xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ”ร้องนายกฯ สอบ กยท.หลังเทขายยางสต็อก 1.04 แสนตันมีพิรุธ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดำเนินการระบายยางในโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ย.63 โดยทำการขายยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง STR20 และยางอื่นๆ แบบเหมาคละคุณภาพและคละโกดัง จำนวน 17 โกดัง ปริมาณ 104,763.35 ตันไปแล้วนั้น

จากการตรวจสอบการเทขายสต็อกยางดังกล่าว พบข้อพิรุธอยู่หลายประการ ซึ่งอาจทำให้รัฐเสียหาย อาทิ 1.การออกประกาศขายยางดังกล่าวเกิดขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็วจนผิดสังเกต โดยกำหนดให้บริษัทที่สนใจยื่นข้อเสนอซื้อในระหว่างวันที่ 9-20 เม.ย.64 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ จะเหลือวันทำการเพียง 3 วันคือวันที่ 9, 19 และ 20 เม.ย.เท่านั้น ซึ่งถ้าไม่รู้ตัวมาก่อนจะไม่สามารถยื่นข้อเสนอตาม TOR ได้ทัน เพราะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นแคชเชียร์เช็ค 200 ล้านบาท และต้องมีหนังสือแบ็งค์การันตีไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทมายื่นด้วย ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวถ้าไม่รู้ตัวก่อนล่วงหน้าไม่มีทางทำทัน เว้นแต่จะมีการส่งซิกบอกกันล่วงหน้า

2.การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ยื่นต้องเป็นบริษัทที่เคยร่วมประมูลซื้อยางกับ กยท.มาก่อนมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท และโรงงานต้องเคยมีปริมาณการผลิตและแปรรูปในปี 2563 มากกว่า 2 แสนตัน ซึ่งในไทยมีเพียง 5 บริษัทเท่านั้นที่มีปริมาณการผลิตเกิน 2 แสนตัน ชี้ให้เห็นถึงการกีดกันบริษัทอื่นๆ ให้ไม่สามารถเข้ายื่นข้อเสนอซื้อยางได้ ทำให้รัฐขายยางได้ในราคาที่ต่ำเกินจริง

3.การที่มีบริษัทเอกชนเพียง 1 ราย ยื่นข้อเสนอซื้อยางดังกล่าว โดยไม่มีคู่แข่งเลยนั้น อาจทำให้รัฐเสียหาย ชี้ให้เห็นถึงข้อพิรุธ ที่สำคัญ การประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคา เมื่อวันที่ 22 เม.ย.64 โดยไม่ปรากฏว่าผู้ชนะดังกล่าวสามารถซื้อยางได้ในราคาเท่าไรนั้น ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในกลุ่มบริษัทผู้ซื้อยางว่า งานนี้คาดว่ารัฐบาลอาจขาดทุนกว่า 40 บาท/กก.

4.การที่บอร์ดการยางแห่งประเทศไทย อนุมัติให้เอกชนกู้เงินไปได้จำนวน 1,200 ล้านบาทนั้น ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ และเป็นที่สงสัยว่า เป็นการเอื้อให้เอกชนสามารถจับเสือมือเปล่า ใช่หรือไม่ เพราะขณะนี้ทราบว่ามีเอกชนพยายามนำยางดังกล่าว วิ่งไปขายยังประเทศจีน แต่ถูกปฏิเสธหมด เพราะการซื้อขายผิดปกติ จึงไม่มีใครกล้าที่จะรับเผือกร้อนได้

ด้วยข้อพิรุธดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่รวบงานประมูลยางดังกล่าวมาดูแลแทนกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อใช้อำนาจตาม ม.11(6) ของ พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาสอบสวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเร็ว แต่หากยังเพิกเฉย สมาคมฯจะนำความนี้ไปร้อง สตง. และ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบต่อไป