xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ห่วง'เอลนีโญ'ทำฝนน้อย ย้ำทำความเข้าใจเกษตรกรงดทำนาปรังในพื้นที่น้ำน้อย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการแก้ปัญหาภัยแล้ง ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (9 เม.ย.) มีการสอบถามถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้มีการประกาศพื้นที่ใน 2 ภาค คือภาคอีสาน และภาคตะวันออก ให้เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว ส่วนสิ่งที่น่าห่วงกังวล คือปัญหาเรื่องน้ำ จากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้ฤดูฝนสั้นลงหรือมีฝนตกน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมอุตุนิยมวิทยาต้องประเมินในฤดูฝนหน้า ขณะที่ทุกฝ่ายต้องติดตาม และเตรียมการสำหรับเรื่องนี้ด้วย มิฉะนั้นจะเกิดความลำบาก

สำหรับเรื่องน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคนั้น น้ำประปาในหลายพื้นที่กำลังมีปัญหา แหล่งน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งตนสั่งการให้ไปขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติมหรือให้มีการขนย้ายน้ำไปให้บริการแก่ประชาชนหลายพื้นที่ โดยเป็นเรื่องที่เราต้องทำให้ดีขึ้น และได้ทำมามากแล้ว แต่ยังต้องทำมากขึ้นอีก ให้เป็นเครือข่ายความเชื่อมโยงในการบริหารจัดการน้ำให้มากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ เรื่องน้ำเพื่อการเกษตรยังมีปัญหามากเช่นกัน เพราะมีทั้งน้ำในพื้นที่ชลประทาน ซึ่งเขื่อนหลายสิบแห่งมีปริมาณน้ำน้อยลง ขณะเดียวกัน ภาคเกษตรยังไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองมากนัก ทั้งที่รัฐบาลมีมาตรการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังจำนวนหนึ่ง แต่กลับมีการปลูกเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจเป็นผลจากราคาข้าวดีขึ้น จึงทำให้เกษตรกรเร่งปลูกข้าวนาปรังโดยไม่คิดว่าจะเอาน้ำมาจากไหน

ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรเพิ่มเติม โดยรัฐบาลพยายามทำทุกอย่าง และต้องหามาตรการเพิ่มเติมอีกในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ตนขอร้องว่าการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ถ้ามีฝนตกน้อยในปีหน้า ก็จะลำบากอีก จึงต้องขอให้ทุกคนรับฟังและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลบ้าง

สำหรับสิ่งที่จะต้องมีปัญหาต่อไป คือปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลักดันน้ำเค็มนั้น ถ้าไม่มีน้ำเพียงพอแล้วจะทำอย่างไร เพราะส่งผลให้ดินเค็ม นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยต้องหามาตรการหลายๆ อย่างมาดูแลการเกษตรให้มากที่สุด อาจจะเรียกว่ามากกว่าอย่างอื่นด้วยซ้ำไป แต่ก็ต้องเห็นใจว่าพื้นที่ชลประทานของเราทำได้จำกัด มีปัจจัยหลายอย่าง จึงอยากให้เกษตรกรเข้าใจ หากเกษตรกรไม่ปรับตัวปัญหาก็จะเกิดขึ้นแบบนี้