xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ”จี้ ก.พลังงานเร่งปฏิบัติตามมติผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐต้องผลิตไฟฟ้าเกิน 51%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัย และมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงพลังงาน โดยให้กระทรวงพลังงานปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP 2018 เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 51% ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 56 วรรคสอง โดยให้พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายในกำหนด 10 ปี นับจากปี พ.ศ. 2562 นั้น

การดำเนินการเพิ่มสัดส่วนของรัฐดังกล่าวไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 120 วัน หรือ 10 ปี เพราะการวินิจฉัยกำหนดระยะเวลาให้ล่าช้าออกไปเช่นนั้น ไม่มีกฎหมายใดรองรับ หากแต่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศและบังคับใช้ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น การที่กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ใช้อำนาจในการกำหนดแผน PDP และอนุมัติอนุญาตให้เอกชนผลิตไฟฟ้าจนเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น เชื่อว่าเป็นเจตนาที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนโดยชัดแจ้ง ซึ่งอาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งกรณีดังกล่าวสมาคมฯ จะนำความไปร้องเอาผิดบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อ ป.ป.ช.ในเร็วๆ นี้หากรัฐไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาโดยเร็ว ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือ การรื้อสัญญาโรงไฟฟ้าในส่วนที่ดำเนินการไปแล้วนำมาเกลี่ยให้ไม่เกิน 49% ตามรัฐธรรมนูญต่อไป

ทั้งนี้ การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐไม่น้อยกว่า 51% นั้นอาจทำได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่นำบริษัทลูกของ กฟผ. อาทิ RATCH และ GPSC และ ปตท. กลับมามีสัดส่วนของหุ้นเกิน 51% แค่นี้ก็จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจาก 34% เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 51% ได้ไม่ยากเลย โดยไม่ต้องไปรอให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆเข้ามาในระบบ ที่จะทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางในการผลักภารค่าใช้จ่ายมาให้ประชาชนผ่านค่า Ft ในทุกๆบิลค่าไฟนั่นเอง

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานเร่งมาตรการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ม.56 วรรคสองโดยทันทีตามข้อเสนอแนะข้างต้น พร้อมๆ กับให้ตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดผู้บริหาร สนพ.และกรรมการ กพช. ทุกคนที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ฐานเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้ผลิตไฟฟ้าเกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้ประชาชนเสียหายเพราะทำให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นนั่นเอง