xs
xsm
sm
md
lg

‘กรณ์’ห่วงโครงการคอนโดฯ ใหม่ใน กทม.กระทบสิทธิชุมชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรณ์ จาติกวณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก“Korn Chatikavanij”ระบุว่า
เราอยากเห็นเมืองหลวงเราเป็นอย่างไร ตอนนี้กระแสการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. กำลังเริ่มมาแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะถึงเวลาที่คนกรุงเทพต้องทบทวนว่าเราอยากเห็นเมืองหลวงเราเป็นอย่างไร

วันก่อนผมได้มีโอกาสแสดงความเห็นในกระบวนการประเมินผลต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการคอนโดแถวบ้านแห่งหนึ่ง โครงการนี้อยู่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าหรือเส้นทางรถเมล์ และบริเวณโครงการปัจจุบันเป็นถิ่นบ้านเดี่ยวซอยหน้าโครงการจึงแคบมาก

ปัญหามีมาก แต่ที่อยากจะเล่าคือโครงการนี้เฟสแรกจะมีห้อง 250 ห้อง แต่มีการสร้างที่จอดรถเพียง 90 คัน วันนั้นผมจึงมีคำถามซื่อๆว่า แล้วรถยนต์อีก 160 คัน คุณจะให้เขาจอดตรงไหน (มีสมมุติฐานว่าทุกห้องจะมีรถยนต์เฉลี่ยห้องละ 1 คัน) ซึ่งทางโครงการก็อึกอัก และคำตอบที่ได้รับจำนวนที่จอดรถของโครงการตรงกับบทบัญญัติในกฎหมายของ กทม.

ผมก็ชี้แจงกับเจ้าของโครงการว่า ถนนและซอยแถวนั้นแคบมากอยู่แล้ว คุณก็รู้ว่าสุดท้ายลูกค้าคุณก็ต้องไปหาที่จอดริมถนน ซึ่งคุณไม่ใช่ผู้เดือดร้อน แต่ชาวบ้านแถวนี้จะอยู่กันอย่างไร การทำธุรกิจที่ดีคุณต้องรับผิดชอบต่อสังคม

ยังไม่รวมถึงกรณีการดูแลสวัสดิภาพของชุมชนที่อยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการขยะ การดูแลระบบสาธารณูปโภคที่จะมีผู้ใช้มากขึ้นตามมา และหลายๆ คนในชุมชนยังมีความกังวลต่อประเด็น ตึกสูง กับซอยแคบ เมื่อเกิดอุบัติภัยขึ้นมาการรับมือจะเป็นไปอย่างไร เรื่องนี้ก็อดคิดไม่ได้

ก็เห็นใจตัวเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่มารับฟังความเห็นในวันนั้นครับ เพราะนโยบายบริษัทก็คือเมื่อซื้อที่มาแล้ว ก็ต้องสร้างรายได้ให้มากที่สุดจากที่แปลงนั้นๆ

พอผมหันไปถามบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เขาก็บอกว่าปกติเกณฑ์การพิจารณาก็คือโครงการทำตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าทำก็ผ่าน ผมก็ถามกลับว่าหากเกณฑ์มีแค่นั้น เราต้องมาทำ EIA อีกทำไม ในความคิดผมกฎหมายก็เรื่องหนึ่ง แต่ EIA ควรหมายถึงการประเมินประเด็นเพิ่มเติมทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กฎหมายอาจไม่ครอบคลุม

หาก กทม. เรายังเดินอย่างนี้ต่อไป คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพก็จะแย่ลงแย่ลง บริษัทที่สร้างคอนโดเขาไม่ได้มาอยู่กับผลของโครงการของเขา เจ้าของแต่ละบริษัทรํ่ารวยอยู่สบายอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องของพวกเราที่ต้องตั้งคำถามว่า เราต้องการกรุงเทพแบบไหน

ผมจึงอยากฝากให้ว่าที่ผู้สมัครทั้งหลายกรุณาสื่อสารกับพวกเราให้ชัดครับ ว่ากับปัญหาอย่างที่ผมหยิบยกขึ้นมานี้ ท่านจะมีนโยบายอย่างไร

ส่วนตัวผมมองว่าเราควรสร้างความสมดุลได้แล้ว ระหว่างโอกาสของนายทุนกับคุณภาพชีวิตประชากร