xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยคว้า 8 รางวัลแข่งโครงงานวิทยาศาสตร์ ทีม"น้ำผึ้่ง"ได้รางวัลพิเศษพร้อมทุน $3 พัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสุวรงค์ วงษ์ศิริรอง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า จากการสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พร้อมด้วยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม ได้นำเยาวชนจำนวน 17 ทีม เข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งการประกวดโครงงานแบ่งออกเป็น 22 สาขา เช่น ชีวภาพ สัตวศาสตร์ วัสดุศาสตร์ เคมี คณิตศาสตร์ พืชศาสตร์ วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ระบบสมองกลฝังตัว ซอฟต์แวร์ระบบ

ในปีนี้เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 8 รางวัลด้วยกัน ได้แก่

รางวัลที่ 3 พร้อมทุนการศึกษา 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ สาขาวิทยาศาสตร์ ชีวภาพ ด้านพืชวิทยา

รางวัลสเปเชียลอวอร์ด จาก Sigma Xi ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพสำหรับการวิจัยข้ามสาขา และการทำงานเป็นทีม ด้วยโครงงาน "เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช" ผลงานของนายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ และ น.ส.สุทธิดา เอี่ยมสอาด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา" จ.ฉะเชิงเทรา

รางวัลที่ 3 พร้อมทุนการศึกษา 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ด้านพลังงาน-กายภาพ ด้วยโครงงาน "กังหันลมแบบไฮบริดจ์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าและเทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยวงแหวนแม่เหล็ก ถาวร" ผลงานของนายรังสิมันต์ กุลเพชรจิระ และนายจิตรภณ ขจรภิรมย์ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก

รางวัลที่ 4 พร้อมทุนการศึกษา 500 ดอลลาร์สหรัฐ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ด้านพืชวิทยา ด้วยโครงงาน "การพัฒนา ไฮโดรเจลสำหรับกำจัดหอยที่เป็นศัตรูพืชในทางการเกษตรจากยางไม้ในท้องถิ่น" ผลงานของ น.ส.นัทธมน ศรีพรม น.ส.รมิตา เชื้อเมืองพาน และ น.ส.พันธ์อนงค์ ชื่นโชคชัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย

รางวัลที่ 4 พร้อมทุนการศึกษา 500 ดอลลาร์สหรัฐ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ด้านเคมีวิทยา ด้วยโครงงาน "การพัฒนานวัตกรรมชุดทดสอบเซนเซอร์เชิงสีเพื่อตรวจวัดปริมาณคลอรามีนในสระว่ายน้ำโดยตรง : แนวคิดใหม่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ" ซึ่งเป็นผลงานของ น.ส.อธิชา สันติลินนท์ นายณัฐประวีร์ ปัถยาวิชญ์ และนายณภัทร สัจจมงคล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม

รางวัลที่ 4 พร้อมทุนการศึกษา 500 ดอลลาร์สหรัฐ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาระบบซอร์ฟแวร์ ด้วยโครงงาน "การประมาณน้ำหนักเนื้อข้าวโพดหวานจากรูปภาพดิจิทัล ด้วยวิธีการอินทิกรัลแบบหมุนรอบแกน" ผลงานของ น.ส.ณีรนุช สุดเจริญ น.ส.ชนิกานต์ พรหมแพทย์ และ น.ส.พรชนัญญ์ มั่งมีธนพิบูลย์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี

รางวัลสเปเชียลอวอร์ด จาก USAID from the American People ด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พร้อมทุนการศึกษา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ คือโครงงาน "การพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง" ผลงานของ น.ส.น้ำผึ้ง ปัญญา นายพิรชัช คชนิล และนายเจษฎา สิทธิขันแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย

ทั้งนี้ น.ส.น้ำผึ้ง คือนักเรียนที่ประสบปัญหาขอวีซ่าเข้าประเทศไม่ผ่านถึง 2 ครั้ง เนื่องจากเป็นเด็กไร้สัญชาติ แต่หลังจากกรมการปกครองพิจารณาเห็นชอบให้ น.ส.น้ำผึ้ง ได้สัญชาติไทย จึงทำให้สามารถเดินทางไปแข่งขันได้ทันตามกำหนด พร้อมกับคว้ารางวัลกลับมาได้

รางวัลสเปเชียลอวอร์ด จากสมาคมเคมีอเมริกัน ด้วยโครงงาน "การสังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนจากน้ำมันหมูเหลือใช้เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเล" ผลงานของนายปุถุชน วงศ์วรกุล นายชวิศ แก้วนุรัชดาสร และ น.ส.ภัทรนันท์ บุญชิต โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง

เยาวชนไทยทั้งหมดจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ค.) ซึ่งจะมีคณะผู้บริหารองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติต้อนรับ ในฐานะที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยกลับมาได้อย่างยอดเยี่ยม