xs
xsm
sm
md
lg

"สมคิด"มอบนโยบายสภาพัฒน์ขยับอันดับศักยภาพการแข่งขันของไทยให้ดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมมอบนโยบายผู้บริหารสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ หลังจากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยจาก IMD ประจำปี 2562 ประเทศไทยอันดับสูงขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 มาอยู่ที่อันดับ 25 ว่า รัฐบาลต้องการให้รักษาระดับความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น โดยเฉพาะไทยได้แซงเกาหลีใต้ซึ่งอยู่อันดับ 26 แต่ยอมรับว่าทุกประเทศมีปัญหาการส่งออกเหมือนกัน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ปัญหา ICAO ให้ใบแดงเรื่องการบินและปัญหา IUU ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก้ปัญหาจนต่างชาติให้การยอมรับ จึงคาดหวังว่าหากเร่งรัดปฏิรูปหลายด้าน ความสามารถในการแข่งขันของไทยต้องอยู่ต่ำกว่าอันดับ 20 ในปี 2563 ได้

นายสมคิด กล่าวว่า ต้องใช้โอกาสส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน หลังคาดว่าการลงทุนมีโอกาสขยายตัวเพิ่มจากร้อยละ 3.9 เป็นร้อยละ 4.5 การลงทุนภาครัฐมีโอกาสไปได้สูงมาก จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ เพื่อผลักดันให้ขีดความสามารถแข่งขันขยับสูงขึ้นได้ และต้องการให้ สศช.ปรับโครงสร้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กว้างมากขึ้น เพื่อส่งเสริมไปยังกลุ่มภาคเกษตรและการท่องเที่ยว เมื่อเร่งแก้ปัญหาทุกด้านครอบคลุม ยังเชื่อมั่นว่าไทยจะแข่งขันกับสิงคโปร์ได้หลายด้าน โดยต้องการให้ประชุมหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยากให้ช่วยกันประคับประคอง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกหลายด้าน ส่งเสริมการค้าชายแดน ผลักดันการท่องเที่ยว เมื่อรัฐบาลได้ลงทุนรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ เส้นทางคมนาคมครอบคลุม จะทำให้การเดินทางของคนไทยและต่างชาติไปยังแหล่งท่องเที่ยวปลายทางในเมืองรองและเมืองหลักคล่องตัวขึ้น

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามได้พัฒนาไปเร็วมาก เมื่ออำนาจซื้อส่วนใหญ่เป็นของรายย่อย จึงต้องหาทางส่งเสริม เพิ่มอำนาจซื้อให้กับรายย่อยในต่างจังหวัด ผ่านการสร้างเศรษฐกิจชุมชน ต้องหาทางส่งเสริมให้ชาวบ้าน ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น เป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลที่ต้องการให้เศรษฐกิจชุมชนเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับในยุคนี้คงยากขึ้น จึงขอให้ สศช.เป็นเสาหลักสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจ ต้องส่งสัญญาณให้รัฐบาลต้องรับฟังการทำนโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลยังต้องการเร่งรัดพัฒนาบุคลากรคุณภาพ รองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนาบุคลากรใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมกำชับกระทรวงต่างๆ เสนอของบประมาณลงทุนต้องคัดเลือกให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ต้องพิจารณาตรวจสอบการลงทุนให้รอบคอบ เพื่อคานอำนาจการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ