทะเลลึกมากกว่ากองทัพเรือสหรัฐฯเสียอีก ถึงแม้เมื่อวัดกันเป็นน้ำหนักเรือแล้วยังด้อยกว่าก็ตาม
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Why does the West think China wants global hegemony?
By DAVID P. GOLDMAN
03/01/2022

ศาสตราจารย์เหวิน หยาง เสนอความเห็นว่า สหภาพโซเวียตล้มเหลวเนื่องจากมุ่งหวังต้องการฐานะความเป็นเจ้าใหญ่ครอบงำเหนือโลก เขายืนยันว่าจีนไม่ได้มีความทะเยอทะยานเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนมากในโลกตะวันตกไม่เชื่อ และพร้อมเข้าสู่สงครามเพื่อขัดขวางแดนมังกร

ความได้เปรียบของจีนที่มีผลเป็นตัวตัดสินชี้ขาดได้ทีเดียว ก็คือ การที่จีนไม่ได้มีความทะเยอทะยานในการเป็นเจ้าใหญ่นายโตต้องการครอบงำเหนือใครๆ ทั่วโลก (global hegemony) ศาสตราจารย์ เหวิน หยาง (Wen Yang) แห่งมหาวิทยาฟู่ตั้น (Fudan University), เซี่ยงไฮ้ เขียนเอาไว้เช่นนี้ในบทความเผยแพร่ทางเว็บไซต์ guancha.cn เมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งนี้เว็บไซต์ guancha.cn หรือ The Observer (ผู้สังกตการณ์) มักทำตัวเป็นตัวแทนความคิดของคณะรัฐมนตรีจีนอยู่บ่อยครั้ง
(อ่านบทความนี้ได้ที่ https://www.guancha.cn/WenYang/2021_12_26_619869_s.shtml)

เหวินเสนอว่า การที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย จริงๆ แล้วเพราะพยายามจะเป็นเจ้าที่ครอบงำหนือใครๆ (hegemon) โดยที่เขาบอกว่า สำหรับอารยธรรมจีน แนวความคิดนี้กลับเป็นสิ่งแปลกแยก

เขาเขียนเอาไว้ว่า “ถึงแม้ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่ มีการเน้นย้ำเอาไว้ว่า ‘พวกประเทศแองโกล-แซกซอน’ (พวกประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก -ผู้แปล) ไม่เคยพ่ายแพ้ใครเลย แต่เหตุผลของเรื่องนี้ไม่สามารถค้นพบได้จากคำคุยโวของทฤษฎีเสรีนิยมที่ว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมและตลาดเสรีจักต้องมีชัยตลอดกาล”

“เหตุผลแท้จริงสำหรับความล้มเหลวของจักรวรรดิรัสเซีย-โซเวียต แน่นนอนทีเดียวว่าไม่สามารถค้นพบได้จากความผิดพลาดของทฤษฎีลัทธิมาร์กซิสต์และระบบสังคมนิยม แต่มันควรถือเป็นผลลัพธ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของการตั้งเป้าหมายอย่างผิดๆ ที่มุ่งจะหาทางทำให้ตัวเองเป็นเจ้าครอบงำเหนือใครๆ”

แน่นอนทีเดียว สิ่งที่ เหวิน พูดนี้ช่างตรงกันข้ามเป็นคนละขั้วโลกกันเลยกับทัศนะปกติธรรมดาของชาวอเมริกันเมื่อพูดกันถึงเจตนารมณ์ของคนจีน การวิเคราะห์ต่างๆ ของฝ่ายอเมริกันตีขลุมเอาดื้อๆ ว่า เจตนารมณ์ของจีนคือ “การเข้าแทนที่สหรัฐฯในการเป็นรัฐผู้นำของโลก” อย่างที่เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ รัช โดชิ (Rush Doshi) เสนอเอาไว้ในหนังสือปี 2021 เรื่อง The Long Game ของเขา

“ปักกิ่งมุ่งวาดหวังที่จะเป็นผู้นำอยู่เหนือการปกครองของทั่วโลกและเหนือสถาบันระหว่างประเทศทั้งหลาย, ผลักดันบรรทัดฐานแบบเผด็จการเข้าแทนที่บรรทัดฐานแบบเสรีนิยม, และแบ่งแยกพวกพันธมิตรของอเมริกันที่มีอยู่ในยุโรปและเอเชีย” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้

เอลบริดจ์ โคลบี (Elbridge Colby) อดีตผู้วางแผนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯในยุค โดนัลด์ ทรัมป์ ก็กล่าวอ้างว่า จีนต้องการที่จะพิชิตพวกประเทศที่อยู่ในแนวสายโซ่ดินแดนวงล้อมชั้นแรก (First Island Chain) (วลีนี้มักใช้กันเพื่อหมายถึงไต้หวันตลอดจนฟิลิปปินส์) เพื่อขับไสอเมริกาให้ออกจาก “กลุ่มเมฆแห่งแนวสายโซ่ดินแดนวงล้อมชั้นที่สอง” (Second Island Cloud) และจากนั้นก็เข้าสู่มหาสมุทรสีคราม

คนอเมริกันคิดว่าจีนมุ่งมาดปรารถนาที่จะเป็นเจ้าผู้ครอบงำเหนือโลก ขณะที่ศาสตราจารย์ เหวิน โต้แย้งว่า ความมุ่งมาดในการเป็นเจ้าใหญ่นายโตเช่นนั้นคือจุดบกพร่องถึงตายของบรรดาจักรวรรดิทั้งในอดีตและในปัจจุบัน คนอเมริกันจะปฏิเสธไม่ยอมรับการวิเคราะห์ของ เหวิน โดยมองว่าเป็นการกลบเกลื่อนอำพรางของฝ่ายจีนก็ได้ แต่พวกเขาจะผิดพลาดใหญ่หลวงถ้าหากทำแบบนั้น

การที่จีนยืนกรานอย่างเลยเถิดเกี่ยวกับดินแดนในทะเลจีนใต้, การรณรงค์เร่งรีบสร้างเกาะเทียมขึ้นมาในอาณาบริเวณดังกล่าว, ตลอดจนความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าของแดนมังกรในการข่มขู่คุกคามเพื่อนบ้านของตน เหล่านี้ทำให้วอชิงตันมีเหตุผลรองรับสำหรับการตั้งสมมุติฐานในทางเลวร้ายสุดๆ เกี่ยวกับเจตนารมณ์ของจีน ทว่าจากประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา จีนไม่เคยเลยที่จะวางตัวเป็นมหาอำนาจแบบเจ้าใหญ่นายโตมุ่งครอบงำคนอื่น แน่นอนที่สุดว่าไม่เคยวางตัวเป็นเจ้าใหญ่ในแบบจักรวรรดิอังกฤษหรือแบบระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียต นอกจากนั้นจีนก็ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะกลายเป็นมหาอำนาจแบบนั้นในอนาคตข้างหน้า

เหวิน เชื่อว่า การที่อเมริกาเป็นผู้ชนะในสงครามเย็น เป็นเพียง “ชัยชนะอย่างเด็ดขาดครั้งล่าสุด” ในการแข่งขันชิงชัยอย่างต่อเนื่องยาวเหยียดกับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าใหญ่รายอื่นๆ เป็นต้นว่า “จักรวรรดิสเปน, จักรวรรดิดัตช์, จักรวรรดิฝรั่งเศส, และจักรวรรดิเยอรมัน”

ศาสตราจารย์เหวินกล่าวต่อไปว่า จีนวางตัวเป็นผู้ยืนดูอยู่ข้างๆ ในตอนที่เกิดการแข่งขันชิงชัยระหว่างมหาอำนาจยิ่งใหญ่เพื่อครองความเป็นเจ้าใหญ่เหนือคนอื่นในระหว่างทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 นี่จึงกลายเป็นการแย่งชิงเอาชัยกันภายใน “โลกใบเล็ก” ระหว่างอารยธรรมคริสเตียนตะวันตก กับ อารยธรรมคริสเตียนออร์โธด็อกซ์ตะวันออก โดยที่พวกอารยธรรมซึ่งไม่ใช่คริสเตียน –อย่างจีน, อินเดีย, และอิสลาม— มีเดิมพันดอกผลที่จะไขว่คว้าด้วยเพียงจำกัด

“สงครามเพื่อชิงความเป็นเจ้าครอบงำโลกภายใน ‘อารยธรรมคริสเตียน’ เช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้” เขาบอก และมีข้อสรุป “การวางตัวเป็นเจ้าครอบงำโลกโดยอ้างนามของเสรีนิยมจักต้องถูกคัดค้านจากประชาชนทั่วโลก และการวางตัวเป็นเจ้าครอบงำโลกโดยอ้างนามของลัทธิคอมมิวนิสต์ก็จักต้องถูกคัดค้านจากประชาชนทั่วโลกเช่นเดียวกัน”

พวกเจ้าใหญ่ครอบงำคนอื่นนั้น มีคุณสมบัติที่ไม่ได้แตกต่างกันอยู่ประการหนึ่ง จักรวรรดิที่แท้จริงทั้งหลายจะอยู่ในสภาพขาดดุลในทางเศรษฐกิจ ใน (จักรวรรดิ) เอเธนส์ ยุค เพริคลีส (Pericles’ Athens) อาหารที่ใช้รับประทานกันราวครึ่งหนึ่งทีเดียวมาจากการนำเข้า โดยเป็นบรรณาการที่สูบเอามาจากการข่มขู่คุกคามคนอื่นว่าถ้าไม่ยอมตามจะถูกทำลายล้าง

ศาสตราจารย์ เกรแฮม แอลลิสัน (Graham Allison) ชี้เอาไว้ในหนังสือปี 2017 เรื่อง Destined for War ของเขาว่า “(ในช่วงเวลาสามสิบปีแห่งสันติภาพ Thirty Years’ Peace) เอเธนส์ยังคงสืบต่อใช้กองทัพเรืออันทรงอำนาจของตนในการครอบงำ – และสูบรีดเอาทองคำจาก— คนในบังคับของตนตลอดทั่วทั้งทะเลอีเจียน เอเธนส์สามารถเพิ่มพูนทรัพย์สินที่เก็บเอาไว้ในคลังสำรองทางยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งของตนจนอยู่ในปริมาณที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน นั่นคือเท่ากับทองคำ 6,000 แทเลนต์ และยังเพิ่มพูนขึ้นปีละ 1,000 แทเลนต์ ในรูปของรายรับ”
(เกรแฮม แอลลิสัน เป็นศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยรัฐกิจ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดJohn F. Kennedy School of Government, Harvard University -ผู้แปล)
(talent ในยุคเอเธนส์ 1 แทเลนต์เท่ากับประมาณ 26 กิโลกรัม ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Attic_talent -ผู้แปล)

เมื่อเกาะมิลอส (island of Melos) ต่อต้าน เอเธนส์ก็จัดการสังหารหมู่ประชากรของเกาะแห่งนั้นในปี 416 ก่อน ค.ศ.

ภาพรายละเอียดของประติมากรรมบนเสาทราจัน (Trajan’s Column) ในกรุงโรม ซึ่งจัดสร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 107 – 113  ทั้งนี้จักรวรรดิโรมันอยู่ได้ด้วยแรงงานทาส และกลายเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ต้องทำสงครามพิชิตดินแดนต่างๆ อยู่เรื่อยๆ เพื่อหาทาสใหม่ๆ
สำหรับจักรวรรดิโรมัน คงจำนวนทาสเอาไว้ระหว่าง 5 ล้าน ถึง 8 ล้านคน และต้องการทาสใหม่ๆ ปีละ 250,000 ถึง 400,000 คน ทั้งนี้ตามการประมาณการของ วอลเตอร์ เชเดล (Walter Scheidel) นี่ย่อมเรียกร้องต้องการให้ทำสงครามพิชิตดินแดนต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
(วอลเตอร์ เชเดล เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรีย ซึ่งสอนประวัติศาสตร์โบราณอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Walter_Scheidel -ผู้แปล)
(สำหรับการประมาณการของเชเดล ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.princeton.edu/~pswpc/pdfs/scheidel/050704.pdf)

ในส่วนของจักรวรรดิสเปน เฟร์นอง บรอเดล (Fernand Braudel) รายงานเอาไว้ในงานการศึกษาชิ้นคลาสสิกของเขาเรื่อง The Mediterranean in the Age of Philip II ว่า ได้จัดส่งเงินทองทั้งหมดที่รีดเร้นเอามาได้จาก “โลกใหม่” (ทวีปอเมริกา) ซึ่งถูกพวกเขาพิชิตไปยังจีนเพื่อชำระค่าสินค้าพวกผ้าไหมและเครื่องเทศ
(เฟร์นอง บรอเดล นักประวัติศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลชาวฝรั่งเศส ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Fernand_Braudel -ผู้แปล)

และแล้วทรัพย์สมบัติที่จีนเก็บสะสมไว้ก็หวนกลับคืนมายังโลกตะวันตก เมื่ออังกฤษใช้ปืนใหญ่บังคับให้จีนต้องซื้อฝิ่นที่ส่งมาจากอินเดีย (ซึ่งเวลานั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) ตามตัวเลขเมื่อปี 1837 ฝิ่นมีมูลค่าคิดเป็น 57% ของสินค้านำเข้าทั้งหมดของจีน และผู้สูบฝิ่นจ่ายเงินค่ายาเสพติดชนิดนี้กันปีละ 100 ล้านเทล (Tael ตำลึงจีน) (100 ล้านเทล เท่ากับโลหะเงินราวๆ 130 ล้านออนซ์) เมื่อตอนที่รัฐบาลจักรพรรดิราชวงศ์ชิงใช้จ่ายกันแค่ปีละ 40 ล้านเทล

อเมริกานั้นไม่ได้บังคับให้พวกคู่ค้าของตนต้องซื้อฝิ่น แต่การขาดดุลการค้าอย่างเรื้อรังของอเมริกาก็ทำให้มีฐานะทรัพย์สินติดลบต่างประเทศสุทธิอยู่ที่ 13 ล้านล้านดอลลาร์ อเมริกากำลังกู้ยืมเงินจากประเทศอื่นๆ ของโลก ในจำนวนนี้เป็นพวกหลักทรัพย์กระทรวงการคลังที่คนต่างชาติถือครองไว้จำนวน 8 ล้านล้านดอลลาร์ และอีกราว 16 ล้านล้านดอลลาร์อยู่ในรูปเงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงินดอลลาร์ โดยที่ทั้งหมดเหล่านี้ในพฤตินัยแล้วคือเงินกู้ที่ปล่อยให้สหรัฐฯ

ประเทศจีนในประวัติศาสตร์สะสมทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งอย่างมหาศาล โดยผ่านการส่งออกผ้าไหม, ใบชา, เครื่องปั้นดินเผา, ตลอดจนสินคาอื่นๆ แต่จีนไม่เคยสร้างเศรษฐกิจแบบจักรวรรดิในทำนองเดียวกับเอเธนส์, โรม, หรืออังกฤษ เกษตรกรรมของแดนมังกรมีศูนย์กลางอยู่ที่ไร่นาที่ทำการผลิตโดยครอบครัวขยาย ไม่ใช่ที่ฟาร์มผืนกว้างใหญ่มโหฬาร (latifundia) ซึ่งใช้แรงงานทาสเป็นสำคัญ

ไม่เหมือนกับโรม ที่ก่อสร้างถนนหนทางเพื่อให้กองทัพของตนสามารถเคลื่อนจากเมโสโปเตเมียไปยังดินแดนในยึดครองไกลๆ อย่างอังกฤษ ได้ด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น จีนมุ่งสร้างกำแพงเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้รุกรานเข้ามารบกวน ราชวงศ์ฉิน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดนามว่า “จีน” พยายามรวมศูนย์อำนาจของตนโดยผ่านโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น ระบบชลประทานตูเจียงเยี่ยน กั้นแม่น้ำหมิงเจียง ซึ่งทำให้ที่ราบเสฉวนกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจีน

ไม่เหมือนกับชาวกรีก, ชาวโรมัน, ชาวสเปน, ชาวอังกฤษ, หรือชาวอเมริกัน ชาวจีนไม่เคยส่งกองทัพของพวกเขา หรือนักล่าอาณานิคมจำนวนมากๆ ออกไปตลอดทั่วทั้งโลก

เมื่อตอนที่ผมเขียนหนังสือเรื่อง China’s plan to Sino-form the world ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2020 ของผม ผมระบุเอาไว้ว่าจีนส่งออกพวกโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอลไปยัง “โลกใต้” (Global South พวกประเทศรายได้ต่ำ) ในลักษณะที่เป็นการมุ่งแผ่ “อำนาจละมุน” (soft power) กันสุดๆ

ทั้งระบบสื่อสารเคลื่อนที่ บรอดแบนด์ 5จี, รถไฟความเร็วสูง, อี-คอมเมิร์ซ, อี-ไฟแนนซ์, โทรเวชกรรม (telemedicine), และเทคโนโลยีแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างอื่นๆ อาจจะเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจล้าหลังทั้งหลายให้กลายเป็น “ลิตเติลไชน่า” (little China) แห่งแล้วแห่งเล่า เริ่มต้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แน่นอนว่าจีนมุ่งมาดปรารถนาที่จะทวงคืนสู่ตำแหน่งอันดับแรกในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตของโลก อย่างที่ได้ครองเอาไว้โดยตลอดตั้งแต่ตอนเริ่มต้นมีการบันทึกประวัติศาสตร์จวบจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 18 นอกจากนั้นจีนจะต้องพยายามขยายอิทธิพลและอำนาจของตน ด้วยการเข้าครอบงำเหนือพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่สามารถทำงานได้เนื่องจากมีระบบสื่อสารบรอดแบนด์ความเร็วสูง

สภาพระบบชลประทานตูเจียงเยี่ยน (Dujiangyan Irrigation System) ในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน  ทั้งนี้ ตูเจียงเยี่ยน ซึ่งกั้นแม่น้ำหมิงเจียง ที่เป็นแควหนึ่งของแม่น้ำแยงซีตอนบน สร้างขึ้นมาทีแรกสุดประมาณปี 256 ก่อน ค.ศ.
ในแง่หนึ่ง การที่จีนใช้โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพหรือทางดิจิตัล ไปในเชิงยุทธศาสตร์เช่นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องในบางระดับจากสมัยราชวงศ์ฉิน การลงทุนอย่างมหาศาลในด้านการควบคุมน้ำท่วม, การขนส่งทางแม่น้ำ, และการชลประทาน ได้สร้างจีนขึ้นมา และการส่งออกโครงสร้างพื้นฐานของจีนก็อาจหมายถึงการผูกพันสัดส่วนขนาดใหญ่โตทีเดียวของโลกเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจของจีน

อย่างไรก็ดี จีนไม่สนใจใยดีว่าพวกเรา “คนป่าเถื่อน” จะปกครองตัวเราเองกันอย่างไร ในบางที่บางแห่งในบทความชิ้นนี้ ศาสตราจารย์เหวินได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของชาวจีน ซึ่งเลิกเร่ร่อนและปักหลักตั้งถิ่นฐานกันเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว กับของชาวตะวันตก ผู้ซึ่ง (ดังที่เขาพูดเอาไว้) ยังเพิ่งเดินออกมาจากป่าเมื่อไม่นานมานี้เอง

ผมคิดว่าเขาไม่ค่อยให้ความเป็นธรรมแก่พวกเราหรอก แต่ประเด็นอยู่ที่ตรงว่าคนจีนไม่ได้มีความตั้งใจใดๆ ที่จะนำเอาระบบการเมืองของพวกเขามาบังคับใช้กับสหรัฐฯ พวกเขาไม่เชื่อว่าพวกเรามีศักยภาพที่จะดำเนินการปกครองอย่างทรงภูมิธรรมเช่นนั้นได้

ผมควรกล่าวต่อไปว่า สหภาพโซเวียตล้มเหลวไม่เพียงเพราะพวกเขาแผ่อำนาจจนเกินตัวเท่านั้น หากยังเป็นเพราะว่าสหรัฐฯตอบโต้ความทะเยอทะยานมุ่งมั่นจะเป็นเจ้าใหญ่เหนือใครของรัสเซีย ด้วยการเริ่มต้นการปฏิวัติในเรื่องเทคโนโลยีทางการทหาร จากการปฏิวัติดังกล่าวนี้เอง สหรัฐฯจึงสามารถกลายเป็นผู้ให้กำเนิดสิ่งประดิษฐ์สำคัญทุกๆ อย่างของยุคดิจิตอล ตั้งแต่ชิปคอมพิวเตอร์ที่ผลิตแบบมวลชน ไปจนถึงเครือข่ายเส้นใยแก้วนำแสง

จีนตระหนักดีในเรื่องนี้ ดังเห็นได้จากการที่พวกเขาส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งสองทาง (dual-use technologies) นั่นคือทั้งทางพลเรือนและทางการทหาร ดังที่ผมได้เขียนเอาไว้ในสื่อวอลล์สตรีทเจอร์นัลเมื่อปี 2020 ทั้งนี้มันก็คือการประยุกต์ดัดแปลงจากข้อสรุปว่าด้วยแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศ (best practice) ของอเมริกานั่นแหละ
(ดูเพิ่มเติมบทความในวอลล์สตรีทเจอร์นัลนี้ได้ที่ https://www.wsj.com/articles/what-china-learned-from-cold-war-america-11595618253)

พวกนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกอาจจะถามกันว่า ถ้าจีนไม่ได้มีความทะเยอทะยานเพื่อเป็นเจ้าใหญ่ครอบงำเหนือคนอื่นแล้ว ทำไมจึงต้องสร้างกองทัพเรือซึ่งมีคุณสมบัติสำหรับการก้าวขึ้นเป็นเจ้าใหญ่เหนือใครด้วยล่ะ ด้วยการมีเรือที่สามารถแล่นในมหาสมุทรน้ำลึกได้ถึง 355 ลำ กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ในเวลานี้มีเรือมากกว่าสหรัฐฯเสียอีก—ถึงแม้หากคิดเป็นกันเป็นน้ำหนักเรือจะยังคงอยู่ต่ำกว่า

รายงานฉบับหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ที่เผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน 2021 กล่าวเตือนว่า “ณ ปี 2020 กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ประกอบไปด้วยเรือสมัยใหม่ชนิดต่างๆ ที่สามารถแสดงบทบาทหลายหลากเป็นจำนวนมาก โดยติดตั้งทั้งอาวุธและเครื่องเซนเซอร์ระดับก้าวหน้า ทั้งที่เป็นแบบต่อสู้เรือ, ต่อสู้การโจมตีทางอากาศ, และต่อต้านเรือดำน้ำ ... การปรับปรุงกองทัพเรือให้ทันสมัยเช่นนี้ เกิดขึ้นเคียงคู่ไปกับการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มน้ำหนักความสำคัญให้แก่ปริมณฑลทางทะเล และเพิ่มการเรียกร้องต้องการให้กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน สามารถปฏิบัติการในระยะไกลออกไปมากจากประเทศจีน”

ในรายงานชิ้นนี้บอกว่า จีนมีฐานทัพทางทหารในต่างประเทศเพียงแห่งเดียว อยู่ในประเทศจิบูตี ในภูมิภาคจงอยแอฟริกา และสร้างขึ้นมาสำหรับรองรับการปฏิบัติการต่อสู้โจรสลัดในพื้นที่แถบนั้น ขณะที่สหรัฐฯมีฐานทัพ 750 แห่ง มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันหลายชิ้นระบุว่า จีนพยายามที่จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารขึ้นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และในประเทศอิเควทอเรียลกินี ทว่าสิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาบวกกันแล้วมันยังไม่ทำให้เห็นภาพว่า จีนรณรงค์มุ่งช่วงชิงความเหนือกว่าใครๆ ทางการทหารในระดับทั่วโลก

ทหารจีนตั้งแถวยืนอยู่ด้านหน้าธงกองทัพปลดแอกประชาชนจีนผืนใหญ่ ที่ฐานทัพในประเทศจิบูตี ภูมิภาคจงอยแอฟริกา ซึ่งจนถึงเวลานี้ยังคงเป็นฐานทัพในต่างประเทศเพียงแห่งเดียวของจีน
จีนนั้นต้องการแน่ๆ ที่จะมีฐานะเหนือกว่าใครๆ ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของตน และได้ลงทุนอย่างมหาศาลในเรื่องขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นสู่เรือ, เรือติดขีปนาวุธ, เครื่องบิน, และอาวุธอื่นๆ ที่จะสามารถขัดขวางไม่ให้สหรัฐฯสำแดงแสนยานุภาพในบริเวณแปซิฟิกตะวันตก ทั้งนี้รายงานฉบับหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จากศูนย์เบลเฟอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard’s Belfer Center) ซึ่งจัดทำขึ้นในการอำนวยการของ เกรแฮม แอลลิสัน เสนอความเห็นว่า จีนประสบความสำเร็จในเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว
(ดูเพิ่มเติมรายงานนี้ได้ที่ https://www.belfercenter.org/publication/great-military-rivalry-china-vs-us)

การมีอำนาจการทหารเหนือกว่าใครๆ ในบริเวณใกล้ๆ กับดินแดนของจีน –รวมทั้งไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าเป็นมณฑลกบฎของตน— เป็นแรงจูงใจประการหนึ่งของจีนในการสร้างสมกองทัพเรือทันสมัยขึ้นมา ส่วนแรงจูงใจอีกประการหนึ่งได้แก่การที่จีนมีจุดอ่อนพิสัยไกลที่จะถูกปิดล้อม

พวกเขาต่างอ่านหนังสือเรื่อง The Rise of China vs. the Logic of Grand Strategy ของ เอดเวิร์ด ลุตต์วัค (Edward Luttwak) ซึ่งเสนอว่า กลุ่มพันธมิตรนำโดยอเมริกาสามารถที่จะบีบคอจีน แบบเดียวกับที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถปิดล้อมเยอรมนีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ได้ที่ https://www.amazon.com/dp/B009ZVO18W/ref=dp-kindle-redirect?_encoding=UTF8&btkr=1)

จีนต้องพึ่งพาศัยน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริกา เช่นเดียวกับบรรดาวัตถุดิบจากอเมริกาใต้ และพวกนักยุทธศาสตร์ของโลกตะวันตกเรียกได้ว่าร่างแผนฉุกเฉินกันขึ้นมาเป็นประจำวันในเรื่องวิธีการขัดขวางห้ามปรามทางนาวีเพื่อไม่ให้ซัปพลายเหล่านี้เข้าสู่จีน สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดความเป็นไปได้อย่างน้อยที่สุดก็ในทางทฤษฎี ที่จะมีการสู้รบทางนาวีกันระหว่างเรือรบของจีนกับเรือรบของอเมริกันในบริเวณใกล้ๆ อ่าวเปอรืเซีย

แน่นอนทีเดียวว่า ในหนังสือของลุตต์วัคนั้น การเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีข้อที่ละไว้ซึ่งมีความสำคัญอย่างมหาศาลอยู่ข้อหนึ่ง นั่นคือ เยอรมนีจะต้องบดขยี้อังกฤษไปแล้ว ถ้าหากว่าสหรัฐฯไม่ได้เข้ามาแทรกแซงช่วยเหลืออังกฤษ คราวนี้ในยุคปัจจุบัน ถ้าหากสหรัฐฯต้องแสดงบทของอังกฤษเสียแล้ว ใครจะเป็นผู้แสดงบทของสหรัฐฯล่ะ?

ขณะเดียวกัน มันมีคุณค่าถ้าหากจะนำเอาข้อเปรียบเทียบกับสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้มาขยายต่อไปอีกสักหน่อย

ชาร์ต 2 ชิ้นข้างล่างนี้สามารถใช้เป็นบริบทสำหรับการถกเถียงอภิปรายระดับชาติในอเมริกาในเรื่องการทำสงครามกับจีน ชาร์ตชิ้นแรกแสดงให้เห็นจำนวนประชากรของเยอรมนี (มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับดินแดนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว) เทียบกับของฝรั่งเศสในช่วง 100 ปีก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนชาร์ตชิ้นที่สองแสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในจีน เปรียบเทียบกับมหาอำนาจทางเทคโนโลยีรายอื่นๆ ของโลก



ฝ่ายเสนาธิการใหญ่ที่เป็นผู้ตระเตรียมมหาสงครามคราวนี้ ใช้ตารางจำนวนประชากรเช่นนี้ เพื่อประมาณการจำนวนทหารราบที่พวกเขาสามารถเรียกระดมเข้ามา และอัตราการบาดเจ็บล้มตายที่พวกเขาสามารถแบกรับได้ สำหรับในยุคของเราที่เป็นสงครามไฮเทค การเปรียบเทียบความสมดุลของผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม จะสามารถใช้ได้ดีกว่า ในการวัดความเข้มแข็งโดยเปรียบเทียบของแต่ละประเทศที่อาจกลายเป็นปรปักษ์กันได้

การเปรียบเทียบระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ในลักษณะเช่นนี้ อันที่จริงยังมีความผิดพลาด เนื่องจากคำจำกัดความในเรื่องปริญญาบัตรการศึกษาด้านสะเต็มศึกษา (STEM ย่อมาจาก science, technology, engineering, mathematics) มีความแตกต่างกัน กระนั้นชาร์ตที่ 2 นี้ยังคงสามารถแสดงให้เห็นแนวโน้มกว้างๆ ได้

ฝรั่งเศสที่ครอบงำโดยพวกซึ่งต้องการนำเอาดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนมานั้น มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าพิชิตแคว้นอัลซาสและลอแรน (Alsace and Lorraine) คืนมาจากเยอรมนี พวกเขาอยู่ในสภาพที่แทบไม่มีประชากรเพิ่มขึ้นเลยนับตั้งแต่สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War) เมื่อปี 1870 ขณะที่ประชากรของจักรวรรดิเยอรมันกลับมากขึ้นประมาณ 40%

ในอีกสัก 1-2 ทศวรรษ ฝรั่งเศสจะขาดไร้กำลังคนในการสู้กับเยอรมนี พวกผู้นำฝรั่งเศสจึงมองว่าต้องฉกฉวยโอกาสสุดท้ายของพวกเขาในการทำสงครามต่อสู้กับเยอรมนีให้สำเร็จในปี 1914 แล้วพวกเขาก็ประสบความสำเร็จจริงๆ โดยต้องขอบคุณการเข้าไปแทรกแซงของอเมริกัน ทว่านี่ต้องแลกกับความสูญเสียอย่างเลวร้ายด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 1.5 ล้านคน และบาดเจ็บ 4.3 ล้านคน

ในปี 1940 (ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ฝรั่งเศสตัดสินใจว่าการเสียสละขนาดมหึมาเช่นนี้อีกครั้งหนึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า และพวกเขาจึงยอมแพ้ต่อนาซีเยอรมันภายหลังการสู้รบเพียงแค่สองสามสัปดาห์

ทุกวันนี้ จีนมีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจบการศึกษา 1.2 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ตามตัวเลขของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation หน่วยงานอิสระของรัฐบาลสหรัฐฯ) จำนวนนี้คำนวณกันหยาบๆ คือสองเท่าตัวของที่ผลิตได้ในสหรัฐฯ, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, เกาหลีใต้, และไต้หวัน รวมกัน

ยิ่งกว่านั้น คุณภาพของพวกมหาวิทยาลัยจีน ก็กำลังก้าวขึ้นสู่มาตรฐานระหว่างประเทศในระหว่างช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวลานี้จีนแซงหน้าหรือทำท่าจะแซงหน้าสหรัฐฯแล้วในแวดวงทางเทคโนโลยีจำนวนมากซึ่งมีผลต่อเรื่องแสนยานุภาพทางทหาร รวมทั้งด้านปัญญาประดิษฐ์ และควอนตัมคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ตามการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่อำนวยการโดย อีริค ชมิดต์ (Eric Schmidt) อดีตซีอีโอของบริษัทกูเกิล และศาสตราจารย์เกรแฮม แอลลิสัน
(ดูเพิ่มเติมรายงานการศึกษาวิจัยนี้ได้ที่ https://www.belfercenter.org/sites/default/files/GreatTechRivalry_ChinavsUS_211207.pdf)

ชมิดต์ กับ แอลลิสัน เขียนเอาไว้ว่า “จีนกลายเป็นคู่แข่งขันที่จริงจังในเรื่องเทคโนโลยีพื้นฐานต่างๆ ของยุคศตวรรษที่ 21 เป็นต้นว่า ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), 5จี, วิทยาการสารสนเทศควอนตัม (quantum information science หรือ QIS), เทคโนโลยีชีวภาพ, และพลังงานสีเขียว ในการแข่งขันบางอย่าง พวกเขาขึ้นเป็นอันดับหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนอย่างอื่นๆ เมื่อพิจารณาจากแนวทางโคจรในปัจจุบัน จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯได้ภายในทศวรรษหน้า

ศาสตราจารย์แอลลิสัน สามารถเฉลิมฉลองได้สำหรับข้อเสนอเรื่อง “กับดักทิวซิดิดีส” (Thucydides Trap) ของเขาที่บอกว่า มหาอำนาจที่ลงหลักปักฐานอยู่แล้ว จะเลือกเข้าทำสงครามเพื่อขัดขวางการท้าทายจากมหาอำนาจที่กำลังผวาดขึ้นมา ในบางแง่มุมแล้ว การเปรียบเทียบกับสงครามเปโลปอนนีเชียน (Peloponnesian) เช่นนี้ มีข้อจำกัด อย่างที่ผมได้เสนอเอาไว้ในเวลาวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ของเขา กระนั้นคำเตือนของเขาก็หนักแน่นมีเหตุมีผลและถูกจังหวะเวลา นอกจากนั้น เขายังอาจตั้งชื่อทฤษฎีของเขาว่า “กับดักพอยน์การี” (Poincaré Trap) ตามชื่อของ เรย์มง พอยน์การี (Raymond Poincaré)ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปี 1914 ซึ่งมีแนวคิดกระหายสงคราม
(ดูเพิ่มเติมวิจารณ์หนังสือ Thucydides Trap ได้ที่ https://claremontreviewofbooks.com/must-we-fight/)
(สงครามเปโลปอนนีเชียน เกิดขึ้นระหว่างปี
431 – 404 ก่อน ค.ศ. โดยเป็นการสู้รบกันระหว่างพันธมิตรที่นำโดยนครรัฐเอเธนส์ กับพันธมิตรที่นำโดยรัฐสปาร์ตา
และยุติลงโดยทางเอเธนส์พ่ายแพ้ยับเยิน ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Peloponnesian_War)

จีนมีแต่จะต้องประณามตัวเองสำหรับการยั่วยุพวกเพื่อนบ้านในทะเลจีนใต้ ขณะที่การทูตแบบ “นักรบหมาป่า” (“Wolf warrior” diplomacy) และความรับรู้ความเข้าใจที่ว่าจีนกำลังข่มเหงรังแกพวกเพื่อนบ้านของตน ก็สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ข้อกล่าวหาของฝ่ายตะวันตกในเรื่องที่ว่าจีนมีความทะเยอทะยานมุ่งเป็นเจ้าใหญ่ครอบงำคนอื่น

กระนั้นก็ตามที อย่างที่ศาสตราจารย์แอลลิสันเตือนเอาไว้ ผู้คนจำนวนมากในสหรัฐฯพร้อมจะเสี่ยงเข้าทำสงครามเพื่อป้องกันไม่ให้จีนเข้าแทนที่สหรัฐฯในฐานะผู้ครองตำแหน่งหมายเลขหนึ่งในหมู่มหาอำนาจของโลก สำหรับความเห็นของอเมริกันที่อยู่ในกระแสนี้ มันไม่สำคัญหรอกว่าจีนต้องการเป็นเจ้าใหญ่เหนือคนอื่นหรือไม่ พวกเขามองว่า แค่เป็นจีนก็ถือว่ามีความผิดแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น