xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าเผยดัชนีความสามารถการแข่งขันธุรกิจ SMEs ไตรมาส 1/2562 ปรับลดทุกด้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ทำการสำรวจดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาสที่ 1/2562 จากเอสเอ็มอีในภาคการผลิต ภาคการค้า และธุรกิจบริการ จำนวน 1,249 กลุ่มตัวอย่าง พบว่าตัวชี้วัดในทุกด้าน ทั้งดัชนีสถานการณ์ธุรกิจที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากสถานการณ์สภาพคล่อง หนี้สินโดยรวม ยอดขาย ตลอดจนกำไรสุทธิที่แย่ลง และดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจที่กลับมาลดลงต่ำกว่า 50 ที่ระดับ 49.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 50.4 เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น มีผลต่อการตั้งราคาและกำไรจากการขาย และการเข้าถึงแหล่งทุนที่ยากขึ้น รวมถึงตัวชี้วัดจากดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.5 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 52.8 ตามการลงทุนการตลาด และการลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยที่ลดลง ส่งผลให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.7 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 49.0 แต่หากแยกระหว่างลูกค้าของ ธพว. แม้ค่าดัชนีจะลดลงในไตรมาสแรก แต่ยังอยู่ในระดับที่เกิน 50 ที่ระดับ 55.5 ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของ ธพว. ดัชนีอยู่ที่ระดับ 41.6

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือต้นทุน โดยเฉพาะในด้านภาษี ที่ส่งผลต่อต้นทุนโดยรวม การช่วยเหลือด้านตลาดเพื่อให้รายได้เพิ่มขึ้น การส่งเสริมสภาพคล่องผ่านการเข้าถึงสินเชื่อให้ง่ายขึ้น และเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากกำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้า ที่เริ่มมีการออกมาตรการตอบโต้กันมากขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามผลการเจรจา 2 ฝ่ายในเดือนมิถุนายนนี้ว่าการเจรจาจะไปในทิศทางที่ดีหรือไม่ เพราะจะกระทบต่อการส่งออกไทยให้โอกาสติดลบในปีนี้ รวมไปถึงกระทบต่อการท่องเที่ยว ที่จะมีผลต่อเนื่องมายังเกษตรกร และเอสเอ็มอีให้ขายของได้ลดลง กำลังซื้อก็จะหดตัว

ในส่วนของ ธพว.ได้มีผลิตภัณฑ์มาช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการ 3 เติม ได้แก่ การเติมทักษะ ผ่านการสัมมนา จับคู่ธุรกิจ เติมทุน ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และเติมคุณภาพชีวิต ช่วยให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีนโยบายการอนุมัติสินเชื่อให้รวดเร็ว ซึ่งจะพิจารณาจากเอกสารที่ครบถ้วนถูกต้องเป็นหลัก เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะหากอนุมัติโดยไม่มั่นใจอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแทน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะกระทบเศรษฐกิจ รวมทั้งความกังวลในเรื่องของการเลือกตั้งที่ได้รัฐบาลล้าช้า ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่เอสเอ็มอีที่ใช้บริการจากสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่จะมีการป้องกันความเสียหายจากผลกระทบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี