xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานฯ แจงสาเหตุ 86 เสือโคร่งตาย พบติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงชี้แจงกรณีเสือโคร่งของกลางเสียชีวิตกว่า 80 ตัว ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ตรวจยึดมาจากวัดป่าหลวงตาบัวฯ จ.กาญจนบุรี และนำมาดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าตรวจยึดเสือโคร่งภายในสำนักสงฆ์หลวงตาบัว จำนวน 7 ตัว เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2544 แต่เนื่องจากติดปัญหาทำให้ไม่สามารถดำเนินการย้ายออกจากสำนักสงฆ์ได้ จนเสือโคร่งขยายพันธุ์เพิ่มเป็น 147 ตัว ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะทำการทยอยย้ายเสือโคร่งทั้งหมด ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. 2549 ไปไว้ที่เขาประทับช้าง จำนวน 85 ตัว และ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จำนวน 62 ตัว ซึ่งจากการตรวจสอบเสือโคร่งทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย และเกิดจากการผสมพันธุ์กันเอง

ทั้งนี้ ก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งไปที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง 2 แห่ง ไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแห่งอื่นเกือบทั้งหมด เหลือเพียงบางส่วนที่ไม่สามารถขนย้ายได้ ส่วนเสือโคร่งทั้ง 147 ตัวที่ย้ายมาจากวัดหลวงตาบัว เป็นการเคลื่อนย้ายในภาวะที่ไม่ปกติเสือโคร่งส่วนใหญ่มีภาวะเครียด โดยพบว่ามีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เป็นอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ทำให้การหายใจเข้าออกลำบาก นำไปสู่การไม่กินอาหาร และตาย

นอกจากนี้ ยังพบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข โรคติดต่อร้ายแรงที่ในปัจจุบันนังไม่มียารักษา ทำได้เพียงรักษาตามอาการ ซึ่งภายหลังจากการติดเชื้อจะมีความผิดปกติในระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร ขณะที่การดูแลรักษาหลังพบอาการระบบทางเดินหายใจแพทย์ได้ให้ยารักษาตามอาการ หากพบมีการหายใจดังมากจะทำการผ่าตัด

ส่วนการติดเชื้อ และการที่มีร่างกายอ่อนแอ คาดว่ามาจากการผสมเลือดชิด ที่เกิดจากการผสมพันธุ์กันเองมาก่อนเคลื่อนย้ายแล้ว ซึ่งเริ่มมาจาก 6 ตัว และเพิ่มเป็น 147 ตัว ซึ่งการผสมเลือดชิดจะทำให้สัตว์มีโครงสร้างทางพันธุกรรมที่ผิดปกติ มีอายุสั้น ภูมิคุ้มกันและฮอร์โมนต่ำ และเจ็บป่วยง่าย ซึ่งเสือที่มีอยู่เดิมในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ ไม่มีอาการป่วยทั้ง 2 อย่างที่กล่าวไป จึงคาดว่าเสือทั้งหมดที่เสียชีวิตมีอาการป่วยมาอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพเสือโคร่งหลังจากนี้ จะทำการคัดแยกเสือตามกลุ่มอาการ ใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข และติดตามผลเป็นระยะ ส่วนเสือโคร่งที่มีอาการป่วยจะทำการรักษาตามอาการ และผ่าตัดเป็นบางตัว หากพบมีอาการหายใจดังมาก รวมถึงจะควบคุมให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวอนามัยภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ทั้ง 2 แห่ง