xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบแพคเกจเร่งรัดการลงทุน-รองรับการย้ายฐานการผลิต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเห็นชอบแพคเกจเร่งรัดการลงทุน และรองรับการย้ายฐานการผลิต จากผลกระทบของสงครามการค้าหรือ Thailand Plus Package 7 ด้าน ดังนี้ 

1.การให้สิทธิประโยชน์เร่งรัดการลงทุน จากเดิมได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี  เพิ่มใหม่เป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติม โดยกำหนดต้องเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000ล้านบาท ภายในปี 2564 ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563   

2.เห็นชอบตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุนในลักษณะ One Stop Service โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อตัดสินใจ และอำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคแก่นักลงทุนรวมในจุดเดียว ไม่ต้องเดินทางไปหารือกับหลายหน่วยงานแล้วไม่ได้รับคำตอบชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนเชื่อมั่นเมื่อได้หารือกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อตอบสนองนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตได้อย่างรวดเร็ว

3.ด้านพัฒนาบุคลากร กำหนดมาตรการด้านการคลัง เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน เมื่อผู้ประกอบการนำเงินลงทุน หรือมีค่าใช้จ่ายอบรมแรงงานด้าน  Advance Technology  สามารถไปหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง ระหว่างปี 2562-2563 รวมทั้งการออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาวิทยาศาตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยบีโอไอยังร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแนวทางการนำเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาใช้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษาศักยภาพสูง เพื่อให้สถาบันการศึกษา บริษัทต่างชาติ หรือเอกชน จัดคอร์สการอบรมระยะสั้น

4.ด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยมอบหมายให้กระทรวง พาณิชย์เร่งปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้บีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงข้อมูล อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมโรงานอุตสาหกรรมและกรมที่ดิน การปรับปรุงกฏระเบียบเรื่องวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยควมสะดวกแก่นักลงทุน และผู้มีความเซี่ยวชาญสูง เพื่อให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้สะดวกขึ้น 

5.มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพราะแต่ละประเทศต้องการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน  ญี่ปุ่น   

6.คณะรัฐมนตรีขอให้กระทรวงพาณิชย์สรุปผลการศึกษา และฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู และการเข้าร่วมความตกลหุ้น ทางเศรษฐกิจเอเซียแปซิฟิก (CPTPP) ภายในปี 2562  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติว่าไทยประสงค์เจรจาทั้งสองเวที และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณดูผลเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ผ่านกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าด้วย 

7.ให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้นักลงทุนนำค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้เพิ่มขึ้นจากเดิม1.5 เท่า ระหว่างปี 2562-2563 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ