xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ รฟท.แถลงค่าโง่รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) ออกแถลงการณ์เรื่อง ระวัง..ความเสียหายของรัฐ (ค่าโง่) หากลงนามในสัญญาก่อนส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าโครงการรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ผู้ที่ชนะการประมูลคือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ซึ่งโครงการดังกล่าวรัฐร่วมลงทุนประมาณ 149,650 ล้านบาท และมีความล่าช้า อันเนื่องมาจากผู้ชนะการประมูลสร้างเงื่อนไขในการเจรจานอกกรอบ TOR จำนวน 12 ข้อ แม้จะมีข่าวว่าคณะอนุกรรมการเจรจาที่ตั้งขึ้นมาไม่รับข้อเสนอและเจรจาในประเด็น 12 ข้อ แต่ก็ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการให้แก่สาธารณชนได้รับทราบ เพราะ 12 ข้อที่กล่าวมาเป็นสาระสำคัญที่ทำให้รัฐ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสียเปรียบและความเสียหายจะตามมาในอนาคต จนถึงปัจจุบันการเซ็นสัญญาโครงการดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นมีการเลื่อนมาหลายครั้ง อันเนื่องมาจากข้อกังวลของผู้ชนะการประมูลในเรื่องผู้บุกรุกในพื้นที่ การส่งมอบพื้นที่และการหารือกับพันธมิตรร่วมทุนเนื่องจากงบลงทุนค่อนข้างสูง
โครงการดังกล่าวเบื้องต้นที่สาธารณชนรับทราบกันว่าจะมีการใช้ที่ดินของการรถไฟฯที่มักกะสันประมาณ 150 ไร่ และที่ดินบริเวณสถานีศรีราชา 25 ไร่ผลตอบแทนประมาณ 52,000 ล้านบาท และต่อมามีพื้นที่จากโครงการที่งอกมาใหม่ ซึ่งรัฐโดยการรถไฟฯ จะต้องเวนคืน และส่งมอบให้เอกชนทันทีหลังจากลงนามในสัญญาประมาณ 3,571 ไร่ (พื้นที่ที่จะใช้ในโครงการจำนวน 4,300 ไร่) จากจำนวนที่ดินที่ต้องส่งมอบมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังไม่มีการคำนวณค่าตอบแทนจากที่ดินที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นธรรมต่อการรถไฟฯและรัฐ ซึ่งเวลาต่อมามีความพยายามในการเร่งรัดให้มีการลงนามในสัญญาแม้ว่าโครงการจะมีปัญหามากมาย เช่น พื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง การแก้ไขปัญหาชุมชน ผู้บุกรุก ประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ในเส้นทางซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าในพื้นที่อีกกว่า 300 สัญญา

เรื่องการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ของ 6 หน่วยงาน เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการรื้อย้ายและยังไม่ทราบว่าหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้เตรียมงบประมาณไว้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาอุปสรรคที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะดำเนินการสำเร็จหรือไม่ ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆ รวมทั้งโครงการของการรถไฟฯเองที่มีปัญหาพิพาทกับบริษัทโฮปเวลล์ โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งมูลค่าสูงจากเดิมล้วนมาจากรากของปัญหาคือการส่งมอบพื้นที่ไม่ทันเวลาที่กำหนด

ดังนั้นจากสภาพปัญหาต่างๆที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้และยังจะเดินหน้าเร่งลงนามในสัญญาไปก่อนแล้วแก้ปัญหากันภายหลังซึ่ง สร.รฟท. ไม่เห็นด้วย และมีความกังวล ห่วงใย พร้อมมีข้อเสนอดังนี้

1.บุคคลของรัฐและการรถไฟฯที่เกี่ยวข้องที่จะลงนามในสัญญาหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในอนาคตมีหลายกรณีให้ศึกษาว่าความรับผิดจะเกิดขึ้นเฉพาะตนคือบุคคลที่ลงนามเท่านั้น

2.เมื่อลงนามในสัญญาไปแล้วหากรัฐไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา โดยจะเป็นมูลเหตุให้เอกชนผู้ได้สัมปทานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้ (ค่าโง่) ดังที่เกิดขึ้นจากหลายโครงการของหน่วยงานรัฐ ซึ่งค่าเสียหายหากจะต้องจ่ายก็ล้วนมาจากภาษีของประชาชน

3.สร.รฟท. ยืนยัน ข้อเสนอเดิม คือ ก่อนลงนามในสัญญาต้องเปิดเผยรายละเอียดในสัญญาให้สาธารณชนได้รับทราบเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐร่วมลงทุนในงบประมาณเกินว่าร้อยละ 50 โดยต้องส่งมอบทรัพย์สินของรัฐทั้งที่ดิน กว่า 4,000 ไร่ และโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้แก่ผู้รับสัมปทานในราคาที่ต่ำมากให้เอกชนที่รับสัมปทาน

4.สร.รฟท. ยืนยัน ในข้อเสนอเดิมที่จะให้รัฐบาลพิจารณาคือโครงการดังกล่าวหากรัฐดำเนินโครงการเองน่าจะมีประโยชน์มากกว่า โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีข้อพิพาทเกิดขึ้นและในเส้นทางเดียวกันก็มีเส้นทางของการรถไฟฯสายตะวันออกแยกจากฉะเชิงเทราไปสุดปลายทางที่สัตหีบอยู่แล้วเพียงแค่ทำทางคู่เพิ่มและขยายเส้นทางเข้าไปยังสนามบินอู่ตะเภาจะประหยัดเงินไม่เป็นภาระด้านงบประมาณแก่รัฐ