xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งตั้งคลินิกมลพิษในพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ-อีสาน เฝ้าระวัง 4 กลุ่มเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ในการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 ว่า ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่พื้นที่ภาคเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กขึ้นมาในจังหวัดที่มีปัญหา เพื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่สีเหลือง สีส้ม สีแดง ที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ ยังจะมีการขยายคลินิกมลพิษ จากเดิมที่มีแค่โรงพยาบาลนพรัตน์เท่านั้น ก็ให้ขยายไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละอองเพิ่มเติม

สำหรับกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีอาชีพอยู่กลางแจ้ง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และโรคระบบทางเดินหายใจ ทางกระทรวง ได้มอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือทีมหมอครอบครัว จัดหน่วยออกไปเยี่ยมถึงบ้านเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้อย่างเดียว

ด้านนายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสุขภาพผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคในช่วงที่มีปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงขึ้น โดยเขตสุขภาพที่ 1 ทางภาคเหนือ 8 จังหวัด คือ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน และลำปาง ระหว่างวันที่ 3-9 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยการเฝ้าระวังสุขภาพใน 4 กลุ่มโรค คือ โรคทางเดินหายใจทุกชนิด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบ โรคผิวหนัง พบผู้ป่วยรวม  22,000 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 580 รายต่อแสนประชากร โดยโรคทางเดินหายใจพบมากสุด อัตราป่วย 285 รายต่อแสนประชากร โรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิดอัตราป่วย 246 รายต่อแสนประชากร โรคตาอักเสบอัตราป่วย 24 รายต่อแสนประชากร และโรคผิวหนังอักเสบ 24 รายต่อแสนประชากร ทั้งนี้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีรายงานป่วยในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 6,756 ราย และทางเดินหายใจทุกชนิด 2,766 ราย ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแม้ไม่มีปัญหาฝุ่นละอองก็มีโอกาสที่โรคกำเริบอยู่ดี

ขณะที่แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้นั้น จริงๆ เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมลฑลนั้นก็ต่างกันเพียงแค่สาเหตุของการเกิดฝุ่นเท่านั้น ส่วนผลกระทบทางสุขภาพไม่ได้มีความแตกต่างกัน สำหรับการแยกสีของพื้นที่ที่มีปัญหาจะมีเกณฑ์การเฝ้าระวังอยู่ ซึ่งหากเป็นสีเหลือง ต้องเริ่มเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ส่วนสีส้ม ต้องเฝ้าระวังด้านสุขภาพในประชาชนทุกกลุ่ม และสีแดง เป็นสีที่มีผลต่อสุขภาพทุกกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม สำหรับการดูแลตัวเองที่ดีที่สุด คือ ติดตามสถานการณ์ว่า ค่าฝุ่นมากน้อยแค่ไหน และเราอยู่ในกลุ่มไหน เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวถูก และลดกิจกรรมการสัมผัสฝุ่นน้อยที่สุด ดูแลบ้านให้สะอาด และหากต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากอนามัย แต่ถ้ามีอาการผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์ทันที