xs
xsm
sm
md
lg

‘พวกผู้ผลิตชิปไต้หวัน’เตรียมทางหนีทีไล่สำหรับ‘การหย่าร้าง’กับสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน


พวกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ลงนามในข้อตกลงร่วมกันสร้างอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทำชิปขึ้นมาในดินแดนไต้หวันเอง  ความคลื่อนไหวนี้ถูกมองว่าเป็นการแยกตัวเองให้ออกห่างจากสหรัฐฯ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Taiwan chipmakers hint at decoupling from the US
By DAVID P. GOLDMAN
11/12/2021

พวกบริษัทไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับท็อปของโลก ต้องการสร้างอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์ทำชิปขึ้นมา เพื่อยุติสภาพที่ต้องคอยพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะเป็นการช่วยเหลือการผลิตที่นำโดยภาครัฐของจีนได้ดียิ่งขึ้น

นิวยอร์ก พวกบริษัทผลิตชิปของไต้หวันร่วมกันลงนามในข้อตกลงฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม เพื่อสร้างอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมืออุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของพวกเขาเองขึ้นมา ในความเห็นของบริษัทวิจัยรายสำคัญของสหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิด “ทางเลือกสำหรับการหย่าร้างแยกขาดจากฝ่ายตะวันตก” ทีเดียว

แผนการริเริ่มของพวกบริษัทไต้หวันคราวนี้ คือการตอบโต้สำหรับการที่วอชิงตันโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะนั้น ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ใช้มาตรการแซงก์ชั่นชนิดสำแดงอำนาจของอเมริกาเกินเลยไปจากอาณาเขตของตนเอง (สิทธิสภาพนอกอาณาเขต) เพื่อบังคับให้พวกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ต่างชาติซึ่งซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทำชิปของสหรัฐฯต้องปฏิบัติตามด้วย ไม่เพียงเฉพาะบริษัทอเมริกันเองเท่านั้น ทั้งนี้เนื้อหาสาระของคำสั่งนี้ก็คือการที่สหรัฐฯยืนกรานว่า ตนมีสิทธิที่จะสั่งห้ามขายชิปทั้งหลายทั้งปวงซึ่งผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์สหรัฐฯหรือโดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

การแซงก์ชั่นของสหรัฐฯเช่นนี้ เป็นการปิดประตูไม่ให้ หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทคสัญชาติจีน สามารถเข้าถึง ชิประดับไฮเอนด์ขนาดตั้งแต่ 7 นาโนเมตรลงมา จนทำให้บริษัทที่ก่อนหน้านั้นเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตมือถือระดับท็อปของโลกรายนี้ ถึงกับเดี้ยงไปเลย ทั้งนี้เมื่อไม่สามารถผลิตโทรศัพท์มือถือ 5จี ออกสู่ตลาดได้ หัวเว่ยก็สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่ เสี่ยวมี่ ผู้ผลิตมือถือสัญชาติจีนอีกรายหนึ่ง รวมทั้งต้องขายธุรกิจสมาร์ตโฟน “ออเนอร์” (Honor) ออกไป

กระนั้นก็ตาม การแซงก์ชั่นของสหรัฐฯ แทบไมได้ส่งผลกระทบอะไรต่อธุรกิจอุปกรณ์การสื่อสารของหัวเว่ย ซึ่งก็รวมถึงพวกอุปกรณ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ด้วย เนื่องจากมันสามารถใช้ชิปรุ่นเก่ากว่าที่ยังคงหาจากตลาดได้ง่ายดายกว่าเยอะ

รองนายกรัฐมนตรี เสิ่น หรงจิน (Shen Jong-chin) ของไต้หวัน แถลงว่า จากแผนการริเริ่มนี้ จะทำให้ไต้หวันกลายเป็น “ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้า” พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า ไต้หวันจะเชื้อเชิญพวกผู้ทำเครื่องมืออุปกรณ์ผลิตชิปทั้งหลาย ให้โยกย้ายโรงงานและสิ่งเกี่ยวข้องต่างๆ มาตั้งที่เกาะแห่งนี้ โดยที่รัฐบาลไทเปวางแผนการสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอีก 1 ถึง 2 แห่ง จากที่เปิดให้บริการ 3 แห่งอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พวกบริษัทผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านี้

ทางด้าน ฮาเบอร์ ซู (Habor Hsu) นายกสมาคมผู้สร้างเครื่องจักรกลและส่วนประกอบไต้หวัน (Taiwan Machine Tool and Accessory Builders Association) บอกว่า “เรามีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นผู้นำระดับโลกอยู่แล้วในไต้หวัน แต่ 90% ของอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของเรายังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ” หนังสือพิมพ์ไทเปไทมส์ รายงาน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.taipeitimes.com/News/biz/archives/2020/12/03/2003747985)

เขากล่าวต่อไปว่า “จากผลสืบเนื่องของโควิด-19 และของการพิพาททางการค้าสหรัฐฯ-จีน พวกธุรกิจระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงสถานที่และวิธีการที่พวกเขาจะทำผลิตภัณฑ์ของพวกเขา”

ผู้เข้าร่วมลงนามข้อตกลงริเริ่มครั้งนี้ ประกอบด้วยกลุ่มทางการค้าของไต้หวัน 4 กลุ่มและองค์กรไม่แสวงหากำไรอีก 3 องค์กร รวมแล้วก็คือเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมไฮเทคของไต้หวันทั่วทั้งอุตสาหกรรม

พวกผู้ผลิตชิปของไต้หวัน ซึ่งมีการเชื่อมต่อผูกพันอย่างมากมายมหาศาลกับจีนแผ่นดินใหญ่ รู้สึกหวาดกลัวว่ามาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯอาจทำให้พวกเขาต้องยุติการใช้อุปกรณ์เครื่องมืออเมริกันในการทำเซมิคอนดักเตอร์สำหรับส่งเข้าสู่ตลาดชิปจีนที่มีมูลค่าถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ในวันที่ 9 ธันวาคม วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯต้องการยุติไม่ให้ เอสเอ็มไอซี (SMIC ย่อจาก Semiconductor Manufacturing International Corporation) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน สามารถซื้อหาเครื่องจักรอุปกรณ์อเมริกันได้เลย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/u-s-to-bar-investment-in-chinese-ai-giant-considers-banning-key-exports-to-top-chip-maker-11639092799?page=1)

แดน ฮัตชิสัน (Dan Hutchison) นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมของ วีเอสแอลไอ (VSLI) กลุ่มวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ เขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมว่า การมีอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์ทำชิปที่ตั้งหลักปักฐานอยู่ภายในบ้านของตัวเอง “จะทำให้เป็นไปได้สำหรับไต้หวันที่จะหย่าร้างแยกขาดจากฝ่ายตะวันตก ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ มันชี้ให้เห็นว่าโลกแห่งยุคหลังโลกาภิวัตน์ (post-globalization world) กำลังบ่ายหน้าไปสู่ยุคมืดที่จะเต็มไปด้วยการมีอุปทานล้นเกิน (over-supply), ทรัพยากรด้านการวิจัยและการพัฒนาถูกแบ่งสรรกระจัดกระจายจนขาดๆ วิ่นๆ, และนวัตกรรมอยู่ในระดับต่ำ”

ฮัตชิสันเรียกแผนการริเริ่มของไต้หวันนี้ว่า เป็น “ความเคลื่อนไหวเพื่อการป้องกันตัวแห่งยุคหลังโลกาภิวัตน์ที่ชัดเจนมาก โดยมุ่งตอบโต้ทัดทานการกระทำของคณะบริหารสหรัฐฯในปัจจุบันที่มุ่งชัตดาวน์จีน ตลอดจนการที่จีนตอบโต้ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือเครื่องจักรกลของจีนเอง”

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างจีนกับไต้หวันแล้ว พวกบริษัทไต้หวันเวลานี้กำลังนำหน้าได้เปรียบพลังขับดันซึ่งอุปถัมภ์โดยรัฐของจีนที่มุ่งสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศขึ้นมา ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน เย่ เถียนชุน (Ye Tianchun) ประธานแผนกแผงวงจรรวม (integrated circuit (IC) division) ของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แห่งประเทศจีน (China’s Semiconductor Industry Association) บอกกับเวทีประชุมคราวหนึ่งว่า “ปรากฏการณ์หนึ่งที่สมควรต้องพูดถึง ได้แก่การที่สัดส่วนรายได้ของพวกวิสาหกิจซึ่งได้รับเงินทุนจากภายในประเทศ หล่นฮวบลงมาอย่างสำคัญในช่วงระหว่างปี 2016 ถึงปี 2020 จากระดับ 44.0% มาอยู่ที่ 27.7% ของรายได้รวมของอุตสาหกรรม ขณะที่สัดส่วนรายได้ของวิสาหกิจที่ได้เงินทุนจากต่างประเทศ กลับทะยานขึ้นจาก 49.1% เป็น 61.3%” ทั้งนี้พวกบริษัทผลิตชิปไต้หวันคือผู้ที่นำหน้าใครเพื่อนในเรื่องนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.guancha.cn/yetianchun/2021_11_09_614087_s.shtml)

“นี่หมายความว่าอุตสาหกรรมนี้โดยรวมกำลังเติบโตขยายตัว และรายได้ของพวกวิสาหกิจที่ได้เงินทุนภายในประเทศก็กำลังเติบโตขยายตัว แต่อัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำกว่าของพวกวิสาหกิจที่ได้เงินทุนต่างประเทศและวิสาหกิจที่ได้เงินทุนจากไต้หวันมากทีเดียว” เย่ กล่าวต่อ คำพูดของเขาในเรื่องนี้ได้รับการรายงานเอาไว้ในเว็บไซต์ภาษาจีน guancha.cn (guancha แปลว่า Observer , ผู้สังเกตการณ์)

พวกผู้ผลิตชิปของไต้หวันนั้น ต้องการรักษาฐานะเป็นผู้นำของพวกเขาในการผลิตชิปที่ทำกันอยู่ภายในประเทศจีนเอง และจะสร้างเครื่องมืออุปกรณ์ทำชิปของพวกเขาเองขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้การแซงก์ชั่นของสหรัฐฯกลายเป็นตัวชะลอการลงทุนของพวกเขาบนแผ่นดินใหญ่

ในเวลาเดียวกันนี้ พวกบริษัทผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทำชิปต่างรายงานเรื่องยอดขายไปยังจีนเพิ่มขึ้นสูงลิ่ว โดยที่ผู้จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุด 2 ราย ได้แก่ แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ (Applied Materials) และ แอลเอเอ็ม (LAM) ต่างเป็นบริษัทอเมริกันทั้งคู่ ขณะที่ โตเกียว อิเล็กตรอน (Tokyo Electron) ผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ก็สามารถเพิ่มยอดขายของตนในจีนจากระดับ 50,000 ล้านเยน (ราว 441 ล้านดอลลาร์) ในปี 2015 ขึ้นสู่ระดับ 400,000 ล้านเยนในปีนี้

อุตสาหกรรมชิปของอเมริกาต่างพากันคัดค้านมาตรการแซงก์ชั่นของรัฐบาล ด้วยความหวาดกลัวว่าพวกผู้ผลิตชิปต่างประเทศจะพากันหันไปหาเครื่องมืออุปกรณ์จากแหล่งอื่นๆ ทดแทน ตัวทรัมป์เองในตอนแรกๆ ได้วีโต้เมื่อเดือนธันวาคม 2019 ไม่เอาด้วยกับการใช้มาตรการแซงก์ชั่นเครื่องมืออุปกรณ์ทำชิป ซึ่งเป็นการรับฟังความเห็นของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯที่โต้แย้งว่า นี่จะเป็นการตัดรายได้ของพวกบริษัทผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์อเมริกัน และหมายถึงการลดเงินทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาของบริษัทเหล่านี้ลงไปด้วย

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2020 ทรัมป์ยังทวิตบอกว่า “สหรัฐฯไม่สามารถที่จะกลายเป็น และก็จะไม่กลายเป็น สถานที่แสนลำบากยากเย็นขนาดนั้นในการตกลงทำดีลด้วย เมื่อพิจารณาจากแง่มุมที่ว่าพวกประเทศต่างชาตินั้นกำลังมาซื้อหาผลิตภัณฑ์ของพวกเรา รวมทั้งจะต้องไม่หยิบยกนำเอาข้อแก้ตัวในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติมาใช้กันอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เรายังคงได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ (เป็นการกระทำที่) จะทำให้พวกบริษัทของเราต้องถูกบังคับให้ถอยหนีไป”

แต่ต่อมาทรัมป์ก็เปลี่ยนความคิด ภายหลังเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19 และหันมาเลือกใช้สิ่งที่พวกเจ้าหน้าที่คณะบริหารทรัมป์เรียกกันว่า “ทางเลือกอาวุธนิวเคลียร์” ด้วยการสั่งห้ามขายพวกชิปทำในต่างประเทศแต่ใช้เครื่องมืออุปกรณ์อเมริกันหรือทรัพย์สินทางปัญญาอเมริกัน ให้แก่หัวเว่ย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ข้อเขียนในเอเชียไทม์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2020 ของผมเรื่อง “Trump bets the farm on Huawei equipment ban” https://asiatimes.com/2020/05/trump-bets-the-farm-on-huawei-equipment-ban/)

หอการค้าสหรัฐฯเตือนเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว ดังนี้ “สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯแล้ว การละทิ้งตลาดจีนจะหมายความว่าการประหยัดอันเกิดจากขนาด (economies of scale) จะลดต่ำลงไป เช่นเดียวกับการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาก็จะน้อยลง – และจะมีบทบาทการเป็นศูนย์กลางในโครงข่ายเต็มๆ ของห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีระดับโลกลดน้อยลงด้วย การหย่าร้างแยกขาด (จากจีน) จะทำให้กิจการต่างประเทศบางแห่งเร่งรัดกิจกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ของพวกเขาเข้าสู่ “กระบวนการถอนตัวออกจากความเป็นอเมริกัน” กลายเป็นการเดินหน้าเข้าสู่บททดสอบว่าเรื่องนี้เป็นไปได้หรือไม่ และก็กลายเป็นการเพิ่มแรงจูงใจแก่จีนมากขึ้นอีกในการแสวงหาทางพึ่งพิงตนเอง การสูญเสียการเข้าถึงลูกค้าชาวจีนจะเป็นเหตุให้อุตสาหกรรมนี้ของสหรัฐฯสูญเสียเอาต์พุตเป็นมูลค่าระหว่าง 54,000 ล้าน ถึง 124,000 ล้านดอลลาร์, เสี่ยงต่อการสูญเสียตำแหน่งงานมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง, เงินที่จะนำมาใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาหดหายไป 12,000 ล้านดอลลาร์, และเงินที่จะนำมาใช้จ่ายด้านเงินทุนหดหายไป 13,000 ล้านดอลลาร์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.uschamber.com/assets/archived/images/024001_us_china_decoupling_report_fin.pdf)

ในส่วนของจีนนั้น ตอบโต้ด้วยการใช้ความพยายามอย่างรีบด่วนเพื่อสร้างการผลิตชิปของตนเองขึ้นมา โดยมุ่งรวมศูนย์ที่พวกชิป “วัวงาน” นั่นคือตั้งแต่ 14 นาโนเมตรขึ้นไป ขณะที่พวกชิประดับ 3 นาโนเมตร ถึง 7 นาโนเมตร ซึ่งใช้เป็นตัวให้พลังแก่สมาร์ตโฟนรุ่น 5จี นั้น ในการผลิตจำเป็นต้องผ่านกระบวนการ extreme ultraviolet lithography ที่เวลานี้มีเพียงเครื่องซึ่งผลิตโดยบริษัท ASML ของเนเธอร์แลนด์แห่งเดียวเท่านั้นที่สามารถทำได้

วอชิงตันสกัดกั้นไม่ให้แดนมังกรเข้าถึงเครื่องมืออุปกรณ์ตัวนี้ กระนั้นก็ตามที ปัจจุบันจีนก็มีฐานะเป็นผู้ซื้ออุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ดี ด้วยยอดบิลลิ่งเกือบๆ 16,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงระหว่างไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ของปี 2021 ไต้หวันนั้นซื้ออุปกรณ์ทำชิปไปราวๆ 12,000 ล้านดอลลาร์ระหว่างเวลาเดียวกันนี้ อุปกรณ์เหล่านี้บางส่วนถูกขนส่งต่อไปยังโรงงานต่างๆ ของไต้หวันซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่

“จีนประสบความสำเร็จในการลดช่องว่างด้านการผลิตและการดีไซต์เซมิคอนดักเตอร์ จนกระทั่งตามหลังพวกเพลเยอร์ระดับนำเพียงแค่ 1 ถึง 2 เจเนอเรชั่นเท่านั้น” ศาสตราจารย์ เกรแฮม แอลลิสัน (Graham Allison) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ อีริค ชมิดต์ (Eric Schmidt) อดีตซีอีโอของกูเกิล เขียนเอาไว้เช่นนี้ในรายงานที่ส่งให้แก่ศูนย์กลางเบลเฟอร์เพื่อวิทยาศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ (Belfer Center for Science and International Affairs) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในเดือนธันวาคม 2021 นี้

“ในช่วงทศวรรษหน้า จีนจะกลายเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกในส่วนของเทคโนโลยีที่เติบโตเต็มที่แล้ว ขณะที่ ปีเตอร์ เวนนิงค์ (Peter Wennink) ซีอีโอของ ASML ประมาณการว่า ในเวลา “15 ปี” พวกเขาจะสามารถทำสิ่งต่างๆ ทั้งหมดได้ด้วยตนเอง (แล้วยังบรรลุถึงความเป็นเจ้าผู้ทรงอำนาจสูงสุดทางเทคโนโลยีในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์อีกด้วย)” แอลลิสัน กับ ชมิดต์ บอก

ส่วนแบ่งของสหรัฐฯในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก ได้หดลงลงอย่างมากมาย จากที่เคยเป็นผู้ผูกขาดชนิดสมบูรณ์แบบในช่วงทศวรรษ 1960 กลายมาเหลือส่วนแบ่งแค่ราวๆ 12% ในทุกวันนี้ และก็ผลิตเฉพาะส่วนที่เป็นเทคโนโลยีเติบโตเต็มที่เท่านั้นด้วย อย่างไรก็ตามเวลานี้ประธานาธิบดีโจ
ไบเดน เสนอ และวุฒิสภาสหรัฐฯก็ได้อนุมัติผ่านกฎหมายงบประมาณมูลค่า 52,000
ล้านดอลลาร์ เพื่อให้การอุดหนุนแก่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ

แต่ก็อย่างที่ อลัน แพตเทอร์สัน (Alan Patterson) ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในข้อเขียนแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ซึ่งเผยแพร่ทาง อีอีไทมส์ (EE Times) วารสารด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สหรัฐฯซึ่งตีพิมพ์ในสหรัฐฯ พวกบริษัทอย่าง อินเทล, ไอบีเอ็ม, ไมโครซอฟท์, และ กูเกิล ต่างพยายามล็อบบี้เพื่อให้สามารถนำเงินอุดหนุนเหล่านี้มาใช้จ่ายในการซื้อคืนหุ้นบริษัทของพวกเขา แทนที่จะต้องนำไปลงทุนในด้านการทำชิป
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.eetimes.com/with-chips-act-us-risks-building-a-white-elephant/)

อินเทล ที่เป็นผู้ผลิตชิประดับท็อปของอเมริกา “ใช้จ่ายเงินไป 50,000 ล้านดอลลาร์ในเรื่องรายจ่ายด้านเงินทุน และ 53,000 ล้านดอลลาร์ในเรื่องการวิจัยและพัฒนา ระหว่างช่วง 5 ปีที่ผ่านมา” แพตเทอร์สันตั้งข้อสังเกต ทว่า อินเทล “ยังแบ่งปันเงินทองให้แก่พวกผู้ถือหุ้นอย่างสุรุ่ยสุร่าย ในรูปของการซื้อคืนหุ้นเป็นจำนวน 35,000 ล้านดอลลาร์ และในการจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด 22,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมกันแล้วก็คือเป็นการใช้รายได้สุทธิของอินเทลไปเต็มๆ ทั้ง 100%


กำลังโหลดความคิดเห็น