xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดอีอีซีไฟเขียวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เตรียมชง ครม.28 พ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี ครั้งที่ 4/2562 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุม กพอ. รับทราบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือก ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ และอาจลงนามในสัญญาได้ภายในวันที่ 15 มิถุนายน หากผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ และส่งมอบพื้นที่ได้ครบทั้งหมด

ส่วนโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า หรือภายในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขให้กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีทีแทงค์ที่ชนะประมูล เป็นผู้ลงทุนค่าถมทะเล วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท โดย กนอ. ทยอยคืนเงินให้เอกชนปีละ 720 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.8 ภายในระยะเวลา 30 ปี จากเดิมคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปี ต้องจ่ายคืนปีละ 600 ล้านบาท

สำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยืนยันให้ความเป็นธรรมและความเสมอภาคกับเอกชนทุกราย ซึ่งเป็นไปตาม TOR แต่เมื่อกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับมติและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกผู้ชนะโครงการฯ ทางคณะกรรมการฯ จะเข้าชี้แจงต่อศาลฯ ในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ และระหว่างรอฟังคำตัดสิน ยังดำเนินการตามปกติต่อไป ไม่ได้หยุดโครงการ

ขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) อาจล่าช้ากว่าแผนงานเดิมเล็กน้อยประมาณ 1 เดือน จากเดือนพฤษภาคม เป็นประมาณเดือนมิถุนายน

ด้านนายวราวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD) โครงการรถไฟความเร็วสูงนั้น จะส่งมอบพื้นที่บริเวณมักกะสัน 50 ไร่ ให้กับผู้พัฒนาโครงการก่อน ส่วนที่เหลืออีก 50 ไร่ จะส่งมอบให้ภายหลังดำเนินการไปแล้ว 5 ปี โดยการส่งมอบพื้นที่มักกะสันจะไม่มีปัญหาการไล่ที่หรือการบุกรุกพื้นที่ ส่วนพื้นที่อื่นๆ และจะร่วมกับผู้รับเหมาและเอกชนหาข้อสรุปก่อนการลงนามในสัญญา ซึ่งจะลงนามวันที่ 15 มิถุนายนนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณารายงาน EIA ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นอกจากนี้ บอร์ดอีอีซี ยังเห็นชอบการดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่ EEC (Thailand Genome Sequencing Center) โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อลงทุนสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ซึ่งจะเป็นการยกระดับการรักษาพยาบาลให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub โดยวางกรอบการลงทุนไว้ที่ 1,500 ล้านบาท