xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการระบุนายกฯ ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนไม่จำเป็นต้องลาออก แนะรอศาล รธน.ชี้ขาดดีที่สุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่เป็นไปตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ ว่า ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชัดเจนว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนจะผิด หรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และไม่มีบทลงโทษบัญญัติไว้ แต่ตามมาตรา 5 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า รัฐบาลจะกระทำการใด ๆ ที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำขั้นตอนทุกอย่างถูกต้อง เพียงแต่อาจไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ดังนั้น จากนี้ต้องทำให้สมบูรณ์

ทั้งนี้ มาตรา 5 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า หากการกระทำใดไม่เข้าข่ายมาตรา 5 วรรค 1 ให้ยึดตามจารีตประเพณีการปกครองเดิมที่เคยทำมา ซึ่งในอดีตก็ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนแล้วต้องลาออก ส่วนตัวจึงไม่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี

นายเจษฎ์ กล่าวว่า สำหรับวิธีแก้ปัญหามี 3 แนวทางคือ 1.อยู่เฉยๆ เพราะถือว่าได้ถวายสัตย์ฯ แล้ว 2. เมื่อมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและอัยการ สุดท้ายทั้ง 2 หน่วยงานนี้ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้น คือรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด และ 3. หากเห็นว่าไม่ครบถ้วนจริง นายกรัฐมนตรีทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยว่า ต้องถวายสัตย์ฯ อีกครั้งหรือไม่ หรือจะมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการอย่างไร

ส่วนการจะมีผู้ดำเนินการเอาผิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ไม่น่าจะเข้าข่าย เพราะไม่ได้เป็นการอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน หรือไม่ได้ดูหมิ่น เพียงแต่กระบวนการไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้บอกแล้วว่าไม่มีเจตนา และคงไม่มีใครที่จะเจตนาขัดรัฐธรรมนูญถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ

อย่างไรก็ตาม นายเจษฎ์ กล่าวว่า การถวายสัตย์ฯ ตามมาตรา 161 ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องทำให้สมบูรณ์ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องทำให้คนยอมรับด้วยเท่านั้น

นอกจากนี้ นายเจษฎ์ ยังกล่าวถึงข้อสังเกตหากรัฐบาลดำเนินการตามมาตรา 161 ไม่สมบูรณ์ จะไม่ถือว่ามีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ และสิ่งที่ดำเนินการระหว่างนี้จะถือเป็นโมฆะะหรือไม่ ว่า ทั้งหมดต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ความเห็นที่เกิดขึ้นมาในระหว่างนี้ ถือเป็นการสมมุติขึ้นมาของแต่ละบุคคล เพราะเรื่องลักษณะการถวายสัตย์ฯ ไม่สมบูรณ์ยังไม่เคยเกิดขึ้น

ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทางร้าย เท่ากับว่าการแถลงนโยบายจะต้องกลายเป็นศูนย์ รัฐมนตรีทุกคนจะถือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ยังไม่มีรัฐบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่า เมื่อยังไม่มีรัฐบาล จะถือว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อ ดังนั้น คสช.จะต้องกลับมาบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยากให้รอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญจะดีที่สุด