xs
xsm
sm
md
lg

'ท่านใหม่'โพสต์ FB รำลึกวันมหิดล พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก“จุลเจิม ยุคล”เนื่องในวัน 24 กันยายน วันมหิดล พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงพระราชสมภพในพระมหาราชวัง เมื่อ วันที่ 1 มกราคม 2434 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีนครินทร์ทราบรม ราชชนนี(นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ)เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2463 มีพระธิดาและพระโอรส 3 พระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนครธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช(รัชกาลที่ 9)

สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 เวลา 16.45 น. รวมพระชนม์มายุได้ 37 ปี 8 เดือน กับ 23 วัน เนื่องจากพระปับผาสะมีน้ำคั่งและพระหทัยวาย นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ไทย

สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อจนได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ก็เสด็จกลับประเทศไทย ระหว่างที่ทรงเดินทางผ่านทางยุโรป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงแต่งตั้งให้พระองค์ทรงเป็นผู้แทนเพื่อเจรจากับมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ เกี่ยวกับการช่วยปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ ทำให้ต้องเสด็จไปประชุมตามเมืองต่างๆ ในยุโรป ด้วยพระปรีชาสามารถและทรงเสียสละความสุข และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมมือกับมูลนิธินี้ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ก็ทรงชนะจิตใจเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิตกลงยินยอมให้ความช่วยเหลือการแพทย์ของเมืองไทยเมื่อเสด็จกลับประเทศไทยแล้วทรงรับตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ไม่ทรงทิ้งเจตนาเดิมเรื่องการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ เพื่อจะได้แพทย์ที่มีคุณภาพดี การทรงงานของพระองค์มีปัญหาบ้าง เนื่องจากที่พระองค์ไม่ใช่แพทย์ และไม่มีความรู้ด้านแพทย์โดยตรง ก็ทรงแก้ปัญหานั้นด้วยการเสด็จไปเรียนวิชาแพทย์เสียเอง เพื่อสร้างความเจริญให้แก่การแพทย์ของไทยตามที่ทรงตั้งปณิธานไว้ โดยทรงเสด็จไปศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ทรงอุทิศพระวรกายให้แก่การศึกษาอย่างเต็มที่ จนโรคพระวักกะพิการแต่เดิมนั้นกำเริบอีกครั้ง เมื่อถึงใกล้สอบไล่ขั้นสุดท้ายทรงประชวรโรคไส้ติ่งอักเสบจึงต้องผ่าตัด แต่ก็ทรงสอบได้ในระดับเกียรตินิยม

เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยอีกครั้ง ทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปฝึกงานเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช แต่การนี้ไม่สำเร็จด้วยพระอิสริยยศของพระองค์เป็นอุปสรรค จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปทรงงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ ทรงประทับกับหมอคอร์ต ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต่อมาทรงตั้งพระทัยหาบ้านไว้ให้เหมาะก่อนแล้วจึงจะให้ครอบครัวของพระองค์ตามไป

สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทรงทำหน้าที่แพทย์ได้เพียง ๒๑ วัน ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากทรงประชวร ต้องประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่วังสระปทุม แพทย์ผู้ชำนาญทั้งไทย และต่างประเทศได้พยายามรักษาอย่างสุดความสามารถตลอดระยะเวลา ๔ เดือน ถึงแม้ว่าพระหฤทัยจะเข้มแข็ง และมุ่งมั่นแต่พระวรกายต่อสู้กับพระโรคไม่ไหว พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ สิริรวมพระชนมายุเพียง ๓๗ พรรษา หลังจากนั้นในวงการแพทย์ และผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้พร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติให้พระองค์เป็น "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน” ของไทย